สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วันรัฐธรรมนูญ
วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี นับว่าเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก ให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24
มิถุนายน พ.ศ. 2475 เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการปกครองของไทย
เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมายาวนานถึง 700 กว่าปี (คือ
การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน
หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือ
เป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง
ข้าราชการ เป็นเพียงกลไกที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น)
มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องมาจาก
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อ เป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
- หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้วยพระองค์ ทรง ปลดข้าราชการออกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
- อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องการความ เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
- รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป
จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติจากคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร
ประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช
และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
นอกจากนี้ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่
การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย
การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้
พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
แม้ว่าลักษณะการปกครองจะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขของประเทศ
เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อกันไปในราชวงศ์ ดังนั้น
การปฏิบัติราชการต่างๆ
จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ
โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ นอกจากนี้
ยังมีสถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่างๆ
เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้
เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง
ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม
จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร
ซึ่งมีหลักการที่ต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ
ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองแบบระบอบรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข
ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน
แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร
รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น
แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างไรก็ตาม
คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้
หากเห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น
ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
และนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะฉบับที่สำคัญมี 18 ฉบับด้วยกัน คือ
- ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ประกาศและบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2495
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550
จากการที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับด้วยกัน
ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนแอในเรื่องของประชาธิปไตยอย่างมาก
เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ในช่วงนั้นประชาชนไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดเรื่องการเมือง
มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด
จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่มีความรุนแรงถึงขั้นก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง
ทำให้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นสยามเมืองยิ้มในสายตาชาวต่างประเทศ
กลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องระมัดระวังตัวเมื่อเดินทางมาประเทศไทย
เนื่องจากถูกลดอันดับความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก
ดังนั้น เนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรม
จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 7 ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ประชาชนชาวไทย
โดยร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต
โดยปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนด
ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย มีความสามัคคีและประนีประนอม
ตลอดจนมีจิตสำนึกสาธารณะและยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
หากสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาความแตกแยกในสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น
สังคมไทยก็จะเข้มแข็งเป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแน่นอน
ข้อมูล
- สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม