วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

โวหารภาพพจน์ในวรรณคดีไทย

         ภาพพจน์ หมายถึง คำ หรือ กลุ่มคำ ที่สร้างขึ้นจากกลวิธีในการใช้คำ เพื่อให้ปรากฏภาพที่เด่นชัดและลึกซึ้งขึ้นในใจทำให้ผู้อ่านและผู้ฟังเกิดจินตภาพคล้อยตาม การสร้างภาพพจน์เป็นศิลปทางภาษาขั้นสูงของการแต่งคำประพันธ์ โดยผู้แต่งใช้กลวิธีการเปรียบเทียบที่คมคายในลักษณะต่างๆ ภาพพจน์มีหลายประเภท แต่ที่สำคัญๆ คือ

1. อุปมา

คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง โดยใช้คำเชื่อมเหล่านี้ "เหมือน ราว ราวกับเปรียบ ดุจ ประดุจ ดัง ดั่ง เฉก เช่น เพียง เพี้ยง ประหนึ่ง ถนัด กล เล่ห์ ปิ้มว่า ปาน ครุวนา ปูน พ่าง ละม้าย แม้น"

ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
ใช่นางเกิดในปทุมา สุริยวงศ์พงศานั้นหาไม่
จะมาช่วงชิงกันดังผลไม้ อันจะได้นางไปอย่าสงกา (อิเหนา)
ครั้นวางพระโอษฐ์น้ำ เวียนวน อยู่นา
เห็นแก่ตาแดงกล ชาดย้อม
หฤทัยระทดทน ทุกข์ใหญ่ หลวงนา
ถนัดดั้งไม้ร้อยอ้อม ท่าวท้าวทับทรวง (ลิลิตพระลอ)

2. อุปลักษณ์

คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักใช้คำว่า "คือ" และ "เป็น" เช่น ครูคือเรือจ้าง ทหารเป็นรั้วของชาติ

ถึงห้วยโป่งเห็นธารละหานไหล คงคาใสปลาว่ายคล้ายคล้ายเห็น
มีกรวดแก้วแพรวพรายรายกระเด็น บ้างแลเห็นเป็นสีบุษราคัม
(นิราศเมืองแกลง)

บางครั้งภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ไม่มีคำกริยา "คือ" และ "เป็น" ให้สังเกต เราจะต้องตีความเอาเอง เช่น

ก้มเกล้าเคารพอภิวาท พระปิ่นภพภูวนาถนาถา
ยับยั้งคอยฟังพระวาจา จะบัญชาให้ยกโยธี
(อิเหนา)

ในที่นี้ เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นปิ่นของแผ่นดิน

ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง บาทา อยู่เฮยด
จึงบอาจลีลา คล่องได้
เชิญผู้ที่เมตตา แก่สัตว์ ปวงแฮ
ชักตะปูนี้ให้ ส่งข้าอัญขยม
(ขัตติยพันธกรณ๊)

ในที่นี้ เปรียบภาระหน้าที่เป็นตะปูที่ตรึงเท้าไว้

อัจกลับแก้วในทิพยสถานไกลลิบลิ่ว ฉายแสงสาดหาดทรายทอสีเงินยวง
ต้องกรวหินสินแร่บางชนิดแวววาว งามรังสีแจ่มจันทร์เจ้าวาวระยับ
ย้อยลงในแควแม่น้ำไหล ไหวๆ แพรวพราวราวเกล็ดแก้วเงินทอง
(บันทึกของจิตรกร, อังคาร กัลยาณพงศ์)
ในที่นี้เปรียบพระจันทร์เป็นอัจกลับแก้ว หรือโคมไฟที่ส่องสว่างกระจ่างตา

เดือนตกไปแล้ว ดาวแข่งแสงขาว ยิบ ๆ ยับ ๆ เหมือนเกล็ดแก้วอัน สอดสอยร้อยปักอยู่เต็มผ้าดำผืนใหญ่ วูบวาบวิบวับ ส่องแสง ใหญ่แลน้อย ใกล้แลไกล...
(เจ้า จันท์ผมหอม นิราศพระธาติอินทร์แขวน, มาลา คำจันทร์)
ในที่นี้ เปรียบ ท้องฟ้าอันมืดมิดเป็นผ้าดำผืนใหญ่

ภาษาอุปลักษณ์ นอกจากจะปรากฎในงานประพันธ์แล้ว ยังปรากฎใช้ในภาษาชีวิตประจำวัน เช่น ศึกฟุตบอลโลก ไฟสงคราม ตะเข็บชายแดน ในที่นี้ กวีเปรียบน้ำค้างมีประกายวาวเหมือนประกายของเพชรน้ำงาม และเปรียบหญ้าเป็นผืนพรม เพื่อทำ ให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพชัดเจนว่า น้ำค้างนั้นมีประกายวาวงามและต้นหญ้านั้นก็เขียวขจีปูลาดเป็นพรม แต่ถ้ากล่าวว่า "น้ำตาหลั่งเป็นสายเลือด" ข้อความนี้มิได้มุ่งหมายจะเปรียบลักษณะของน้ำตาว่าเหมือนสายเลือด แต่เน้นย้ำเชิงปริมาณว่าร้องไห้ใจจะขาด ดังนั้น "น้ำตาหลั่งเป็นสายเลือด" ประโยคนี้เป็นอติพจน์



3) บุคคลวัต

คือ การสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เช่น ดวงตะวัน แย้มยิ้ม, สายลมโลมไล้เอาอกเอาใจพฤกษาลดามาลย์

ต้นไม้แต่งตัว อยู่ในม่านมัวของหมอกคราม
บ้างลอกเปลือกอยู่ปลามปลาม บ้างแปรกิ่งประกบกัน
บ้างปลิวใบสยายลม บ้างชื่นชมช่อชูชัน
บ้างแตกกิ่งอวดตาวัน บ้างว่อนไหวจะร่ายรำ
บ้างเตรียมหาผ้าแพรคลุม บ้างประชุมอยู่พึมพำ
ท่านผู้เฒ่าก็เตรียมทำ พิธีสู่ขวัญผู้เยาว์
ม่านหมอกค่อยคล้อยคลี่ เผยเวทีอันพริ้งเพราด
หมู่ไม้ร่าเริงเร้า จะต้อนรับฤดูกาล
(เพลงขลุ่ยผิว, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

4) อติพจน์

คือ การ เปรียบเทียบโดยการกล่าวข้อความที่เกินจริง มักเปรียบเทียบในเรื่องปริมาณว่ามีมากเหลือเกิน มีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น เช่น ร้อนตับแตก, คอแห้งเป็นผง, รักคุณเท่าฟ้า, มารอตั้งโกฎิปีแล้ว, ใจดีเป็นบ้า, อกไหม้ไส้ขม, เหนื่อยสายตัวแทบขาด

นี่ฤาบุตรีพระดาบส งามหมดหาใครจะเปรียบได้
อนิจจาบิดาท่านแสร้งใช้ มารดต้นไม้พรวนดิน
ดูผิวสินวลละอองอ่อน มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคิน นางนี้เป็นปิ่นโลกา
(ศกุนตลา)

6) สัญลักษณ์

คือ การ ใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะภาวะบางประการร่วมกัน เป็นการสร้างจินตภาพซึ่งใชัรูปธรรมชักนำไปสู่ความหมายอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่เข้าใจในสังคม เช่น ใช้ ดอกไม้ แทน ผู้หญิง เพราะมีคุณสมบัติ ร่วมกัน คือความสวยงามและความบอบบาง ใช้ ราชสีห์ แทน ผู้มีอำนาจ เพราะราชสีห์และผู้มีอำนาจต่างมีคุณสมบัติร่วมกัน คือความน่าเกรงขาม

ตัวอย่าง สัญลักษณ์ที่มักพบเห็นกันเสมอๆ เช่น

จามจุรี แทน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รุ้ง แทน ความหวัง พลัง กำลังใจ
หมอก แทน มายา อุปสรรค สิ่งที่สลายตัวรวดเร็ว
นกพิราบ แทน สันติภาพ
ดอกมะลิ แทน ความบริสุทธิ์ ความชื่นใจ
สวัสดิกะ แทน เยอรมันยุคนาซี

7) สัทพจน์ (Onomatopoeia)

คือ การเปรียบเทียบโดยใช้คำเลียนแบบให้เห็นท่าทาง แสง สี ได้ยินเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกันก็ได้ มักจะพบในความเป็นธรรมชาติ หรือเครื่องดนตรี หรือเครื่องใช้ตามวิถีชาวบ้าน เช่น

เสียงโหม่ง หม่อง ฆ้องตีเคล้าปี่พาทย์ เสียงเตรง เตร่ง ระนาดชัดจังหวะ
เสียงตะโพน เท่งติง ติง เท่งป๊ะ เสียงกลองแขก โจ๊ะ จ๊ะ โจ๊ะ โจ๊ะ
( มโหรีชีวิต : แก้วตา ชัยกิตติภรณ์ )

8) วิภาษ (Oxymoron)

  1. การเปรียบเทียบความขัดแย้ง หรือสิ่งที่ตรงข้ามกันนำมาจับเข้าคู่กัน เช่น กากับหงส์ ดินกับฟ้า มืดกับสว่าง ดังตัวอย่างเช่น

    ความมือแผ่รอบกว้างสว่างหลบ รอบใจพลบแพ้พ่ายสลายขวัญ
    ชวนกำสรดซบหน้าซ่อนจาบัลย์ วะหวิวหวั่นหวาดหวังว่ายังคอย
    (มือกับสว่าง : อรฉัตร ซองทอง)

9) อรรถวิภาษ (Paradox)

คือ การเปรียบเทียบการใช้คำที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันแต่เมื่อพิจารณาความหมายลึกซึ้งโดย แท้จริงแล้วอาจเข้ากันได้ หรือนำมาเข้าคู่กันได้อย่างกลมกลืน

เปลวควันเทียนริบหรี่กลับมีแสง เกิดจากแรงตั้งจิตอธิษฐาน
ดวงตาจึงมองเห็นธรรมสืบตำนาน ดวงใจจึงเบิกบานแต่นั้นมา
(แสงเทียนแสงธรรม : เสมอ กลิ่นประทุม)

ริบหรี่ กับ แสง มีความหมายตรงข้ามกันสิ้นเชิง ครั้นเมื่ออยู่ในประโยคเดียวกันก็มีเนื้อความเรื่องเดียวกัน

10) อธินามนัย (Metonymy)

คือ การเปรียบเทียบ โดยจาระไนของหลาย ๆ อย่างที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันมากล่าวนำ และสรุปความหมายรวม คือใช้ชื่อเรียกรวม ๆ แทนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง

เลือดสุพรรณวันก่อนเคยร้อนรุ่ม หลั่งลงรุ่มฉาบดินทุกถิ่นฐาน
บัดนี้เย็นเป็นสุขทุกประการ เพราะไทยหาญหวงถิ่นไว้ให้ไทยเอย
(เลือดสุพรรณ : ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร)

คำว่าไทย ในบทกลอนข้างต้น หมายถึง เฉพาะชาวไทย มิได้หมายถึงประเทศไทยหรือเชื้อชาติหรือสัญชาติแต่อย่างใด จึงเรียก อธินามนัย ส่วน ไทย คำหลังหมายถึงประเทศไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย