สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทำไมมุสลิมจึงร่วมพิธีกรรมไหว้ครูไม่ได้
คัดลอกจากหนังสือ ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้ ของ อ.มุรีด ทิมะเสน
ในสมัยก่อนเมื่อเด็กจะเข้าเรียนหนังสือมักจะนำไปฝากกับพระในวันพฤหัสบดี
เพราะถือว่าเป็นวันครู ที่ต้องนำไปฝากพระก็เพราะว่ายังไม่มีโรงเรียนอย่างทุกวันนี้
ศึกษาหาความรู้ทุกสาขาวิชาล้วนอยู่ที่วัด
ว่าโดยด้านหนังสือแล้วพระรูปใดมีความรู้เป็นครูสั่งสอนศิษย์ในกุฏิของตน
ศิษย์ตอบแทนด้วยช่วยดูแลกุฏิ บีบนวด ต้มน้ำร้อนน้ำชา
ตอบแทนสิ่งที่ผู้ปกครองนำไปวันแรกที่จะฝากลูกหลานของตนคือ พานเครื่องบูชา มีดอกไม้
ธูปเทียน หญ้าแพรก ดอกเข็ม ดอกมะเขือ เกลือ
เป็นของอธิษฐานให้มีปัญญาแตกฉานดังหญ้าแพรก แหลมคมดังเข็ม มีความรู้มากดังมะเขือ
และคงความจำความรู้วิชาการดั่งไหว้ครูที่กล่าวเป็นการไหว้ครูสอนหนังสือ
การไหว้ครูอื่นๆ เช่น ครู ละคร ครูดนตรี มีอีกมากแต่จะกล่าวเพียงไหว้ครูสอนหนังสือ
จากข้อความข้างต้น ผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาของพิธีกรรมไหว้ครูแล้ว
ผู้เขียนขอแจกแจงรายละเอียดทีละข้อดังนี้
1.ความเชื่อที่ว่า วันพฤหัสบดีเป็นวันครู
ซึ่งไม่มีหลักฐานจากศาสนากล่าวถึงวันพฤหัสบดีว่าเป็นวันครู
ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นของศาสนิกอื่น ไม่ใช่ความเชื่อของมุสลิม
หากมุสลิมเชื่อเช่นนั้นถือว่าบกพร่องในด้านอะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา)ทั้งนี้ศาสนาจะต้องมีแบบอย่างมาจากท่านนบีมุหัมมัดเท่านั้น
หากมาจากบุคคลอื่นเป็นผู้บอกเล่า หรือถือปฏิบัติตามความเชื่อของกลุ่มชนแล้ว
มุสลิมจะนำมาปฏิบัติไม่ได้อย่างเด็ดขาด
อนึ่ง อิสลามห้ามที่จะเชื่อโชคลาง หรือคาดเดาเอาเอง เป็นต้นว่า
ถ้าแต่งงานวันนั้นจะดีกว่าวันนี้ หรือเดือนนี้เป็นเดือนอัปมงคลไม่สมควรแต่งงาน
หรือออกจากบ้านแล้วจิ้งจกร้องทักจึงไม่ออกนอกบ้านกลัวว่าจะได้รับอันตราย
ดังกล่าวถือว่าต้องห้ามในอิสลาม ดังหลักฐานดังนี้
จากท่านอับดุลลอฮฺ จากท่านนบีมุหัมมัด กล่าวว่า
การเชื่อโชคลางคือการตั้งภาคี,การเชื่อโชคลางเป็นการตั้งภาคี(กล่าวเช่นนั้น)สามครั้ง
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ จากท่านนบีมุหัมมัดกล่าวว่า ไม่มีโรคติดต่อ
ไม่มีนกที่ใช้เสี่ยงทาย ไม่มีดวงดาวที่นำฝนตกมาให้
และไม่มีเดือนเศาะฟัรฺ(ชื่อเดือนของอรับฺ)
2.การนำพานเครื่องบูชาประกอบไปด้วยธูปเทียน หญ้าแพรก
โดยเชื่อว่าจะมีปัญญาแตกฉานดั่งหญ้าแพรก, สติปัญญาแหลมคมดั่งดอกเข็ม,
มีความรู้พรั่งพรูดั่งเมล็ดมะเขือ
และมีความจำเป็นเลิศดั่งเกลือที่ยังคงความเค็มเสมอ
ความคิดความเชื่อเช่นนั้นไม่พบว่าท่านนบีมุหัมมัดเคยกล่าวไว้ในหะดีษ(วจนะของท่านนบี)บทใด
แบบอย่างเช่นนั้นมีปรากฎในวิถีชีวิตของบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือไม่?
หากไม่ปรากฏนั่นก็แสดงว่ามิใช่ศาสนา มุสลิมจึงปฏิบัติหรือร่วมพิธีกรรมไม่ได้
เพราะเป็นแนวทางของศาสนิกอื่น
สำหรับศาสนาของพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน
และบุคคลใดที่แสวงหาอื่นจากอิสลามเป็นศาสนา
ดังนั้นจะไม่ถูกรับจากพระองค์อัลลอฮฺ และในวันปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ที่ขาดทุน
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า บุคคลใดก็ตามที่เลียนแบบชนกลุ่มหนึ่ง
เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้น
จากท่านเซดฺ บุตรของคอลิดฺ อัลญุฮฺนีย์ กล่าวว่า
พวกเรานมาซพร้อมกับท่านนบีมุหัมมัด ซึ่งเป็นนมาซศุบหฺที่ตำบลหุดัยบิยะฮฺ
ขณะนั้นท้องฟ้ายังคงมืดอยู่ครั้นพอนมาซเสร็จท่านนบีมุหัมมัดหันหน้ามายังพวกเราพลางกล่าวว่า
พวกท่านรู้ไหมพระผู้อภิบาลของท่านตรัสว่าอย่างไร? บรรดาเศาะหาบะฮฺ
กล่าวว่าพระองค์อัลลอฮฺ และรสูลของพระองค์ทราบดียิ่ง! ท่านรสูลกล่าวว่า
พระผู้อภิบาลกล่าวว่า ส่วนหนึ่งจากบ่าวของฉันกลายเป็นผู้ศรัทธาต่อฉัน
และเป็นผู้ปฏิเสธสิ่งอื่น, บุคคลหนึ่งจะกล่างว่า
ฝนตกมายังเราเนื่องจากความโปรดปรานของพระองค์
เช่นนี้แหละเขาศรัทธาต่อฉันและปฏิเสธดวงดาว, ส่วนบุคคลที่กล่าวว่า
ฝนตกมายังเราเป็นเพราะดวงดาวโคจรอย่างนั้นโคจรอย่างนี้
เช่นนี้แหละเขาได้ปฏิเสธต่อฉันและศรัทธาต่อดวงดาวแทน
หะดีษข้างต้นได้กล่าววถึงการศรัทธาต่อพระองค์อย่างมั่นคงและจริงจัง
สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลกดุนยานี้ถือเป็นความเดชานุภาพของพระองค์
ทุกอย่างมากอัลลอฮฺและจะต้องกลับสู่พระองค์ ดังนั้นมุสลิมจึงต้องมอบหมายการงานต่างๆ
แด่พระองค์อัลลอฮฺทั้งสิ้นไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม
จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมมุสลิมจึงไม่เชื่อเกี่ยวกับการแตกฉานของปัญญาที่มาจากหญ้าแพรก
หรือการมีสติปัญญาอันแหลมคมที่มาจากดอกเข็ม
หรือการรักษาวิชาความรู้โดยไม่สูญหายดั่งความเค็มที่ไม่สูญหายไปจากเกลือ
หรือความเชื่ออื่นๆ
ซึ่งแนวความเชื่อของมุสลิมย่อมมาจากพระเจ้าทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการได้รับมาซึ่งความรู้ ความจำ หรือการรักษาความรู้มิให้สูญหาย
ล้วนเป็นสิทธิของพระเจ้าทั้งส้น มนุษย์มีหน้าที่ในการศึกษาแสวงหาความรู้
ส่วนอำนาจแห่งการจำ อำนาจแห่งความเฉลียวฉลาดอยู่ที่พระองค์ทั้งสิ้น
นี่คือความเชื่อเดียวของมุสลิมอันเป็นหลักยึดที่แน่วแน่และตลอดไป
อีกทั้งพิธีกรรมไหว้ครูเป็นของศาสนาอื่นอีกด้วย
หากว่าเป็นเรื่องพิธีกรรมของศาสนาอื่นแล้วยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง
เพราะถือว่าเป็นข้อห้ามโดยดุษฎี ดังหลักฐานจากพระองค์อัลลอฮฺที่ตรัสว่า
สำหรับศาสนาของพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน
การจัดพานเพื่อประกอบพิธีไหว้ครูของนักเรียนในปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้
สิ่งที่ต้องเตรียมล่วงหน้าสำหรับนักเรียน
- พานดอกไม้ มีดอกไม้ประดับด้วยหญ้าแพรก และดอกมะเขือ จัดให้สวยงามตามสมควร ชั้นละ 1 พาน (หรือมากกว่า)
- ธูปเทียน ชั้นละ 1 ชุด (หรือมากกว่า)
- กำหนดตัวนักเรียนผู้ถือพานดอกไม้และธูปเทียน ชั้นละ 1 คน (หรือมากกว่า)
- ให้นักเรียนท่องจำคำไหว้ครูและบทสวดมนต์
- เลือกนักเรียน 1 คน เป็นผู้กล่าวนำคำไหว้ครู
การจัดพานดอกไม้เพื่อประกอบพิธีไหว้ครูโดยมีหญ้าแพรกและดอกมะเขือ
โดยกระทำสืบทอดกันมาในสมัยก่อน จวบจนปัจจุบันยังคงกระทำอย่างต่อเนื่อง
ใช่แต่เพียงรูปแบบและสิ่งของที่เหมือนกันเท่านั้น
ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการจัดพานดอกไม้ไหว้ครูอีกด้วย
เพราะความเชื่อที่ว่าสติปัญญาจะได้แตกฉานเฉกเช่นหญ้าแพรกยังคงมีอยู่
แลความรู้มากดั่งเมล็ดมะเขือยังมีความเชื่อเช่นนั้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ซึ่งมุสลิมจะมีความเชื่อเช่นนั้นมิได้โดยเด็ดขาด (ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้)
หลักฐานที่อ้างว่าความรู้มาจากพระองค์อัลลอฮฺ
ก็เนื่องจากท่านนบีมุหัมมัดกำชับให้มุสลิมขอดุอาอฺเพิ่มพูนความรู้ว่า
ร็อบบิ ซิดนีย์ อิลมัน
ความว่า
โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ฉันด้วยเถิด
จึงสรุปในช่วงนี้ว่า เพียงรายละเอียดของพิธีกรรมไหว้ครู
มุสลิมก็ทราบแน่ชัดแล้วว่า เป็นที่มาอันอยู่บนพื้นฐานของหลักความเชื่อ
ความศรัทธาของศาสนิกอื่นที่ไม่ใช่เป็นหลักการของศาสนาอิสลาม,
ส่วนที่จะกล่าวต่อไปจะยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า
ทำไมมุสลิมจึงร่วมพิธีกรรมไหว้ครูในปัจจุบันดังต่อไปนี้
จัดสถานที่เพื่อประกอบพิธีไหว้ครู
- ตั้งโต๊ะหมู่ที่บูชาพระพุทธไว้ในที่สูง บนเวทีทางด้านหน้าของที่ประชุม ข้างหน้าที่บูชามีกระถางธูป เชิงเทียน และโต๊ะเล็กเพื่อวางพาน ดอกไม้ และธูปเทียนที่นักเรียนนำมาบูชา
- จัดหาหนังสือสำหรับให้ผู้เป็นประธานเจิมไว้บนพาน และวางไว้บนโต๊ะเล็กหน้าที่บูชา
- ข้างที่บูชาบนเวที จัดที่นั่งของผู้เป็นประธาน และครูอาจารย์
- จัดให้นักเรียนนั่งในห้องประชุมก่อนพิธี เมื่อผู้เป็นประธาน และครูอาจารย์เข้านั่งยังที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มพิธี
บทสวดมนต์ไหว้พระก่อนไหว้ครู
(อาจารย์กล่าวนำ นักเรียนกล่าวตาม)
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ(กราบ)
สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ(กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต
สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ(กราบ)
ความว่า
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสเรื่องเศร้าหมอง
ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพเจ้าขออภิวาทพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาค
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์
คำไหว้ครู
ปาเจราจะริยา โหนติ คุณุตะรานะสาสะกา
ความว่า
ครูบาอาจารย์เป็นผู้ทรงคุณอันยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยา
(สวดทำนองสรภัญญะ)
ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ข้าฯและประเทศไทย เทอญฯ
(นำสรุป)
ปัญญาวุฑิกะเรเตเต ทินโนวาเท นะมามิหัง
ความว่า
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมครูบาอาจารย์เหล่านั้น ผู้ให้โอวาท
ผู้ทำปัญญาให้เจริญ
ผู้เขียนได้แปลให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อความมากยิ่งขึ้น
เพราะเนื้อความบางตอนเป็นเนื้อหาที่ขัดกับหลักการของศาสนาในด้านอะกีดะฮฺ ดังนี้
ฉันขอน้อมไหว้สักการะครูอาจารย์ที่อยู่เบื้องหน้า
ผู้ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการศึกษาและทำให้รู้วิชาต่างๆ
อีกทั้งอบรมจริยธรรมของฉันในยุคปัจจุบัน ฉันขอเคารพกราบไหว้
และนึกถึงคุณงามความดีอันมากมายด้วยจิตใจใฝ่แสดงความเคารพ(ด้วยเครื่องสักการะ)
ฉะนั้น จึงขออำนาจของความเป็นผู้สนองคุณต่อครู
และขออำนาจของความเพียรพยายามต่อการทำให้ปัญญาแตกฉาน
อีกทั้งทำให้การศึกษาได้ลุล่วงถึงความสำเร็จ มีอายุยืน
ก่อให้เอยู่ในครรลองของจริยธรรมอันดีงามซึ่งทำให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี
ประโยชน์มากมายแก่ประเทศชาติและเมืองไทยด้วยเทอญ
ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมไหว้ครูเพื่อให้ผ็อ่านได้เห็นภาพรวมๆแต่ผู้เขียนขอหยิบยกช่วงที่มีเนื้อความว่า
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ความว่า
ขออำนาจของความเป็นผู้สนองคุณต่อครู และขออำนาจของความเพียรพยายาม
ต่อการทำให้ปัญญาแตกฉาน
เพราะประโยคข้างต้นเป็นการขอวิงวอนต่ออำนาจอื่นซึ่งมิใช่ขอวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ
เช่นนี้แล้ว มุสลิมจึงกล่าวประโยคนั้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด
ซึ่งถือว่าเป็นการวิงวอนสิ่งอื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ
เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการทำชิริกฺ(การตั้งภาคี) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ
และถือว่าเป็นบาปใหญ่
ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของมัสอูดฺ ถามท่านนบีมุหัมมัดว่า
บาปใดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ พระองค์อัลลอฮฺ? ท่านนบีมุหัมมัดตอบว่า
การที่ท่านตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺทั้งๆที่พระองค์ทรงสร้างท่านมา
สรุปว่ามุสลิมจะเข้าร่วมพิธีการไหว้ครูไม่ได้อย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดทั้งสิ้น
เพราะนี่ถือเป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นเรื่องของพิธีกรรม
และเป็นเรื่องของศาสนาอื่นซึ่งมิใช่เป็นคำสอน หรือบทบัญญัติของอิสลาม
อิสลามมิได้สอนเพียงแค่การปฏิเสธความเชื่อ ความศรัทธาเท่านั้น
แต่อิสลามได้สอนถึงการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอื่น
หรือคำสอนของผู้นำทางศาสนาอื่นด้วยเช่นกัน
จากท่านอฺะดีย์ บุตรของหาติมกล่าวว่า ฉันมาหาท่านนบีมุหัมมัด
ขณะนั้นฉันแขวนไม้กางเขนที่ทำมาจากทอง ท่านนบีมุหัมมัดจึงกล่าวว่า
ท่านจงโยนทิ้งรูปเจว็ดนั้นเถิด(หมายถึงรูปไม้กางเขน)
และฉันได้ยินท่านนบีอ่านอายะฮฺที่ว่า
พวกเขาได้ยึดเอาพวกนักพรตของพวกเขา
และบาทหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้าอื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ
ท่านนบีกล่าวต่อว่า แท้จริงผู้คนมิได้เคารพกราบไหว้พวกเขา (พวกนักพรต,
บาทหลวง) หรอก! แต่ทว่าเมื่อพวกเขาทำให้สิ่งหนึ่งเป็นที่อนุมัติ
ผู้คนก็ทำให้สิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติไปด้วย,
และเมือพวกเขาทำให้สิ่งหนึ่งเป็นที่ต้องห้าม
ผู้คนก็ทำให้สิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้ามตามไปด้วย
จากหะดีษข้างต้นชี้ชัดว่าหากมุสลิมแขวนสิ่งที่เคารพนับถือของศาสนิกอื่น
อิสลามก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ถึงแม้ว่ามุสลิมผู้นั้นไม่มีจิตใจศรัทธาก็ตาม
ดังนั้นเมื่อมีบุคคลหนึ่งกล่าวว่า
มุสลิมยืนร่วมพิธีกรรมไหว้ครูโดยไม่ต้องยกมือและไม่ต้องกล่าวบทสวดก็ถือว่ากระทำได้
คำกล่าวข้างต้นจึงเป็นการกล่าวที่เบาความ
เพราะการยืนร่วมพิธีกรรมของศาสนิกอื่นโดยจิตใจของมุสลิมผู้นั้นจะไม่ศรัทธาก็ตาม
ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมไหว้ครู, พิธีศพ, พิธีแต่งงาน
และพิธีกรรมอื่นๆ
อีกประการหนึ่ง หากพิธีกรรมต่างๆหรือความเชื่อต่างๆที่มาจากนักพรต,
บาทหลวง, หรือผู้นำทางศาสนิกอื่น ไม่อนุญาตให้บรรดามุสลิมปฏิบัติอย่างเด็ดขาด
ดังนั้นพิธีกรรมไหว้ครูอันมีที่มาจากผู้นำทางศาสนาอื่นท่านนบีมุหัมมัดจึงสั่งห้ามมุสลิมกระทำตามพวกเขาเหล่านั้น
เพราะประการหนึ่งยึดพวกเขาเป็นพระเจ้า
และการเคารพกราบไหว้พวกเขามิใช่ว่าทำท่าการกราบไหว้เท่านั้น
หากแต่มุสลิมปฏิบัติสิ่งที่พวกเขาได้เสนอแนะนั่น เท่ากับเขาได้เคารพกราบไหว้แล้ว
และนับประสาอะไรกับพิธีกรรมไหว้ครูที่ผู้นำของศาสนาอื่นได้กระทำขึ้นมาแล้วมุสลิมได้ร่วมพิธีกรรมดังกล่าว
ดังนั้นผู้ปกครองมุสลิม นักเรียน
และนักศึกษามุสลิมจำเป็นจะต้องชี้แจงให้บรรดาครูอาจารย์ซึ่งเป็นศาสนิกอื่นได้ทราบถึงสิ่งดังกล่าว
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องศาสนา
และบรรเทาความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับศาสนิกอื่น ซึ่งต้องอยู่ร่วมปะปนสังคมเดียวกัน
พิธีกรรมไหว้ครู ในอิสลามมีหรือไม่?
ศาสนาอิสลามมีความเคร่งครัดในเรื่องการปฏิบัติ
หรือเรียกว่าพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ถือว่าการกระทำอะไรก็ตามจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงบัญชาใช้
และสิ่งที่ท่านนบีมุหัมมัดได้นำมาปฏิบัติเท่านั้น
ส่วนการปฏิบัติใดที่ไม่มีแบบอย่างจากท่านนบีมุหัมมัดในด้านศาสนกิจ
มุสลิมถือว่าจะกระทำสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอันขาด
จงกล่าวเถิดมุหัมมัด พวกท่านจงเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์อัลลอฮฺ
และศาสนฑูต แต่ถ้าหากพวกท่านผินหลังดังนั้น แท้จริงพระองค์อัลลฮฺมิทรงรักผู้ปฏิเสธ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวว่า
บุคคลใดก็ตามที่กระทำกิจการใหม่(ในด้านศาสนา) ซึ่งไม่มีในกิจการงานของเรา
ถือว่ากิจการงานนั้นโมฆะ
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า สิ่งใดก็ตามในเรื่องของศาสนาซึ่งไม่มีที่มาจากอัลลอฮฺ
และท่านนบีมุหัมมัดถือว่าไม่อนุญาตให้กระทำอย่างเด็ดขาด
ยิ่งกรณีที่นำเอาพิธีกรรมของศาสนาอื่นมาเจือปน
หรือกระทำพิธีกรรมของศาสนาอื่นยิ่งต้องห้ามอย่างไม่ต้องสงสัย
ฉะนั้น คำถามข้างต้นที่ถามว่า พิธีกรรมไหว้ครู ในอิสลามมีหรือไม่?
จึงขอชี้แจงว่านบีมุหัมมัดถือว่าเป็นครูของมนุษยชาติ
แต่ท่านนบีเองก็ไม้เคยที่จะให้ใครประกอบพิธีไหว้ครู หรือรำลึกถึงครู
หรือสั่งใช้ให้ปฏิบัติต่อครูในวันที่ถูกกำหนดไว้
ทั้งหลักฐานจากหะดีษ(วจนะของท่านนบี)
ก็ไม่พบว่าอนุญาตให้ส่งเสริมการประกอบพิธีไหว้ครู
แม้กระทั่งเหล่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ(คือสหายของท่านนบีมุหัมมัด)
ก็มิได้กระทำสิ่งดังกล่าวแม้แต่คนเดียว
นัยความเป็นจริง
ครูคือผู้ชี้นำให้ผู้คนทำการอิบาดะฮฺ(คือการเคารพภักดี)ต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น
ผู้เป็นครูจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้คนเข้าใจศาสนาของพระองค์
ครูจึงเสมือนตัวแทนของพระเจ้า เป็นผู้ชี้นำทางที่ถูกต้อง
เป็นแบบอย่างอันดีงามให้แก่คนทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้
ครูในทัศนะอิสลามจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดพิธีไหว้ครู
เพราะการกราบไหว้จะกระทำได้เฉพาะกับพระองค์อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นจะจัดให้แก่ครูไม่ได้
อีกทั้งไม่มีคำสั่งใช้จากพระองค์อัลลอฮฺ และแบบอย่างของท่านนบีมุหัมมัด
จึงเป็นมติเอกฉันท์ว่า การจัดพิธีไหว้ครูจึงไม่มีแบบอย่างให้กระทำ
ถ้าเช่นนั้นลูกศิษย์จะตอบแทนครูอย่างไร?
ในทัศนะของอิสลาม
การตอบแทนความดีให้แก่ครูซึ่งสอนลูกศิษย์ด้วยความอุตสาหะและความตั้งใจ
สามารถทำได้ดังนี้
1.เชื่อฟังครู ตราบเท่าที่ครูไม่สอนให้ฝ่าฝืนคำสั่งของศาสนา
การเชื่อฟังครู เป็นสิทธิ์ของผู้ที่เรียน จำเป็นต้องเชื่อฟังครูผู้สอน
หากแต่ว่าครูได้สั่งให้ปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับหลักการ และบทบัญญัติของศาสนา
เช่นนี้อนุญาตให้ฝ่าฝืนครูผู้สอนได้
และการฝ่าฝืนครูที่สอนหรือการบังคับให้ปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา
ไม่ถือว่าเป็นการเนรคุณต่อครูอาจารย์
เพราะถือว่าคำสอนหรือการบังคับของครูจะต้องไม่นอกเหนือคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า
อีกทั้งท่านนบีมุหัมมัดยังได้กล่าวไว้อีกว่าไม่มีการเชื่อฟังสิ่งที่ถูกสร้าง
ให้ฝ่าฝืนผู้สร้าง ยกตัวอย่างเช่นครูสั่งให้ลูกศิษย์ไปซื้อสุรา
หรือครูสอนให้ขโมยสิ่งของผู้อื่น เช่นนี้เป็นต้น
2.ให้เกียรติแก่ครู
อิสลามสอนให้ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ให้เกียรติแก่ครูอาจารย์
ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม
จากท่านอุบาดะฮฺ บุตรของศอมิตฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
ไม่ถือว่าเป็นประชาชาติของฉัน สำหรับบุคคลที่ไม่ให้เกียรติต่อผู้อาวุโสของเรา,
ผู้ที่ไม่เมตตาเยาวชนของเรา และผู้ไม่รู้จักสิทธิต่อผู้มีความรู้ของเรา
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า
พวกท่านจงนอบนอมต่อบุคคลที่ศึกษาความรู้จากเขา
จากท่านอบู อุมามะฮฺ จากท่านนบีมุหัมมัดกล่าวว่า
บุคคล 3
ประเภทที่จะต้องให้ความสำคัญ
นอกจากมุนาฟิก(ผู้กลับกลอกที่ไม่ให้ความสำคัญ)ผู้อาวุโสที่อยู่ในครรลองของอิสลาม,
ผู้มีความรู้ และผู้นำที่ยุติธรรม
3.นอบน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์
จากท่านอบู ฮูร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า
พวกท่านจงนอบน้อมต่อบุคคลที่ศึกษาความรู้จากเขา
ท่านอิมามชาฟิอีย์ กล่าวว่า
ฉันเคยยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งต่อหน้าท่านอิมามมาลิกฺ ด้วยความนอบน้อมและด้วยความเคารพ
โดยหวังว่าไม่ทำให้เขาได้ยินเสียงหล่นของกระดาษ
4.ตั้งใจฟังสิ่งที่ครูกำลังสอน
การตั้งใจฟังในสิ่งที่ครูสอน ถือว่าเป็นมารยาทของผู้เรียนที่มีต่อครู
ซึ่งมีรายงานหะดีษบทหนึ่งกล่าวในทำนองที่ว่า
บรรดาเศาะหาบะฮฺนั่งฟังท่านนบีมุหัมมัดสอนอย่างสงบนิ่ง
จนนกมาเกาะที่ศีรษะของพวกเขาโดยนึกว่าเป็นตอไม้ นี่ก็แสดงให้เห็น
ถึงการตั้งใจฟังคำสอนของอิสลาม อีกทั้งยังแสดงออกถึงการให้เกียรติแก่ผู้สอนอีกด้วย
อิสลามส่งเสริมการให้เกียรติและเชื่อฟังครูผู้สอนตราบเท่าที่ครูผู้สอนไม่สั่งสอนหรือบังคับให้กระทำในสิ่งที่สวนทางกับคำสอนของอิสลาม
โดยไม่พิจารณาว่าผู้สอนจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม
ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งสิ้น