สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพุทธศาสนากับการทำแท้ง
ความหมายของการทำแท้ง
การทำแท้งและกฎหมาย
สิทธิของแม่ : วิธีการของนักสตรีศึกษา
ข้อเท็จจริงทางศีลธรรมของการทำแท้ง
ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศีลธรรมในการทำแท้ง
ความเป็นคนเริ่มต้นเมื่อใดตามทัศนะของพุทธศาสนา
การทำแท้งคือการฆ่ามนุษย์ตามทัศนะพุทธศาสนา
เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมการทำแท้ง
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง
ความหมายของการทำแท้ง
คำว่า แท้ง การทำแท้ง ทำให้แท้งลูก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Abortion แปลว่า แท้งลูก
รีดลูก เกิดก่อนกำหนด ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
ได้ให้ความหมายของคำว่า แท้ง ไว้ว่า หมายถึง สิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด
คลอดลูกโดยที่ทารกในครรภ์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรือทารกในครรภ์ตาย
ในทรรศนะพระพุทธศาสนามิได้ใช้คำว่าการทำแท้งแต่ใช้คำว่า
ทำครรภ์ให้ตกไป โดยมีพุทธพจน์ว่า
ภิกษุใดจงใจพรากชีวิตมนุษย์แม้แต่เพียงทำครรภ์ให้ตกไปย่อมไม่เป็นสมณะไม่ใช่ศากยบุตร
(วินย.4/144/195)
สาเหตุของการทำแท้ง
สาเหตุของการทำแท้งแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ดังนี้
- แรงบีบคั้นจากสภาพของการดำรงชีวิต เช่น สภาพทางเศรษฐกิจหรือความอดอยาก แร้นแค้น การคุมกำเนิดผิดพลาด เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา (ในกรณีตั้งครรภ์ในวัยเรียน) เป็นต้น
- แรงบีบคั้นจากสภาพทางด้านจิตวิทยา เกิดจากค่านิยมเกี่ยวกับจริยธรรมระหว่างเพศ ส่วนมากเกิดจากการตั้งครรภ์ที่สังคมไม่ยอมรับ
- เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาที่จะมีต่อเด็กที่คลอดออกมา เช่น เด็กอาจพิการ ติดโรคร้าย เป็นต้น
การแท้งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- แท้งเอง (Spontaneous abortion) หมายถึง การแท้งที่เกิดจากเหตุต่างๆ
ที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำโดยตั้งใจจะให้เกิดการแท้งซึ่งเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
- การแท้งที่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของไข่หรือตัวอ่อน พวกนี้มักเป็นการแท้งในครรภ์เดือนแรกๆ หรือไม่เกิน 12 สัปดาห์
- การแท้งในรายที่เด็กยังมีชีวิตและไม่มีความผิดปกติ แต่แท้งเพราะความไม่สมบูรณ์ของมดลูกหรือสภาพแวดล้อม เช่น ปากมดลูกปิดไม่ได้ (Incompetent cerix) หรือมารดามีไข้สูง ฯลฯ - การทำแท้ง (Induced abortion) เป็นการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ที่กระทำขึ้น
ถ้ามองในแง่ของ กฎหมาย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การทำแท้งโดยถูกต้องกฎหมาย (Legal abortion) หรือการทำแท้งเพื่อรักษา (Therapeutic abortion) ซึ่งหมายถึงการทำแท้งในกรณีที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยแพทย์ ประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 305 ระบุเอาไว้ว่า การทำแท้งไม่ถือว่าเป็นความผิดเมื่อประกอบด้วยองค์ 3 ประการต่อไปนี้ครบถ้วนคือ สตรีที่ตั้งครรภ์นั้นยินยอม การทำแท้งนั้นกระทำโดยแพทย์ และมีความจำเป็นต้องทำ เช่น เหตุผลด้านสุขภาพของสตรี สตรีตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนหรือเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปีตั้งครรภ์เพราะถูกชำเราแม้จะโดยความสมัครใจของเด็กนั้นก็ตาม และสตรีนั้นตั้งครรภ์เพราะถูกล่อล่วงหรือบังคับให้ค่าประเวณีหรือเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีตั้งครรภ์เพราะถูกชักนำให้ค้าประเวณี แม้ว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม
- การทำแท้งโดยผิดกฎหมาย (Illegal abortion) คือการทำแท้งโดยไม่มีกฎหมายอนุญาตหรือเป็นการทำแท้งที่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่ประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ ผู้ประกอบการทำแท้งส่วนมากไม่ใช่แพทย์และมีวิธีการทำที่ไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดอันตรายแก่หญิงที่ไปรับบริการมากจนอาจเสียชีวิต เช่น บีบนวด ใช้ยาขับเลือดใช้วิธีฉีดของเหลวบางอย่างเข้ามดลูกผ่านทางสายยาง ฯลฯ
สุชาดา รัชชูกูล (2541: 91-2) ได้รวบรวมวิธีการทำแท้งหรือวิธีการทำให้แท้งลูกในรูปแบบต่างๆ ไว้ 7 วิธี ดังนี้
- การกินยาหรือฉีดยาขับเลือด เป็นการใช้ยาเข้าไปกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวเพื่อขับเอาตัวอ่อนออกมา
- วิธีบีบหรือเค้นมดลูก เป็นการใช้แรงกดจากภายนอกกระทำต่อตัวมดลูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบีบตัว ขับเอาทารกในโพรงมดลูกออกมา
- การฉีดสารหรือวัตถุเข้าไปในโพรงมดลูก โดยใส่สายยางที่ใช้สวนปัสสาวะสอดเข้าไปในโพรงมดลูก โดยผ่านทางช่องคลอด เพื่อกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิด เป็นการขับเด็กออกมา หรืออาจใส่สายยางแล้วเติมน้ำยาเข้าไป ซึ่งเป็นน้ำยาที่มีฤทธิ์แรงหรือมีความเข้มข้นสูง
- การใช้ฮอร์โมนฉีดเข้าโพรงมดลูกหรือเหน็บช่องคลอด
- การขูดมดลูก วิธีการจะใช้เครื่องมือขยายปากมดลูกให้เปิดกว้างแล้วใส่เครื่องมือเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วค่อยๆ ขูดเอาเนื้อเยื่อต่างๆ ออกมาจนหมด
- การใช้เครื่องดูด นิยมเรียกว่า การปรับประจำเดือน เครื่องมือจะมีลักษณะคล้ายกระบอกเข็มฉีดยาขนาดใหญ่ มีตัวปรับความดันและหัวต่อสำหรับสอดเข้าไปในโพรงมดลูกเพือ่ดูดเอาตัวอ่อนออกมา
- การฉีดน้ำเกลือเข้มข้นเข้าโพรงมดลูก โดยผ่านทางหน้าท้อง กรรมวิธีเริ่มจากการฉีดยาชาเข้าผิวหนังบริเวณหน้าท้อง แล้วใช้เข็มเจาะผ่านทะลุเข้าไปในมดลูกดูดเอาน้ำคร่ำออกมาจำนวนหนึ่ง แล้วฉีดน้ำเกลือเข้มข้นจำนวนเท่ากันเข้าไปแทน