สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

โรคไข้ริฟต์วาลเลย์

(Rift Valley fever, RVF)

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค พฤษภาคม 2553

       โรคไข้ริฟต์ วาลเลย์ (Rift Valley fever, RVF) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งโรคสามารถก่อให้เกิดโรคและอาจเกิดอาการรุนแรงทั้งในสัตว์และคน โดยการระบาดของโรคก่อให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากการตายและการแท้งในสัตว์ที่มีการติดเชื้อไวรัสริฟต์วาลเลย์

เชื้อสาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสริฟต์ วาลเลย์ (Rift Valley Fever virus) อยู่ในกลุ่ม (genus) Phlebovirus ซึ่งเป็นสมาชิกของวงศ์ (family) Bunyaviridae แยกเชื้อได้ครั้งแรกในที่หุบเขาริฟต์ วาลเลย์ ในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา หลังจากนั้นก็พบการรายงานการระบาดของโรคใน sub - Saharan และแอฟริกาเหนือ ระหว่าง ค.ศ.1997-1998 เกิดการระบาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเคนยา และในเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 พบในประเทศโซมาเลีย และแทนซาเนีย และมีรายงานการพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศซาอุดีอาระเบีย และเยเมน ซึ่งเป็นการพบการรายงานการเกิดโรคนอกทวีปแอฟริกา และเพิ่มความกังวลว่าอาจขยายถึงส่วนอื่นๆ ในทวีปเอเชียและยุโรป

การติดเชื้อในคน

ส่วนใหญ่การติดเชื้อในคน เกิดจากการติดต่อโดยตรงหรือทางอ้อม จากการสัมผัสเลือดหรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสสามารถแพร่สู่คนได้ในระหว่างการฆ่าหรือการชำแหละสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัส การทำคลอด การดูแลหรือให้การรักษาสัตว์ หรือการทำลายซากสัตว์ กลุ่มเกษตรกร คนงานโรงฆ่าสัตว์ และสัตวแพทย์จึงมีความเสี่ยงสูงของการติดเชื้อ โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านทางแผล หรือการสูดดมละอองฝอยในระหว่างการฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งการแพร่เชื้อผ่านทางการสูดดมละอองฝอย สามารถเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการได้ด้วย

  • มีหลักฐานว่าคนอาจติดเชื้อ RVF ได้จากการดื่มนมที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ หรือการรับประทานน้ำนมดิบของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ยุงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุงลาย (Aedes sp.) สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัส RVF ได้
  • แมลงบินที่ดูดเลือดสามารถนำเชื้อได้เช่นเดียวกัน
  • ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน และยังไม่พบรายงานการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
  • ยังไม่พบรายงานการระบาดของ RVF ในพื้นที่เขตเมือง

 

ลักษณะอาการ

ลักษณะอาการไม่รุนแรง (Mild)

  • ระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อไวรัส RVF (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเริ่มปรากฏอาการ) อยู่ในช่วง 2-6 วัน
  • ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจไม่แสดงอาการโรค หรือมีอาการไม่รุนแรง โดยลักษณะอาการที่แสดง คือ มีไข้ฉับพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีอาการคอแข็ง แพ้แสง เบื่ออาหาร อาเจียน ในระยะแรกอาจจะทำให้วินิจฉัยผิดพลาดเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
  • ภายหลังผู้ป่วยมีอาการได้ 4-7 วัน จะตรวจพบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน คือ ตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อ และไวรัสค่อยๆ หายไปจากเลือด

ลักษณะอาการรุนแรง (Severe) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง โดยลักษณะอาการรุนแรงที่พบ อาจพบได้มากกว่า 1ใน 3 กลุ่ม คือ ocular (eye) disease (0.5-2% ของผู้ป่วย), meningoencephalitis (พบน้อยกว่า 1% ของผู้ป่วย) และ haemorrhagic fever (พบน้อยกว่า 1% ของผู้ป่วย)

  • รูปแบบอาการ ocular (eye) disease : ลักษณะอาการนี้จะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะเกิดรอยโรคบนจอประสาทตา และจะมีอาการประมาณ 1-3 สัปดาห์หลังจากที่แสดงอาการแรก โดยผู้ป่วยมักจะตาพร่า หรือประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง โรคสามารถหายได้เองภายใน 10-12 สัปดาห์ แต่หากเกิดแผลใน macula พบว่าผู้ป่วย 50% จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การตายในผู้ป่วยที่มีอาการทางตาเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ผิดปกติ
  • รูปแบบอาการ Meningoencephalitis : กลุ่มอาการนี้ จะแสดงเมื่อ 1-4 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการแรกของโรค ลักษณะอาการทางคลินิกที่พบ คือ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง สูญเสียของความจำ เกิดภาพหลอน มีความสับสน เวียนศีรษะ ชัก ซึม และไม่รู้สึกตัว ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจะปรากฏภายหลัง(มากกว่า 60 วัน) อัตราตายในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีอาการหลงเหลือจากการติดเชื้อทางระบบประสาท ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย
  • รูปแบบอาการ haemorrhagic fever : อาการแสดงของโรคจะเริ่มปรากฏ 2-4 วันหลังจากเริ่มป่วย โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตับทำงานลดลงอย่างรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน เป็นต้น ต่อมาเริ่มปรากฏอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดปนอุจจาระ มีผื่นจ้ำเขียว (ซึ่งเกิดจากเลือดออกใต้ผิวหนัง subcutaneous) มีเลือดออกจากจมูกหรือเหงือก เป็นต้น อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยในกลุ่ม haemorrhagic fever ประมาณ 50% การตายมักจะเกิดขึ้นภายใน 3-6 วัน หลังจากเริ่มมีอาการป่วย โดยสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดของผุ้ป่วยกลุ่มนี้ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง 10 วัน

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคนี้ ใช้ Serological Test เช่น enzyme-linked immunoassay (ELISA หรือ EIA) ซึ่งใช้ยืนยัน specific IgM antibodies ต่อไวรัส นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยเทคนิค virus propagation, antigen detection tests และ RT-PCR

การรักษาและการใช้วัคซีน

ใช้การรักษาแบบประคับประคอง ไม่มีการรักษาจำเพาะ ส่วนวัคซีนขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง

การควบคุมป้องกันโรค

ในการระบาดของ RVF การสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของเหลวในร่างกายสัตว์ทั้งการสัมผัสโดยตรง หรือละอองในอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับการติดเชื้อไวรัส RVF ดังนั้น ควรเพิ่มความตระหนักของของประชาชน ในการลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ RVF เพื่อจะลดการติดเชื้อและเสียชีวิตของมนุษย์ได้

ข้อแนะนำที่ใช้ในการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ได้แก่

  • ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์และการฆ่า ที่อาจไม่ปลอดภัย ควรสวมถุงมือ และชุดป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เมื่อดูแลสัตว์ป่วย หรือการสัมผัสกับเนื้อเยื่อเมื่อมีการฆ่าสัตว์
  • ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการบริโภค เช่น การรับประทานเนื้อที่ไม่ปรุงสุก หรือน้ำนมดิบ ดังนั้น ควรจะรับประทานอาหารที่สุกอย่างทั่วถึง
  • บุคคลและชุมชน ควรป้องกันยุงกัด โดยการใช้มุ้ง ขับไล่แมลง และควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน (เสื้อแขนยาวและกางเกง) และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในเวลาที่ยุงจะกัดสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  • World Health Organization (WHO). Rift Valley fever Fact Sheet; Revised May 2010.[cited 2010 April 20]; Available from: URL:http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs207/en/

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย