ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์>>
ความหมายของประวัติศาสตร์
องค์ประกอบของคำว่า ประวัติศาสตร์
ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์
การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์
การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ทางประวัติศาสตร์
ความหมายของประวัติศาสตร์
คำว่า ประวัติศาสตร์
เป็นศัพท์บัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6
ได้ทรงริเริ่มใช้ในความหมายของคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า History
อันมีรากศัพท์เดิมมาจากภาษากรีกว่า Histor มีความหมายเดิมแปลว่า ถัก หรือ
ทอ ส่วนคำว่า Histor
นี้ได้บัญญัติใช้เป็นครั้งแรกโดยนักปราชญ์ชาวกรีกผู้มีนามว่า เฮโรโดตุส
ด้วยการใช้คำว่า Historiai เรียกเรื่องราวที่เขาสืบสวนค้นคว้ารวบรวมขึ้นมา
ดังนั้นจึงทำให้เฮโรโดตุสได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์
สำหรับการจำกัดความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์
ได้มีผู้ให้ความหมายและคำจำกัดความอย่างมากมายทั้งนักปราชญ์ในซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก
ซึ่งได้ยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
- ลีโอ ตอลสตอย กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ คือ
เรื่องราวของชีวิตของประเทศชาติและมนุษย์
ซึ่งมองโดยตรงและสรุปรวมเป็นคำพูดได้ว่า
การบรรยายชีวิตของผู้คนเพียงกลุ่มเดียวโดยมิได้รวมถึงมนุษย์ชาตินั้น
ดูจะเป็นไปไม่ได้
- โรเบิร์ต วี. แดเนียลส์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ คือ
ความทรงจำว่าด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งถ้าถูกลืมหรือละลาย
ก็เท่ากับว่าเราได้ยุติแนวทางอันบงชี้ว่าเรา คือ มนุษย์
หากไม่มีประวัติศาสตร์เสียแล้ว เราจะไม่รู้ว่าเราคือใคร เป็นมาอย่างไร
เหมือนคนเคราะห์ร้ายตกอยู่ในภาวะมึนงง
เสาะหาเอกลักษณ์ของเราอยู่ท่ามกลางความมืด
- สำหรับนักวิชาการในประเทศไทย ต่างได้ให้คำจำกัดความสำหรับความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์ไว้เช่นเดียวกันกับนักปราชญ์ชาวตะวันตก ดังเช่น ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ศ.อาคม พัฒิยะ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่ออธิบายอดีตของสังคมมนุษย์ในมิติของเวลา หรือประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่อเข้าใจอดีตของสังคมมนุษย์ในมิติของเวลา
จากการให้คำจำกัดความและการให้ความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์ของนักวิชาการทั้งหลายข้างต้น ทำให้สามารถประมวลและสรุปความหมายของประวัติศาสตร์ได้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษา การสืบเสาะ การค้นพบ ในส่วนของเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ ในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ โดยเป็นเรื่องราวของคนในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ซึ่งเรื่องราวต่างๆนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือมีมิติเวลา มีการศึกษาด้วยวิธีการอธิบาย เพื่อหาเหตุผลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น โดยใช้หลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยหรือช่วงเวลานั้นๆประกอบในการศึกษา