ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษย์กับการใช้เหตุผล

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์คือใคร: ทัศนะด้านศาสนา
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาอินดู
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาคริสต์และอิสลาม
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาขงจื้อ
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์
ความหมายของการใช้เหตุผล
สมองกับพัฒนาการการใช้เหตุผลของมนุษย์
สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล
ความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เหตุผล
การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์

มนุษย์เริ่มก้าวไปสู่การสำนึกรู้ถึงตัวเอง เมื่อเขาได้ถามตัวเองว่า เราคือใคร หรือเป็นอะไรกันแน่ คำถามง่ายๆ ที่ดูจะตามมาด้วยคำถามต่อๆ มาหลายคำถาม คือปัญหาที่ว่า มนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร? มนุษย์มาจากไหน? ต่อมาคือ ปัญหาว่าด้วยความร้ายแรงของความตาย ในการพยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าว มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้ค้นพบนิทานต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเทพนิยาย ในเทพนิยายดังกล่าวคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของมนุษย์ได้มาสัมผัสกับคำถามที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือโลกนี้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร? (จูเลียน ฮักซ์ลีย์ เจ. โบร์โนว์สกี และเจอรัลด์ แบรรี เจมส์ ฟิชเชอร์, 2547: 8) จากคำถามข้างต้นทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาคำตอบ จนทำให้มนุษย์มีความเข้าใจต่อโลกและตัวเองมากขึ้น ตลอดจนสังคม และความเข้าใจนี้ส่งผลสะท้อนต่อการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ

คำถามที่ว่า มนุษย์คือใคร ประกอบด้วยอะไรนั้น บางคนอาจคิดว่าเป็นคำถามของคนขวางโลกหรือเป็นคำถามที่ไร้สาระ แต่ถ้ามองด้วยความไตร่ตรองอย่างรอบครอบแล้ว คำถามนี้เป็นคำถามที่ลุ่มลึกและสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสติปัญญาและอารยธรรม ความคิดของมนุษย์เอง เนื้อหาสำคัญของคำถามที่ว่า มนุษย์คือใคร เป็นต้น แท้ที่จริงก็คือ การสร้างมโนทัศน์หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพนามธรรมเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง ถ้าหากมนุษย์เชื่อมั่นว่า ตนเองแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น มนุษย์ต้องหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ว่า ตัวเองแตกต่างอย่างไรจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากความแตกต่างทางกายภาพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายคำว่า “มนุษย์” คือ สัตว์ที่รู้จักให้เหตุ; สัตว์ที่มีจิตใจสูง ซึ่งคำนิยามดังกล่าวดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญากรีกนามว่า อริสโตเติล (Aristotle) ที่ให้คำนิยามเกี่ยวกับมนุษย์ไว้ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ มนุษย์ คือสัตว์ที่มีเหตุผล (Man is rational animal) มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักคิด (Man is thinking animal) และมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Man is social animal) ในส่วนที่เป็นคำนิยาม 2 ประการแรกนั้น อริสโตเติลยังชี้ให้เห็นระดับจิตใจของมนุษย์ 2 ระดับ คือ ระดับที่มีเหตุผล (rational part) กับระดับที่ไร้เหตุผล (irrational part) โดยเน้นเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสัตว์กับมนุษย์ในเรื่องกิจกรรมทางปัญญา ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากจิตใจที่มีเหตุผล และนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โดยทั่วไป



ตามทัศนะของอริสโตเติล เราจะเห็นว่าระดับจิตใจของมนุษย์อาจเปรียบเทียบให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ในมุมมองของจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ตามทัศนะของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 2528: 11-13) ที่แบ่งระดับจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ส่วน คือ อิด (Id) เป็นส่วนที่ไร้เหตุผล อีโก (Ego) ส่วนที่เป็นตัวตน และชูเปอร์อีโก (superego) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นจิตสำนึกหรือส่วนที่ประกอบด้วยเหตุผลนั่นเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฟรอยด์ได้ชี้ให้เห็นถึงขบวนการของธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของจิตวิเคราะห์ว่า “ที่ใดมีอิด (Id) ที่นั่นก็จะมีอีโก้ (Ego)” จุดมุ่งหมายของเขาคือ ต้องการให้เหตุผลซึ่งเป็นระดับจิตที่เป็นชูเปอร์อีโก้ (Superego) เข้าไปครอบงำความต้องการ ที่ไร้เหตุผลซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึก (Id) โดยต้องการให้มนุษย์ได้รับการปลดปล่อยจากอำนาจแห่งจิตไร้สำนึกเท่าที่วิสัยมนุษย์จะทำได้ มนุษย์จะต้องรู้จักพลังในจิตไร้สำนึกภายในตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ครอบงำและควบคุมมันเอาไว้ จุดมุ่งหมายของฟรอยด์ต้องการให้มนุษย์รู้ความจริงมากที่สุด

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) (2543: 30, 32) ได้ให้ความหมายและธรรมชาติของมนุษย์ไว้ว่า “มนุษย์ คือสัตว์ผู้ต้องศึกษา ชีวิตที่ดี คือชีวิตแห่งการศึกษา และธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หรือต้องศึกษาและฝึกได้หรือศึกษาได้ด้วย” เพราะตามความเห็นของท่านก็คือ มนุษย์อาศัยเพียงสัญชาตญาณอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ท่านจงเน้นย้ำถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์/ชีวิตที่มีการศึกษา คือเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาอยู่เรื่อย จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐเรียกว่า “ชีวิตประเสริฐเกิดจากการศึกษา” ดังพุทธพจน์ที่ย้ำอยู่เรื่อยว่า “ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ”

ส่วน วิทย์ วิศเวทย์ (2536: 55)ให้ความหมายของ “มนุษย์” ไว้ว่า “ มนุษย์ คือ สิ่งมีชีวิตชนิดที่อยู่ในประเภทเดียวกับสัตว์ แต่ก็สูงกว่าสัตว์ตรงที่ว่ามีสติปัญญาเรียนรู้ได้ มีศาสนาและศีลธรรมและรู้จักรสของสุนทรียะได้

เราจะเห็นว่า มนุษย์คือสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น ฝักใฝ่ในความมีเหตุผล เพราะเป็นสัตว์ใช้สมอง จึงอาจถือต่อไปได้ว่า ความอยากรู้อยากเห็น ความคิด และความมีเหตุผล คือคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีสภาพแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ เพราะอาศัยความรู้กอปรด้วยเหตุผลดังกล่าว มนุษย์จึงสามารถเข้าใจเรื่องของโลกและชีวิต ทั้งยังสามารถให้การตีหมาย วิเคราะห์ ชี้แจง และให้คำตอบเรื่องต่างๆ หรือปัญหาต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน (สิทธิ์ บุตรอินทร์, 2522: 4-5)

ดังนั้น การใช้เหตุผล (Reasoning) จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพทางสังคมมีความซับซ้อนมาก การทำความเข้าใจเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้เหตุผลพื้นฐาน เพื่อให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น และเพื่อเป็นการขยายไปสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษย์ในด้านต่างๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการใช้เหตุผลของมนุษย์ในแต่ละสังคม การเรียนรู้กระบวนการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐานจึงเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ทุกสังคมต้องเรียนรู้ แม้ว่าในแต่ละสังคมจะมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ หรือวิถีชีวิตที่แตกต่างกันก็ตาม

การรู้จักใช้สติปัญญาและความคิดเกี่ยวกับการใช้เหตุผลในเชิงตรรกศาสตร์ (Logic) ถือว่าเป็นมรดกที่มีค่าอย่างหนึ่งที่คนกรีกโบราณได้ให้ไว้แก่โลกและจัดอยู่ในขอบข่ายของวิชาปรัชญา (Philosophy) ซึ่งถือว่าเป็นระบบคิดแรกในการแสวงหาความรู้และความจริงของมนุษย์ การใช้เหตุผลถือว่าเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันและถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการแสวงหาความรู้และความจริงของมนุษย์ ดังนั้นการใช้เหตุผลจึงเป็นคุณสมบัติที่เด่นชัดอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย