ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>
สุนทรียภาพแห่งชีวิต ความงดงามทางวรรณศิลป์
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
ท่ามกลางกระแส ทุนนิยม ในโลกปัจจุบัน
ที่คนในสังคมให้ค่ากับวัตถุมากกว่าให้ความสำคัญกับคุณค่าทางด้านสุนทรียที่ปรากฏในรูปของงานศิลปะแขนงต่าง
ๆ รวมทั้งงานทางด้านวรรณคดีหรือวรรณกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและมีความรักในงานทางด้านวรรณคดีและวรรณกรรมไทย
จึงได้บรรจงถ่ายทอดความรู้ทางวรรณคดีโดยใช้กระบวนการการวิเคราะห์ การวิจารณ์
การสังเคราะห์รวมทั้งบูรณาการการศึกษาวรรณคดีกับการศึกษาศิลปะและ
ศาสตร์แขนงอื่น ๆ ในลักษณะ ศิลปะส่องทางให้แก่กัน
กลั่นกรองออกมาเป็นบทความวิชาการจำนวน 8 บท
เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้เสพได้ตระหนักถึงคุณค่าและความงดงามทางด้านสุนทรียรสของวรรณดคีในแง่มุม
ต่าง ๆ ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือเชิงวิชาการชื่อ สุนทรียภาพแห่งชีวิต
บทความวิชาการทั้ง 8 บทที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากการบรรยายในที่ประชุมทางวิชาการ
ซึ่งจัดโดยราชบัณฑิตยสถานและและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง
เนื้อหาของบทความล้วนแสดงให้เห็นพลังทางสุนทรียของวรรณคดีที่คนรุ่นก่อนรังสรรค์ไว้เป็นมรดกล้ำค่าเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิเคราะห์และได้เสพรับความงาม
ความละเอียดอ่อนของงานวรรณศิลป์
เนื้อหาของบทความที่ว่าด้วยเรื่อง
สุนทรียภาพแห่งชีวิต:คุณค่าทางวิจิตรศิลป์
กล่าวถึงกวีนิพนธ์หรือวรรณคดีบริสุทธิ์ที่จัดว่าเป็นวิจิตรศิลป์แขนงหนึ่ง
กวีนิพนธ์หรือวรรณคดีเกิดจากการที่กวีสร้างสรรค์ความงดงามขึ้นด้วยตัวอักษร
ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าสุนทรียภาพในงานวรรณคดีเกิดขึ้นเนื่องจากกวีมีความรอบรู้ในอัตลักษณ์และอัจริยภาพของภาษา
สามารถเลือกสรรถ้อยคำมาปรุงแต่งให้งานศิลปะที่ใช้ภาษาเป็นสื่อมีความงดงาม
นอกจากนี้การเลือกเทคนิคการใช้คำซ้ำ การใช้โวหารภาพพจน์
การเลือกใช้เสียงและความหมายของคำ
หรือการเลือกใช้ฉันทลักษณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดลีลาจังหวะในการอ่านล้วนแล้วแต่สร้างความไพเราะและทำให้เนื้องานมีความหมายที่ลึกซึ้งสะเทือนอารมณ์
จึงจะทำให้ผู้เสพมองเห็นภาพ ได้ยินเสียง
กระตุ้นให้เกิดจินตนาการสามารถยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น
และผู้เสพจะได้รับอรรถรสและสุนทรียรสจากการอ่านวรรณดคีเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่
บทความเรื่อง สุนทรียรสในบทกวี
ผู้เขียนได้วิเคราะห์สุนทรียรสในบทกวีอันเกิดจากเสียงและความหมายรวมทั้งลีลาจังหวะของฉันทลักษณ์
การที่กวีเลือกใช้ฉันทลักษณ์แต่ละประเภทที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น โคลง
กลอนหรือร่าย ก็จะสามารถสะท้อนความรู้สึกที่หลากหลายแตกต่างกันไปด้วย
สำหรับสุนทรียรสทางด้านความหมายเกิดจากการเลือกสรรถ้อยคำหรือภาษาที่ให้ความหมายหลายมิติที่สามารถสื่อให้เห็นภาพ
แสง สี เสียงและภาพที่แสดงความเคลื่อนไหวได้
วรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ
เป็นวรรณคดีอมตะที่อยู่ในใจของผู้รักวรรณคดีมาช้านาน
เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับยกย่องว่ามีความไพเราะและเป็นสุดยอดของวรรณคดีประเภทลิลิต
บทความเรื่อง ความรักและความตายในลิลิตพระลอ
ทำให้ผู้อ่านได้เสพสุนทรียรสในเรื่องและความรักและความตายของตัวละครเอกได้อย่างสะเทือนอารมณ์
ไม่ว่าจะเป็นบทคร่ำครวญของพระนางบุญเหลือที่แสดงถึงความรักความผูกพันที่มีต่อพระลอ
ซึ่งเป็นพลังความรักที่บริสุทธิ์ที่แม่พึงมีต่อลูก
ความรักของพระลอและพระเพื่อนพระแพง
ซึ่งเป็นความรักที่ตกอยู่ในบ่วงที่ร้อยรัดไว้ด้วยความหลงใหลและกิเลสตัณหา
รวมถึงการจบเรื่องแบบโศกนาฏกรรมของตัวละครเอก
ล้วนเป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจซึ่งติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านมาตราบนานเท่านาน
บทความเรื่อง วรรณคดีไทยที่ครูไทยควรซาบซึ้ง
ความซาบซึ้งที่เกิดขึ้นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ถึงแม้ความซาบซึ้งจะเป็นเรื่องของการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
แต่ความซาบซึ้งในวรรณคดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้อ่านทำความเข้าในในวรรณคดีอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้
ด้วยกระบวนการวิจักษ์และวิจารณ์ ในบทความเรื่องนี้
ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นว่าวรรณคดีที่จะสร้างความซาบซึ้งให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านต้องมีคุณลักษณะต่าง
ๆ เช่น
กวีต้องมีศิลปะการเลือกสรรถ้อยคำอย่างประณีตบรรจงเพื่อสร้างความไพเราะให้กับบทประพันธ์
เนื้อหาต้องมีหลากรสหลายอารมณ์ นอกจากนี้กวีต้องแสดงทัศนะที่มีต่อโลกและชีวิต
และทำให้ผู้อ่านเข้าใจโลกและชีวิตรวมถึง
เข้าใจความซับซ้อนในเรื่องธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ได้อีกด้วย
และการที่จะสร้างความซาบซึ้งให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านวรรณคดีต่างเพศหลายวัยก็มีวิธีการต่าง
ๆ กัน ซึ่ง ดร.รื่นฤทัยก็ได้แจกแจงไว้อย่างละเอียด
นอกจากผู้อ่านจะได้เสพสุนทรียรสในงานวรรณคดีหลาย ๆ เรื่องแล้ว
ข่าวคราวที่ก่อให้เกิดความสับสนในวรรณคดีเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์
ซึ่งนักเรียนนักศึกษารู้จักกันดีเพราะเป็นหนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
หลายบทหลายตอนเป็นที่จดจำและคุ้นเคย เพราะเป็นบทที่ได้รับการคัดเลือกให้ท่องจำ
ก็มีปรากฏในบทความเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์
เกือบจะเป็นสามัคคีเภทในวงวรรณกรรม ในบทความเรื่องนี้ ดร.รื่นฤทัย
ได้กล่าวเท้าความอย่างละเอียดเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ทั้ง 2
ฉบับ คือฉบับของกรมศิลปากรซึ่งเป็นสำนวนต้นแบบ
และฉบับของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้เป็นแบบเรียน
รวมถึงมูลเหตุที่วรรณคดีเรื่องนี้ตกเป็นข่าว
นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบสำนวนและเนื้อหาของทั้งสองฉบับที่แตกต่างกัน
โดยมีการยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน
ในบทความเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับศิลปะ
ตอกย้ำความคิดในเรื่อง ศิลปะส่องทางให้แก่กัน ได้ชัดเจนและหนักแน่นขึ้น
ดร.รื่นฤทัย ได้วิเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม
สังคีตศิลป์และศิลปะการแสดง
และสรุปว่าการนำเนื้อหาของวรรณคดีไปสร้างงานศิลปะแขนงอื่น ๆ
กระทำในสามลักษณะคือ การสร้างซ้ำ (repetition) โดยใช้สื่อศิลปะร่วมสมัยได้แก่
ภาพยนตร์ เช่นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องสุดสาคร และสร้างเป็นละครร็อคโอเปร่า เรื่อง
อิเหนา จรกา เป็นต้น นอกจากนี้มีการนำไปสร้างใหม่ในลักษณะการตีความใหม่
(re-interpretation) เช่นนำเรื่องพระอภัยมณี ไปสร้างเป็นละครเวทีเรื่อง
นางอภัยมณี และ ลุยไฟ ตีความใหม่ในแนวคิดสตรีนิยม และการสร้างใหม่
(re-creation) โดยการนำตัวละครและเรื่องราวในวรรณคดีไปสร้างใหม่
โดยเพิ่มจินตนาการในด้านเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ จนแทบหาเค้าเดิมไม่พบ เช่น
วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ครุฑน้อย นำครุฑซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีเรื่องกากี
ไปผูกเรื่องใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม
การสร้างสุนทรียภาพและการเสพสุนทรียรสย่อมต้องอาศัยพื้นฐานจากการอ่าน
บทความเรื่อง การสร้างนิสัยรักการอ่าน
เป็นบทความเรื่องสุดท้ายที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
ผู้เขียนชี้ให้เห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนให้มีนิสัยรักการอ่าน
ซึ่งควรจะเริ่มต้นจากตนเองและอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากสถาบันครอบครัว
โรงเรียนรวมทั้งชุมชนและสังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการอ่านให้เข้มข้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
หนังสือสุนทรียภาพแห่งชีวิตแม้มิใช่ตำราทางวรรณคดีโดยตรง
แต่เนื้อหาสาระอันเกิดจากการทุ่มเทความรักความสนใจใฝ่รู้ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อประกาศคุณค่าทางวรรณศิลป์
ในฐานะงานศิลปะที่ทำให้มนุษย์ได้เสพความงาม
ความประณีตและความละเอียดอ่อนของชีวิต ของ
รองศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ มาสู่ผู้สนใจด้านวรรณคดีศึกษา
ด้วยภาษาที่สละสลวย ทุกเรื่องราวสามารถยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายได้กระจ่างชัด
ทำให้หนังสือ สุนทรียภาพแห่งชีวิต
เป็นหนังสือที่มีคุณค่าในวงวรรณคดีอีกเล่มหนึ่ง
ข้อมูล : นิตยสารขวัญเรือน คอลัมน์ดวงใจวิจารณ์ ปีที่ 28 ฉบับที่
830 ปักษ์หลัง มิถุนายน 2539