ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์>>

การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์

ความหมายของประวัติศาสตร์
องค์ประกอบของคำว่า “ประวัติศาสตร์”
ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์
การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์
การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ทางประวัติศาสตร์

องค์ประกอบของคำว่า “ ประวัติศาสตร์ ”

1. เป็นเรื่องราวในอดีตของสังคมมนุษย์

คือเป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและส่งผลตกกระทบต่อคนจำนวนมากในสังคมนั้นจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ตัวอย่างเช่น อาณาจักรล้านนาในยุคสมัยของพญามังราย จนกระทั่งถึงช่วงสมัยของพญากือนา ต่างนับถือพุทธศาสนาที่สืบทอดมาจากเมืองหริภุญไชยซึ่งมีมาแต่ครั้งสมัยพระนางจามเทวี ต่อมาพญากือนามีความประสงค์จะให้พระภิกษุอรัญญาวาสีมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ จึงได้ทรงอาราธนาพระสุมนเถรจากสุโขทัย ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืนในเมืองหริภุญไชย พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระสงฆ์นิกายเดิม ซึ่งนับถือสืบเนื่องมาแต่สมัยพระนางจามเทวีให้บวชใหม่ถึง 8,400 รูป ต่อมาใน พ.ศ. 1914 พญากือนาทรงสร้างวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอกในอุทยานป่าไม้พยอม ซึ่งเป็นเขตอุทยานของพระองค์ในเขตเวียงเชียงใหม่ให้เป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถร พร้อมกับได้สร้างเวียงสวนดอกให้เป็นเวียงพระธาตุเมื่อประมาณ พ.ศ. 1916

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา อันมีผลกระทบต่อผู้คนในสมัยต่อมาเป็นอย่างมาก นั่นคือจากการนับถือพุทธศาสนานิกายพื้นเมืองซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยของพระนางจามเทวี มาเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทนิกายลังกาวงศ์ ที่เคร่งครัดในวัตรปฎิบัติเนื่องจากเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี

2. เกี่ยวข้องกับมนุษย์จำนวนมาก

จากตัวอย่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาพุทธของอาณาจักรล้านนาที่ได้ยกเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ศาสนา ฯลฯ ของอาณาล้านนาในสมัยของพญากือนาอย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ผู้คนในเมืองเชียงใหม่หันมาให้ความสนใจ และบวชเรียนในนิกายเถรวาทลังกาวงศ์เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ ที่สำคัญได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์โดยตรง

 

3. มีมิติเวลา

ในทางประวัติศาสตร์มิติเวลาไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยการกำหนดในรูปของปีศักราชของการเกิดเหตุการณ์ หรือศักราชที่เริ่มต้นและต่อเนื่องไปจนถึงศักราชที่สิ้นสุดเหตุการณ์ แต่มิติเวลาในทางประวัติศาสตร์นั้นหมายถึงการศึกษาสังคมมนุษย์ที่ตั้งอยู่และพัฒนาไปท่ามกลาง “ เวลา ” หรือท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมต่างๆของสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ

4. ประวัติศาสตร์คือการอธิบาย

การเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาของสังคมมนุษย์ไม่ใช่หัวใจของการศึกษาความรู้ในทางประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาประวัติศาสตร์ คือ การพยายามทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตว่า เพราะเหตุใดถึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีบ่อเกิดมาจากสิ่งใด และได้มีพัฒนาการคลี่คลายไปอย่างไรในภายหลัง การตั้งคำถามว่าเหตุใด ทำไม อย่างไร จะคอยกระตุ้นให้ผู้ศึกษาพยายามเสาะหาสาเหตุหรือปัจจัยต่างๆ มาตอบคำถามข้างต้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล

5. ประวัติศาสตร์ต้องใช้หลักฐานชั้นต้น

หลักฐานชั้นต้นหรือ Primary sources ได้แก่ หลักฐานที่บันทึกไว้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือรู้เห็นเหตุการด้วยตนเอง หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้นๆซึ่งผ่านมาในอดีต เป็นหลักฐานที่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รู้เห็นเหตุการณ์นั้นๆได้สร้างขึ้นไว้ ด้วยการบันทึกให้อยู่ในรูปของหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย