ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่

การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผล

นอกจากจะตีความเรื่องอภินิหารแล้ว สมเด็จฯยังได้วิจารณ์ความไม่สมเหตุสมผลในเชิงตรรกะของข้อความบางแห่งในพุทธประวัติด้วย เช่น ข้อที่บอกว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เพราะเกิดสังเวชพระทัยที่ได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนอายุตั้ง 29 พรรษา จะไม่เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตายมาก่อนเลย ดังคำวิจารณ์ว่า “พระองค์มีพระชนมายุถึง 29 ปีแล้ว จักไม่เคยพบ คนแก่ คนเจ็บ คนตายนั้นเป็นอันมีไม่ได้” ส่วนเหตุผลที่ว่าเพราะถูกพระราชบิดาคอยกันไว้ไม่ให้เจอ ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะ“พระราชบิดาเองก็ทรงชราลงเหมือนกัน แม้ยังไม่หง่อม ก็พอพระกุมารจะทรงเห็นความแปรของสังขารได้เป็นแน่” ถ้าสมมติว่าพระราชบิดาห้ามสำเร็จ ก็ยังฟังไม่ขึ้นอยู่ดี เพราะ“คนมีอายุถึงเท่านั้นแล้ว ไม่เคยพบคนแก่ คนเจ็บ คนตายเลย จักเป็นคนฉลาดอย่างไรได้” ในที่สุดพระองค์ก็สันนิษฐานความไม่สอดคล้องในเชิงตรรกะของข้อความตรงนี้โดยโยงไปหาฝีมือของพวกนักจินตกวีว่า “น่าจะได้มาจากหนังสือกาพย์ของจินตกวี ท่านผู้ประพันธ์เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนแต่งขยายเรื่องจริงให้เขื่อง ด้วยหมายจะให้ไพเราะในเชิงกาพย์” ทางออกของพระองค์คือต้องตีความใหม่ให้เกิดความสมเหตุสมผล ดังที่ทรงตรัสไว้วา “ถอดเอาใจความก็จะพึงได้ดังนี้ พระมหาบุรุษได้เคยทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายมาแล้ว แต่ไม่ได้เก็บเอามาทำในพระหฤทัยต่อไป ก็เป็นอันได้ความว่า พระมหาบุรุษจะต้องได้เคยเห็นแก่ คนเจ็บ และคนตายมาแล้วอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่ฉุกคิดให้เกิดความสังเวชพระทัยเท่านั้น แน่นอนว่าเหตุผลอย่างนี้ย่อมเป็นที่ยอมรับได้โดยสามัญทั่วไปได้ เพราะตามประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป ย่อมจะเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตายมาแล้วก็ไม่มากก็น้อย

เนื้อหาอีกแห่งหนึ่งที่ทรงวิจารณ์ คือ เหตุการณ์วันที่เสด็จออกบวช มีเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถาบอกว่าทรงเสด็จหนีออกบวชตอนกลางคืน ส่วนเนื้อในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย บอกว่า เสด็จออกซึ่งหน้าในขณะมารดาบิดาน้ำตานองหน้าอยู่ ตรงนี้ทรงตั้งคำถามว่า ถ้าเสด็จหนีออกตอนกลางคืน เมื่อพระราชบิดาทรงทราบแล้ว “เหตุไฉนไม่ตรัสสั่งให้ติดตาม ? และเมื่อนายฉันนะกลับมานครแล้วก็ไม่ได้ยินว่าทรงพระพิโรธและลงราชทัณฑ์แก่นายฉันนะอย่างไร ?” ถ้าเสด็จออกโดยซึ่งหน้า “ก็มีปัญหาอีกว่า พระราชบิดาไม่ทรงยอมอยู่แล้วถึงทรงกันแสง แต่เหตุไฉนจึงขัดไว้ไม่ได้ ? น่าจะมีเหตุจำเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ” เนื้อหาตรงนี้พระองค์จะไม่ได้วินิจฉัยไว้ เพียงแต่ตั้งคำถามและข้อสงสัยไว้เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป วรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่อง “พุทธประวัติ (เล่ม 1)” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถือว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มวรรณกรรมของสังคมไทยในยุคปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้ทันสมัยแบบตะวันตก และเป็นวรรณกรรมทียังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างยาวนานจนเท่าทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันยังใช้เป็นหลักสูตรพระปริยัติธรรมอยู่ สิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้ปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนี้ คือ วิธีคิดแบบตะวันตกของผู้นิพนธ์ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมไปอย่างสิ้นเชิงของจักรวาลวิทยาแบบ ไตรภูมิและจารีตการเขียนพุทธประวัติแบบดั้งเดิม สิ่งที่เหลือให้เราเห็นคือ การวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถาม การตีความ การวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล และการตัดทิ้งซึ่งเนื้อหาที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยศาสตร์สมัยใหม่ นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงแนวคิดแบบมนุษยนิยมที่พยายามจะนำเสนอประวัติของพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ไม่ใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องอภินิหาร เมื่อมองในแง่สังคม แน่นอนว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นผลิตแห่งบริบทสังคมไทยยุคนั้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความพยายามผู้ประพันธ์ที่จะนำพระพุทธศาสนาแบบใหม่ไปสื่อ สารกับคนในยุคของท่าน

ยุคใหม่ในสังคมตะวันตก
ยุคใหม่ในสังคมไทย
วรรณกรรมแบบจารีตลังกา
จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ
วรรณกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมยุคใหม่
แนวโน้มวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่
โครงเรื่องแนวเหตุผลนิยม
การวิพากษ์เรื่องอภินิหาร
การตีความเรื่องอภินิหาร
การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผล
ยุคใหม่ตอนกลาง : วรรณกรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ
ภาษาคน-ภาษาธรรม : ทฤษฎีการตีความของท่านพุทธทาส
การวิพากษ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และวิสุทธิมรรค
การปฏิเสธจักรวาลวิทยาแบบอภิปรัชญา
การตีความปฏิจจสมุปบาทแนวใหม่
การฟื้นฟูมิติโลกุตรธรรม
วรรณกรรมของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)
การฟื้นฟูมิติทางสังคมแนวพุทธ
การวิพากษ์ฐานคิดตะวันตกและเสนอแนวคิดแบบองค์รวมเชิงพุทธ
วรรณกรรมของฟริตจ๊อฟ คาปร้า
ทัศนะแบบจักรกล (mechanistic view)
ทรรศนะแบบลดทอน (Reductionistic view)
แนวคิดพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature)
ควอนตัมฟิสิกส์ กับ พระพุทธศาสนา
กลุ่มวรรณกรรมที่เน้นพุทธจริยธรรมเชิงสังคม
วรรณกรรมของนายแพทย์ประเวศ วสี
วรรณกรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์
วรรณกรรมที่เน้นจริยธรรมแบบผูกพันกับสังคม
วรรณกรรมของนายแพทย์ประสาน ต่างใจ
นิพพานในฐานะเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของจิต
วรรณกรรมของปริญญา ตันสกุล
โครงสร้างจิตและการทำงานของจิต
การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่นิพพาน
วรรณกรรมพระพุทธศาสนากับแนวคิดหลังสมัยใหม่
บทสรุป
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย