ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ลักษณะภูมิอากาศและธรรมชาติของทวีปเอเชีย


แผนที่ทวีปเอเชียแสดงลักษณะภูมิอากาศ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศของทวีปเอเชีย ได้แก่

  • ที่ตั้ง ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ คือ จาก ศูนย์สูตรถึงขั้วโลกทำให้ทวีปเอเชียมีลักษณะภูมิอากาศทุกชนิด ตั้งแต่เขตร้อนถึงเขต หนาวเย็นแบบขั้วโลก
  • ขนาด เอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดกว้างใหญ่มาก โดยมีเส้นศูนย์สูตร เส้นทรอปิกออฟเคนเซอร์และเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลลากผ่าน ลักษณะเช่นนี้แสดงว่า ทวีปเอเชียมีทั้งอากาศร้อน อบอุ่น และหนาว
  • ความใกล้-ไกลทะเล ทวีปเอเชียมีดินแดนบางส่วนที่อยู่ติดชายทะเล จึงได้รับอิทธิพลจากทะเลแต่มีดินแดนภายในบางแห่งที่อยู่ห่างไกลจากพื้นน้ำมาก ทำให้อิทธิพลของพื้นน้ำไม่สามารถเข้าไปถึงภายในทวีปได้อย่างทั่วถึง ภายในทวีปจึงมีอากาศรุนแรง คือ ฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด และฤดูหนาวอากาศหนาวจัดขณะที่บริเวณชายฝั่งทะเลมีอากาศไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกลางวันกลางคืน และระหว่างฤดูกาลต่าง ๆ
  • ความสูงต่ำของพื้นที่ ทวีปเอเชียมีลักษณะภูมิประเทศสูงต่ำแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้มีลักษณะอากาศแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในเขตละติจูดเดียวกัน เช่น เขต ที่ราบที่เมืองเดลี อยู่ที่ละติจูด 28 องศาเหนือ ไม่เคยมีหิมะเลย แต่ที่ยอดเขาดัวลากีรี ซึ่งสูง 8,172 เมตร (26,810 ฟุต) ซึ่งอยู่ในละติจูดเดียวกันกลับมีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี
  • ลมประจำที่พัดผ่าน มีลมประจำหลายชนิดพัดผ่านทวีปเอเชีย ได้แก่
    - ลมประจำฤดู เช่น ลมมรสุม ซึ่งมีอิทธิพลต่อทวีปเอเชียมาก เกิดจากความแตกต่างของความกดอากาศเหนือพื้นทวีปทางซีกโลกเหนือและพื้นมหาสมุทรทาง ซีกโลกใต้
    - พายุหมุน เช่น ลมใต้ฝุ่น ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุไซโคลน ที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น
  • กระแสน้ำ มีน้ำเย็นโอยาชิโว ไหลผ่านชายฝั่งตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศ มีกระแสน้ำอุ่นกุโรชิโวไหลผ่าน อิทธิพลของกระแสน้ำ ทั้งสอง ทำให้ชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นมีอากาศอบอุ่นกว่าชายฝั่งตะวันตก

การแบ่งเขตภูมิอากาศของทวีปเอเชีย

เขตภูมิอากาศของทวีปเอเชียแบ่งออกเป็น 11 เขตดังนี้

  1. ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น อยู่ระหว่างละติจูด 10 องศาเหนือ ถึง 10 องศาใต้ ได้แก่ บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะมีอุณหภูมิสูงตลอดปี
    พืชพรรณธรรมชาติ จะเป็นป่าดงดิบ ไม้ไม่ผลัดใบ
  2. ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน หรือเขตร้อนชื้นแถบมรสุม เป็นดินแดนที่อยู่เหนือละติจูด 10 องศาเหนือขึ้นไปจะมีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝนปีละ 6 เดือน ได้แก่บริเวณชายฝั่งบางส่วนของคาบสมุทรอินเดีย และคาบสมุทรอินโดจีน
    พืชพรรณธรรมชาติ จะเป็นไม้ใบกว้างและเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้จันทน์ ไม้ประดู่
  3. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน มีลักษณะอากาศคล้ายกับแบบมรสุมเขตร้อน คือ มีฤดูหนึ่งที่แห้งแล้งกับอีกฤดูหนึ่งที่มีฝนตกแต่ปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่า ได้แก่ บริเวณตอนกลางของอินเดีย พม่า และคาบสมุทรอินโดจีน
    พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าโปร่งแบบป่าเบญจพรรณ
  4. ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตอบอุ่น มีฝนตกในฤดูร้อน ฤดูหนาวค่อนข้างหนาว ได้แก่ บริเวณตะวันออกของจีน ภาคใต้ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตอนเหนือของอินเดีย ลาว และตอนเหนือของเวียดนาม พืชพรรณชาติได้แก่ ป่าไม้ผสมและป่าไม้ผลัดใบ เช่น โอ๊ก เมเปิล ถ้าขึ้นไปทางเหนือที่มีอากาศหนาว
    พืชพรรณธรรมชาติ จะเป็นไม้สน ที่มีใบเขียวตลอดปี
  5. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นทวีป ได้แก่บริเวณภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เกาหลีเหนือ ภาคเหนือของญี่ปุ่น และตะวันออกเฉียงใต้ของไซบีเรีย
    พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าผสมระหว่างป่าไม้ผลัดใบและป่าสน ลึกเข้าไปเป็น ทุ่งหญ้า สามารถปลูกข้าวโพด ข้าวสาลีได้
  6. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายแถบอบอุ่น มีอุณหภูมิสูงมากใน ฤดูร้อน และมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาว ได้แก่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ ตอนกลางของตุรกี ตอนเหนือของอิหร่าน ในมองโกเลีย
    พืชธรรมธรรมชาติ เป็นทุ่งหญ้าสั้น (Steppe) ทุ่งหญ้าบริเวณดังกล่าวบางแห่งที่มีการชลประทานเข้าถึง สามารถเพราะปลูกข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ฝ้าย และเลี้ยงสัตว์ได้ดี
  7. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิกลางวันกับกลางคืนจะแตกต่างกันมาก ได้แก่บริเวณทะเลทรายโกบี ทะเลทรายธาร์ และที่ราบสูงทิเบต ที่ราบสูงอิหร่าน สำหรับในเขตทะเลทรายบริเวณที่มีน้ำและต้นไม้ขึ้นได้ เรียกว่า โอเอซิส
    พืชพรรณธรรมชาติ เช่น อินทผลัม ตะบองเพชร และไม้ประเภทมีหนาม
  8. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิอากาศซึ่งฤดูร้อนอากาศร้อนและ แห้งแล้ง มีฝนตกในฤดูหนาว เนื่องจากได้รับอิทธิพล ของลมตะวันตก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งของประเทศตุรกี เลบานอน ซีเรีย อิสราเอล
    พืชพรรณธรรมชาติ ได้แก่ ไม้ต้นเตี้ย ไม้พุ่มมีหนาม ต้นไม้เปลือกหนา พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ส้ม องุ่น และมะกอก
  9. ภูมิอากาศแบบไทกา (แบบกึ่งขั้วโลก) มีฤดูหนาวยาวนาน และมีอากาศหนาวจัด ส่วนฤดูร้อนจะมีเวลาสั้น ได้แก่ ดินแดนทางภาคเหนือของทวีป บริเวณไซบีเรีย
    พืชพรรณธรรมชาติ จะเป็นป่าสนไม้เนื้ออ่อน ที่เลือกว่า ไทกา หรือป่าสนไซบีเรีย
  10. ภูมิอากาศแบบทุนดรา (แบบขั้วโลก) ได้แก่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือสุดของทวีปเอเชีย จะมีฤดูหนาวที่ยาวนานมาก และอากาศหนาวจัด มีหิมะปกคลุมตลอดปี ไม่มีฤดูร้อน
    พืชพรรณธรรมชาติ ได้แก่ พวกตะไคร่น้ำ และมอสส์
  11. ภูมิอากาศแบบที่สูง ได้แก่ที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาฮินดูกูช เทือกเขาคุนลุน จะมีอากาศที่หนาวเย็น และมีหิมะปกคลุมตลอดปี

แหล่งข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย