สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

หญ้าฝรั่น

(Safron)

หญ้าฝรั่นเป็นชื่อเรียกยอดเกสรเพศเมียแห้งของไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งที่ชื่อ Crocussativus ในวงศ์ Iridaceae จำพวกมีหัวลักษณะละเอียด เป็นฝอยสีเหลืองคล้ายสียา จืดแต่แดงกว่า รสหวานปะแร่ม ๆ เผ็ด ๆ ขม ๆ และหอม ใช้ปรุงอาหาร ทำยา หรือเครื่องหอม ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปเอเซีย โดยเฉพาะบริเวณทางทิศเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณแถบประเทศยุโรปตอนใต้ ตลอดจนบริเวณภาคใต้ของประเทศสเปน ปัจจุบันเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในบริเวณภูมิประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่นิยมบริโภคกันมากในประเทศอิหร่าน

หญ้าฝรั่นเป็นพืชที่มีลำต้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านและใบ ที่เรียวแหลม มีดอกสีม่วง ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ เรียกว่า หญ้าฝรั่น มีขายทั่วไปตามท้องตลาด

สรรพคุณ

ในตำรายาสมุนไพรแผนโบราณ ชื่อ Farmakuya ได้บันทึกเกี่ยวกับหญ้าฝรั่นว่ามีสรรพคุณใช้ทำทิงเจอร์ชื่อว่า Tinctura Opiicrocata นอกจากนี้สารที่สกัดได้จากหญ้าฝรั่นขั้นต้นที่มีตัวยาชื่อ Swedish Bitters ใช้ในการเตรียมยาบำบัดโรคต่าง ๆ

จากผลการตรวจเลือดหนูทดลองโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาพฤกษศาสตร์และเภสัชศาสตร์ในทวีปยุโรป พบว่า หญ้าฝรั่นมีสรรพคุณในการลดระดับไขมันและโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด และเพิ่มระดับออกซิเจนในพลาสม่า ในวิชาแพทศาสตร์สาขาโรคทั่วไป ได้ใช้หญ้าฝรั่นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ผ่อนคลายความเครียดของระบบประสาท นอกจากนี้ยังช่วยเจริญอาหาร เป็นต้น

ในประเทศเยอรมัน ใช้หญ้าฝรั่นเป็นยาคลายกล้ามเนื้อประสาท บรรเทาอาการปวดท้อง ปวดในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการโรคหืดหอบ

วิธีใช้

เนื่องจากหญ้าฝรั่นมีสี กลิ่น และรสชาติดึงดูดผู้บริโภค ตลอดจนสรรพคุณนานัปการ จึงเป็นที่นิยมนำมาแต่งเติมรสชาติและสีสันอาหารชนิดต่าง ๆ ให้ดูน่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้ชาวอิหร่านนิยมนำหญ้าฝรั่นฝอยมาผสมกับน้ำแล้วหุงกับข้าวสวย เพื่อให้ข้าวที่ได้ออกสีเหลือง ใช้โรยหน้าบนข้าวสวยธรรมดา เสิร์ฟร่วมกับไก่กะบาบ หรือเนื้อกะบาบ และ barberry แห้งคั่วน้ำมันเล็กน้อย นอกจากนี้ยังนำหญ้าฝรั่นมาแต่งกลิ่น รส ในขนมหวานต่าง ๆ และไอศกรีม ตลอดจนเป็นยาเพื่อบำบัดโรคนานาชนิด

การเก็บรักษา

เนื่องจากรสชาติ สี กลิ่น ของหญ้าฝรั่น มีคุณสมบัติที่ระเหยง่าย โดยเฉพาะหญ้าฝรั่นฝอย หรือผง ดังนั้นจึงต้องเก็บให้ห่างจากแสงแดดและในสถานที่ที่ปราศจากความชื้น ดังนั้นสถานที่ที่เหมาะสมก็คือ ขวดโหลแก้วที่มีฝาปิดมิดชิด หรือขวดโลหะ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนรสชาติและสรรพคุณของหญ้าฝรั่น ตลอดจนไม่ควรนำหญ้าฝรั่นมาบดเป็นผงละเอียด หากยังไม่ได้ใช้งาน

การลอกเลียนแบบ

เนื่องจากหญ้าฝรั่นที่มีขายตามท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง พ่อค้าคนกลางจึงฉวยโอกาสผลิตสินค้าเลียนแบบ โดยวิธีที่นิยมเลียนแบบมากที่สุดคือ นำดอก Rose – coloured ที่มีลักษณะและคุณสมบัติคล้ายหญ้าฝรั่นมาผสมปนกับหญ้าฝรั่นบดหรือผงโดยเมื่อนำมาละลายน้ำจะเกิดสีเหลืองเหมือนกันกับหญ้าฝรั่น ซึ่งวิธีตรวจสอบมีรายละเอียดดังนี้

  1. นำหญ้าฝรั่นผงปริมาณ 2-3 มิลลิกรัม ผสมกับกรดซัลฟูริกเข้มข้น 2-3 หยดในหลอดทดลองทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยหญ้าฝรั่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเข้มหรือสีแดงค่อนข้างน้ำตาล เป็นสีแดงม่วง
  2. นำหญ้าฝรั่นผงปริมาณ 2-3 มิลลิกรัม มาบดกับกรดซัลฟูริก 1 หยด เพียงเล็กน้อย บนกระจกแก้ว หลังจากนี้จึงนำไปส่องดูด้วยกล้องไมโครสโทป กำลังขยาย 100 จะเห็นผลที่ได้ โดยหญ้าฝรั่นที่บดรวมกับกรดซัลฟูริก เปลี่ยนเป็นสีฟ้า และเกิดรัศมีทรงกลดสีฟ้ารอบ ๆ บริเวณดังกล่าว

ผลข้างเคียง

การใช้และการบริโภคหญ้าฝรั่นเป็นจำนวนมากจะเกิดผลกระทบข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการอาเจียน วิงเวียนศีรษะ เลือดออกภายในมดลูก ถ่ายเป็นเลือด เลือดกำดาวไหล เลือดออกบริเวณเปลือกตาและริมฝีปาก อ่อนเพลีย ผิวเหลือง ตัวสั่น กล้ามเนื้ออ่อนตัว อาจทำให้ถึงตายได้ จากผลค้นคว้าและวิจัยพบว่า ปริมาณการบริโภคหญ้าฝรั่นต่อวัน ไม่ควรเกิน 1.5 กรัม หากพบอาการข้างเคียงดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

ผลการค้นคว้าและวิจัยครั้งล่าสุด

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้ออำนวย และมีผลโดยตรงต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในภูมิภาคต่างกัน จึงให้คุณสมบัติและสรรพคุณต่างกัน อาทิเช่น หญ้าฝรั่นมีสารประกอบทางธรรมชาติที่เป็นพืชชื่อ Safranal ซึ่งเป็นสารประกอบหลักในหญ้าฝรั่น จากผลการค้นคว้าและวิจัยครั้งล่าสุด โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะราน ปรากฏว่า หญ้าฝรั่นที่ปลูกในอิหร่าน มีสารพิษเจือปนดังกล่าวในปริมาณน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหญ้าฝรั่นที่ปลูกในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จากข้อได้เปรียบดังกล่าวที่สามารถใช้ต่อรองราคาซื้อขายกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังเป็นเกณฑ์แบ่งระดับคุณภาพ รวมทั้งมาตรฐานระหว่างหญ้าฝรั่นอิหร่านกับหญ้าฝรั่นที่ผลิตได้ในประเทศอื่น

การส่งออก

จากข้อมูลการส่งออกหญ้าฝรั่นปี 2547 ของอิหร่านพอประมวลได้ดังต่อไปนี้

ระยะครึ่งปีแรกของปีงบประมาณอิหร่าน (มีนาคม – กันยายน) ที่ผ่านมา อิหร่านมีการส่งออกหญ้าฝรั่นไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ปริมาณ 68.2 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นโดยรวมทั้งปริมาณและมูลค่าจากระยะเวลาเดียงกันของปี 2546 ร้อยละ 52.2 โดยในปี 2546 อิหร่านมีการส่งออกปริมาณ 29.5 ตัน คิดเป็นอัตราร้อยละ 29.8

จากข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหมวดพืชสมุนไพร โดยกรมภาษีศุลกากรอิหร่าน พบว่า ช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีงบประมาณอิหร่าน (มีนาคม – กันยายน 2547) อิหร่านมีการส่งออกปริมาณ 15,271 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50,885,359 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 32 ขณะที่มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 18.7 จากข้อมูลเบื้องต้น สังเกตได้ว่า สินค้าภายในหมวดดังกล่าวที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชะเอม โดยปรากฏในช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณอิหร่านนี้

 

  • เมื่อเดือนกันยายน ปี 2547 มีปริมาณการส่งออก 305 ตัน เป็นมูลค่า 201,077 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า จากช่วงระยะเดียวกันของปี 2546 เป็นอัตราร้อยละ 27.7 และ ร้อยละ 95.5 ตามลำดับ

นอกจากนี้ภาวการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหมวดพืชสมุนไพรเพื่อการ อุตสาหกรรมและเภสัชกรรมที่สำคัญของอิหร่านในครั้งแรกของปี 2547 มีดังนี้ การส่งออกยาสูบและ tobacco ปริมาณ 4,396 ตัน มูลค่า 2,518,288 เหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 49.9 และ 68.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2546 เฉพาะการส่งออกสำลีมีอัตราการขยายตัวลดลงจากปริมาณการส่งออกในครึ่งแรกของปีปัจจุบัน 128 ตัน มูลค่า 164,255 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 96.8 คิดเป็นมูลค่าลดลงร้อยละ 96 ในขณะที่การส่งออก Gum ปริมาณ 725 ตัน มูลค่า 1,658,547 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวการส่งออกปีปัจจุบันกับปี 2546 ใช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 36.6 แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มลดลง แต่มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5

อิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตหญ้าฝรั่นรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคบางประการส่งผลให้ประเทศสเปนเป็นประเทศที่ครองความเป็นประเทศผู้ผลิตหญ้าฝรั่นได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ในขณะนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นการผลิตหญ้าฝรั่นทั่วโลกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ การผลิตหญ้าฝรั่นทั่วโลกมีปริมาณ 210 ตัน โดยอิหร่านมีส่วนแบ่งการผลิตมากกว่า 170 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 81 ของการผลิตหญ้าฝรั่นทั่วโลก ขณะที่ประเทศสเปนมีส่วนแบ่งการผลิต 25 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด แต่นับได้ว่าอิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตหญ้าฝรั่นได้มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ที่เหลือเป็นหญ้าฝรั่นที่ผลิตได้ในประเทศต่าง ๆ

อิหร่านมีการเพาะปลูกหญ้าฝรั่นมาตั้งแต่ดั้งเดิม สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนคริสต์ศักราช เติบโตได้ดีในสภาพภูมิประเทศค่อนข้างแห้งแล้ง ฝนตกน้อย มีภูมิอากาศที่หนาวจัดหรือร้อนจัด นิยมปลูกมากในประเทศกรีซและอิตาลี โดยอิหร่านมีพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งหมดร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก แหล่งผลิตหญ้าฝรั่นในอิหร่าน ร้อยละ 90 อยู่ในแถบภาคใต้ของจังหวัดคูราซาน (KURAZAN) โดยเฉพาะอำเภอที่ปลูกหญ้าฝรั่นกันมากที่สุด คือ อำเภอกูนาบาด (GUNABAD) อำเภอ (Qaean) อำเภอฟิรดุส (FERDOS) และอำเภอตุรบัตติ ฮัยดะรีเยะห์ (Turabatti Haidariye) นอกจากนี้ในส่วนของจังหวัดฟารซ์ (FARS) อิสฟาฮาน (ISFAHAN) เคอร์มาน (KERMAN) ยัซด์ (YAZD) มาคาซี (MAKAZI) ซิมนาน (SIMNAN)

อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบพื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นทั่วโลกกับพื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นภายในประเทศอิหร่านแล้ว คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด

อนึ่ง ประเทศอิหร่านมีพื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นประมาณ 50,000 เฮกตาร์ ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ 500,000 ราย แม้ว่าการส่งออกหญ้าฝรั่นอิหร่านไปยังตลาดโลกจะอยู่ในเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 80 แต่เนื่องจากอุปสรรคและปัญหาบางประการทำให้ประเทศสเปนก้าวสู่ความเป็นประเทศผู้ส่งออกหญ้าฝรั่นรายใหญ่แทน โดยที่ประเทศสเปนรับซื้อหญ้าฝรั่นจากอิหร่านในรูปของสินค้าที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นทางประเทศสเปนเองจะนำสินค้าที่รับซื้อดังกล่าวมาบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์เอง และส่งขายยังตลาดโลกในระดับราคาที่สูง

จากการสำรวจตลาดส่งออกหญ้าฝรั่น พบว่า อุปสรรคสำคัญที่เป็นตัวขวางกั้นการขยายตัวของการส่งออกหญ้าฝรั่นอิหร่าน ได้แก่ การเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยอาศัยการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิม รวมทั้งเกษตรกรขาดความรู้ การขาดการเอาใจใส่พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สำคัญการบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์สินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค

จากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรอิหร่านในช่วงเวลา 7 เดือนของปีงบประมาณอิหร่าน (มีนาคม – ตุลาคม) ปีที่ผ่านมา ของกรมศุลการกรอิหร่าน พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรหมวดพืชสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรมและเภสัชกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามากกว่า 60 ล้านเหรีญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 31.4 แต่ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 โดยเป็นการส่งออกหญ้าฝรั่นมูลค่า 43,773,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2546 คิดเป็นปริมาณการส่งออก และมูลค่าการส่งออกหญ้าฝรั่นเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 29 และร้อยละ 60 ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกหญ้าฝรั่นมีปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าเกษตรหมวดสินค้าสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรมและเภสัชกรรมประเภทอื่น ๆ

สำหรับการส่งออกยาสูบ Tobacco ในช่วงเวลาดังกล่าว มีปริมาณ 5,812 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,919,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 และ 13.5 ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกชะเอมอิหร่านมีปริมาณ 378 ตัน เป็นมูลค่า 228,930 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ร้อยละ 36 และร้อยละ 94 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2546

อนึ่ง ประเทศสเปนซึ่งรับซื้อหญ้าฝรั่นจากอิหร่านราคากิโลกรัมละ 270 ยูโร ซึ่งภายหลังจากการบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์ส่งออกขายให้กับตลาดโลกราคากิโลกรัมละ 1,200 ยูโร

นายอาลี ชะรีอะตี (Mr. Ali Shariati) ผู้ช่วยผู้จัดการสมาคมส่งออกหญ้าฝรั่นอิหร่าน เปิดเผยว่า ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรหันมานิยมปลูกหญ้าฝรั่นกันมากขึ้น เป็นผลให้การผลิตหญ้าฝรั่นอิหร่านเป็นไปในทิศทางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาหญ้าฝรั่นอยู่ในระดับต่ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การลงทุนเพาะปลูกหญ้าฝรั่นในประเทศสเปนจึงไม่ได้รับผลคุ้มค่าเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนด้านการผลิตที่มีราคาสูง นอกจากนี้ราคาหญ้าฝรั่นอิหร่านอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเทศสเปนจะลงทุนผลิตเอง ผนวกกับการที่ประเทศสเปนเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการส่งออกหญ้าฝรั่นในตลาดโลกมาช้านาน เป็นผลให้ประเทศสเปนรับซื้อหญ้าฝรั่นจากประเทศอิหร่าน แล้วนำมาบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งประทับตราเครื่องหมายการค้าประเทศสเปน และส่งออกขายยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่หญ้าฝรั่นที่ยังไม่ผ่านการบรรจุรูปร่างผลิตภัณฑ์ราคากิโลกรัมละ 400 – 500 เหรียญสหรัฐฯ

ข้อมูล :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
มิถุนายน 2548

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย