ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์>>

การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์

ความหมายของประวัติศาสตร์
องค์ประกอบของคำว่า “ประวัติศาสตร์”
ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์
การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์
การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ทางประวัติศาสตร์

ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์

โดยปกติมักจะมีการแบ่งประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • หลักฐานชั้นต้น(Primary sources) อันได้แก่หลักฐานที่บันทึกไว้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง
  • หลักฐานรอง(Secondary sources) ซึ่งได้แก่บันทึกของผู้ที่ได้รับทราบเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของบุคคลอื่นมาอีกต่อหนึ่ง

หนังสือประวัติศาสตร์ที่มีผู้เขียนขึ้นภายหลัง โดยอาศัยการศึกษาจากหลักฐานชั้นต้น ก็ยังถือว่าเป็นหลักฐานรองอยู่นั่นเอง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวไว้ว่าการแบ่งประเภทของหลักฐานเป็นชั้นต้นและชั้นรอง มีประโยชน์ในการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน หลักฐานชั้นต้นมักได้รับน้ำหนักความน่าเชื่อถือจากนักประวัติศาสตร์มาก เพราะได้มาจากผู้รู้เห็นใกล้ชิดกับข้อเท็จจริง ในขณะที่หลักฐานรองได้รับน้ำหนักความน่าเชื่อถือน้อยลง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรถือในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดมากนัก เพราะหลักฐานชั้นต้นก็อาจให้ข้อเท็จจริงผิดพลาดได้ เช่นผู้บันทึกไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในเหตุการณ์ที่ตนบันทึก หรืออาจจะตั้งใจปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อประโยชน์ของตนหรือคนที่ตนรักเคารพ เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม เอกสารชั้นรองที่บันทึกไว้โดยผู้ไม่มีส่วนได้เสีย แม้ว่าห่างไกลจากเหตุการณ์ แต่ก็สอบสวนข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจให้ความจริงที่ถูกต้องกว่าก็ได้

 

หลักฐานในทางประวัติศาสตร์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอกสารที่เป็นตัวเล่ม หรือเป็นก้อนศิลาที่เราจับต้องได้ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในที่นี้คือข้อความที่บรรจุอยู่ในเอกสาร หรือข้อความที่ปรากฏอยู่บนก้อนศิลานั้นต่างหากที่ถือว่าเป็นหลักฐาน เพราะข้อความดังกล่าวสามารถบอกเล่าให้เราทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ข้อความที่บรรจุอยู่ในหลักฐานทั้งชั้นต้นและชั้นรองนั้น เราเรียกกันว่า “ ข้อสนเทศ ” ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าข้อสนเทศนี้คือตัวหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั่นเอง

ถ้าเช่นนั้น “ข้อสนเทศ” คืออะไร ?

“ข้อสนเทศ” คือ สิ่งบรรจุอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ข้อความที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวของศิลาจารึก ข้อความที่ปรากฏอยู่บนใบลาน กระดาษ ผืนผ้า ฝาผนังสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนถึงจิตรกรรมที่ปรากฏบนพื้นผิวต่างๆ ลักษณะรูปทรงของเจดีย์ วิหาร อุโบสถและสิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือลักษณะพุทธลักษณะของพระพุทธรูป หรือแม้แต่ลักษณะถ้วย ชาม หม้อ ไห ฯลฯ ที่สามารถจำแนกได้ว่าอยู่ในสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ล้านนา สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย