ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์

เรื่องตำนานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาสู่ประเทศสยามนั้น เดิมเมื่อ พ.ศ. 1696 พระเจ้าปรักกรมพาหุได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป พระเจ้าปรักรมพาหุนี้นับเป็นมหาราชองค์หนึ่งในพงศาวดารลังกาเพราะมีอานุภาพมาก สามารถปราบปรามได้เมืองทมิฬทั้งปวงไว้ในอำนาจ และเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ทรงอาราธนาให้พระมหาเถรกัสปเถรเป็นประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย(อันนับในตำนานทางฝ่ายใต้ว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 7) แล้วจัดวางระเบียบข้อวัตรปฏิบัติแห่งสงฆ์นานาสังวาสให้กลับคืนเป็นนิกายอันเดียวกัน เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป ครั้นกิติศัพท์นั้นเฟื่องฟุ้งมาถึงประเทศพม่า มอญ ไทย ก็มีพระภิกษุในประเทศเหล่านี้พากันไปสืบสวนยังเมืองลังกา เมื่อไปเห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวลังกาตามแบบแผนนั้นก็เลื่อมใสใคร่จะนำกลับมาประดิษฐานในบ้านเมืองของตน แต่พระสงฆ์ชาวลังการังเกียจว่าสมณวงศ์ในนานาประเทศแตกต่างกันมาเสียช้านานแล้ว จึงเกี่ยงให้พระภิกษุซึ่งไปจาต่างประเทศรับอุปสมบทใหม่ แปลงเป็นนิกายลังกาวงศ์อันเดียวกันเสียก่อน พระภิกษุชาวต่างประเทศก็ยอมกระทำตาม พระภิกษุชาวต่างประเทศอยู่ศึกษาลัทธิพระธรรมวินัยในลังกาทวีปจนรอบรู้แล้ว จึงกลับมายังประเทศของตน บางพวกก็พาพระสงฆ์ชาวลังกามาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเมืองเดิมผู้คนเห็นว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ก็พากันเลื่อมใสให้บุตรหลานบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ลังกาวงศ์มากขึ้นโดยลำดับทั้งในประเทศพม่า รามัญ และประเทศสยามตลอดไปจนประเทศลานนา ลานช้างและกัมพูชา เรื่องตำนานพระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์นี้มีเนื้อความดังนี้

ว่าโดยส่วนประเทศสยาม ดูเหมือนพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จะแรกมาถึงเมื่อราว พ.ศ. 1800 พวกพระภิกษุไทยซึ่งได้ไปบวชแปลง ณ เมืองลังกากลับมาตั้งคณะที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อนแล้วชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกาตามมาช่วยกันสร้างพระมหาธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราชแปลงเป็นรูปพระสถูปอย่างลังกา เมื่อเกียรติคุณของพระสงฆ์ลังกาวงศ์แพร่หลายขึ้นไปถึงกรุงสุโขทัยราชธานี เมื่อครั้งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงเป็นใหญ่ก็ทรงเลื่อมใสโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ลังกาวงศ์ขึ้นไปตั้ง ณ กรุงสุโขทัย ลัทธิลังกาวงศ์จึงรุ่งเรืองในสยามแต่นั้นมา ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ. 1820 ความว่า“พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบพระไตรปิฎก หัวก๊กกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกตนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา” ดังนี้ ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์มาเจริญ ลัทธิมหายานก็เสื่อมแล้วสูญไป คงมีแต่พระสงฆ์ถือลัทธิหินยาน แต่ว่าในชั้นแรกต่างกันเป็น 2นิกาย คือ พระสงฆ์พวกเดิมกับพวกที่อุปสมบทตามลัทธิลังกาวงศ์ ในที่สุดจึงรวมเป็นนิกายเดียวกัน เรื่องรวมนิกายนี้ที่เมืองมอญถึงพรระเจ้าแผ่นดินต้องบังคับ แต่ในสยามรวมกันได้ด้วยปรองดอง มีหลักฐาน คือ ในศิลาจารึกที่เมืองสุโขทัยและเชียงใหม่ปรากฏว่าพระสงฏ์ลังกาวงศ์มาอยู่วัดอรัญญิก เมื่อจะไปตรวจดูถึงท้องที่ทั้ง 2 แห่งนั้นก็เห็นสมจริง ด้วยที่เมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ บรรดาวัดใหญ่มักสร้างในเมือง แต่ยังมีวัดอีกชนิดหนึ่งเป็นวัดขนาดย่อมๆ สร้างเรียงรายกันอยู่ในที่ตำบลหนึ่ง ระยะทางพอพระเดินเข้าไปบิณฑบาตในเมืองได้ ที่เป็นเช่นนั้นพึงเห็นเป็นเค้าว่าพระสงฆ์นำกายเดิมคงอยู่วัดใหญ่ๆในเมือง ส่วนพระสงฆ์ลังกาวงศ์ไม่ชอบอยู่ในละแวกบ้าน เพราะถือความมักน้อยสันโดษเป็นสำคัญ จึงไปอยู่ ณ ที่อรัญญิก จึงมีวัดเรียงรายต่อกันไปเป็นหลายวัด อันที่จริงพระสงฆ์นิกายเดิมกับนิกายลังกาวงศ์ก็ถือลัทธิหินยานด้วยกัน แต่เหตุที่ทำให้แตกต่างถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกันได้มีอยู่บางอย่าง ว่าแต่เฉพาะข้อสำคัญอันมีเค้าเงื่อนยังทราบได้ในเวลานี้ คือพระสงฆ์นิกายเดิมเห็นจะสังวัธยายพระธรรมเป็นภาษาสันสกฤต แต่พวกนิกายลังกาวงศ์สังวัธยายเป็นภาษามคธ อีกอย่างหนึ่งพวกลังกาวงศ์รังเกียจสมณในสยาม คงเป็นเพราะว่าปะปนกับพวกถือลัทธิมหายานมาช้านาน ถือว่าเป็นนานาสังวาสไม่ยอมร่วมสังฆกรรม พระสงฆ์จึงแยกกันอยู่เป็น 2 นิกายทั้งที่เมืองสุโขทัยและเชียงใหม่ เหตุที่จะรวมพระสงฆ์เป็นนิกายเดียวกันนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเกิดแต่พวกผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมบวชเรียนในนิกายลังกาวงศ์มากขึ้นทุกที เมื่อความนิยมแพร่หลายลงไปถึงพลเมือง ก็พากันบวชเรียนในนิกายลังกาวงศ์มากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระสงฆ์นิกายเดิมน้อยลงเป็นลำดับมา จนที่สุดต้องรวมกับนิกายลังกาวงศ์ ข้อความที่ว่ารวมกันโดยปรองดองนั้น มีที่สังเกตอยู่ 2 อย่าง คือ ในวิธีบรรพชาอุปสมบท ผู้บรรพชาต้องรับพระไตรสรณคมน์เป็นภาษามคธและยังต้องรับพระไตรสรณคมน์เป็นภาษาสันสกฤตอีก ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าพวกลังกาวงศ์สังวัธยายพระธรรมเป็นภาษามคธ พวกนิกายเดิมสังวัธยายเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อจะให้การบรรพชาสมบูรณ์ตามคติทั้ง 2 นิกาย จึงให้รับพระไตรสรณคมน์ 2 อย่าง ยังมีที่สังเกตอีกอย่างหนึ่ง ที่ใบสีมาพระอุโบสถ บรรดาวัดซึ่งสร้างแต่ครั้งสุโขทัยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถ้าเป็นวัดหลวงมักทำใบเสมา 2 แผ่นปักซ้อนกัน ถ้าเป็นวัดราษฎร์ทำสีมาแต่แผ่นเดียว สันนิษฐานว่า เดิมคงปักสีมาแต่แผ่นเดียวเหมือนกันหมด ครั้นพวกพระสงฆ์ลังกาวงศ์เข้ามาตั้งรังเกียจสมณวงศ์ในประเทศสยาม จึงรังเกียจสีมาซึ่งพระสงฆ์สยามผูกไว้ ไม่ยอมทำสังฆกรรม เป็นการลำบากแก่พวกที่เคยอุปสมบทบุตรหลานในวัดสำหรับตระกูล หรือซึ่งเคยให้อยู่วัดใกล้บ้านเรือนอุปการะกันง่ายมาแต่ก่อน คงอาศัยเหตุเหล่านี่เป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์ให้ผูกสีมาบรรดาวัดหลวงซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทำสังฆกรรมได้ทั้งพระสงฆ์นิกายเดิมและนิกายลังกาวงศ์ วัดใดที่ได้ผูกสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบสีมาเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใบเป็นสำคัญ โบสถ์ที่มีใบสีมา 2 ใบจึงเป็นวัดหลวงเป็นพื้น ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์มารุ่งเรืองในประเทศสยาม ไทยก็รับแบบแผนของลังกามาประพฤติ ในการถือพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าการสร้างพุทธเจดีย์ก็สร้างตามคติลังกา พระธรรมก็ทิ้งภาษาสันสกฤตกลับสาธยายเป็นภาษามคธ เป็นเหาตุให้การศึกษาภาษามคธเจริญรุ่งเรืองในสยามแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ในบางแผนกปรากฏนามคัมภีร์พระไตรปิฎกและนามพระเถระกับทั้งราชบัณฑิตที่ได้ทรงปรึกษาสอบสวนเป็นส่วนมาก ส่วนพระสงฆ์นั้นตั้งแต่รวมเป็นนิกายอันเดียวกันแล้ว ก็กำหนดต่างกันแต่โดยสมาทานธุระเป็น 2 พวกตามแบบอย่างในลังกา

แต่การที่ไทยรับถือลัทธิลังกาวงศ์ครั้งนั้น ไม่ได้ทิ้งขนบธรรมเนียมแม้เป็นฝ่ายศาสนาอื่น ซึ่งได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนทั้งหมด ด้วยนิสัยเลือกใช้แต่ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นประเพณีการบ้านเมืองซึ่งเคยถือคติตามทางศาสนาพราหมณ์ อันมิได้ขัดแก่พระพุทธศาสนาก็คงถือต่อ แม้ภาษาสันสกฤตก็ยังศึกษาและใช้ปะปนในภาษาไทยมิได้เลิกถอนไปทีเดียว มีการบางอย่างซึ่งไทยรับลัทธิลังกามาแก้ไขให้เหมาะแก่ความนิยมในภูมิประเทศ เช่นตัวอักษรเขียนพระไตรปิฎกคงใช้ตัวอักษรขอม เป็นต้น พระพุทธศาสนาที่ถือกันในประเทศสยาม ควรนับว่าเกิดเป็นลัทธิสยามวงศ์ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีสืบมา จนเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เมืองลังกาเกิดจลาจล หมดสิ้นสมณวงศ์ ได้มาขอคณะสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นประธานออกไปให้อุปสมบท กลับมาตั้งสมณวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป ยังเรียกว่านิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้

ยุคฟูนัน (พนม) (ศตวรรษที่ 6–7)
ยุคทวาราวดี (ศตวรรษที่ 11–16)
กษัตริย์เทียบเท่าพระโพธิสัตว์
ยุคศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12–18)
ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18)
พระพุทธศาสนายุคสุโขทัย(ศตวรรษที่ 18)
พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา(ลานนา)
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งราย(ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 เป็นต้นมา)
พระพุทธศาสนาสมัยพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199เป็นต้นมา)
แผนการยึดเมืองไทยของฝรั่งเศส
พระพุทธศาสนาสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์(พ.ศ. 2275เป็นต้นมา
สรุปพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310–2325)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน)
พระพุทธศาสนาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช
นาคหลวง
ภาวะแห่งความแย้งขัดระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
เกี่ยวกับนิกายแห่งศาสนาและลัทธิอื่น
นิกายหรือลัทธิใหม่ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาสู่ประเทศไทยของพระพุทธศาสนา
ยุคที่ 1 ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ 2 ลัทธิมหายาน
ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย