ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

การใช้แผนที่

ประวัติและความเป็นมาของแผนที่
ความสำคัญและประโยชน์ของแผนที่
การจำแนกชนิดของแผนที่
การแสดงข้อมูลในแผนที่

การจำแนกชนิดของแผนที่

ปัจจุบันการจำแนกชนิดของแผนที่ อาจจำแนกได้หลายแบบแล้วแต่จะยึดถือสิ่งใดเป็นหลักในการจำแนก เช่น

การจำแนกชนิดของแผนที่ตามลักษณะที่ปรากฏบนแผนที่ แบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

  1. แผนที่ลายเส้น ( Line Map ) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดในพื้นที่ด้วยเส้นและองค์ประกอบของเส้น ซึ่งอาจเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง ท่อนเส้น หรือเส้นใด ๆ ที่ประกอบเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถนนแสดงด้วยเส้นคู่ขนาน อาคารแสดงด้วยเส้นประกอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม สัญลักษณ์ที่แสดงรายละเอียดเป็นรูปที่ประกอบด้วยลายเส้น แผนที่ ลายเส้นยังหมายรวมถึงแผนที่แบบแบนราบและแผนที่ทรวดทรง ซึ่งถ้ารายละเอียดที่แสดงประกอบด้วยลายเส้นแล้วถือว่าเป็นแผนที่ลายเส้นทั้งสิ้น
  2. แผนที่ภาพถ่าย ( Photo Map ) เป็นแผนที่ซึ่งมีรายละเอียดในแผนที่ที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพ ซึ่งอาจถ่ายภาพจากเครื่องบินหรือดาวเทียม การผลิตแผนที่ทำด้วยวิธีการนำเอาภาพถ่ายมาทำการดัดแก้ แล้วนำมาต่อเป็นภาพแผ่นเดียวกันในบริเวณที่ต้องการ แล้วนำมาใส่เส้นโครงพิกัด ใส่รายละเอียดประจำขอบระวาง แผนที่ภาพถ่ายสามารถทำได้รวดเร็ว แต่การอ่านค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยเครื่องมือและความชำนาญ
  3. แผนที่แบบผสม ( Annotated Map ) เป็นแบบที่ผสมระหว่างแผนที่ลายเส้นกับแผนที่ภาพถ่าย โดยรายละเอียดที่เป็นพื้นฐานส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดที่ได้จากการถ่ายภาพ ส่วนรายละเอียดที่สำคัญ ๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ถนนหรือเส้นทาง รวมทั้งอาคารที่ต้องการเน้นให้เห็นเด่นชัดก็แสดงด้วยลายเส้น พิมพ์แยกสีให้เห็นเด่นชัดปัจจุบันนิยมใช้มาก เพราะสะดวกและง่ายแก่การอ่าน มีทั้งแบบแบนราบ และแบบพิมพ์นูน ส่วนใหญ่มีสีมากกว่าสองสีขึ้นไป

การจำแนกชนิดของแผนที่ตามขนาดของมาตราส่วน
ประเทศต่าง ๆ อาจแบ่งชนิดของแผนที่ตามขนาดมาตราส่วนไม่เหมือนกัน ที่กล่าวต่อไปนี้เป็นการแบ่งแผนที่ตามขนาดมาตราส่วนแบบหนึ่งเท่านั้น

  1. แบ่งมาตราส่วนสำหรับนักภูมิศาสตร์
    - แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนเล็กว่า 1:1,000,000
    - แผนที่มาตราส่วนกลาง ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนตั้งแต่ 1:250,000 ถึง 1:1,000,000
    - แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่า 1:250,000
  2. แบ่งมาตราส่วนสำหรับนักการทหาร
    - แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่ แผนที่มาตราส่วน 1:600,000 และเล็กกว่า
    - แผนที่มาตราส่วนกลาง ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่า 1:600,000 แต่เล็กกว่า 1:75,000
    - แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนตั้งแต่ 1:75,000 และใหญ่กว่า

การจำแนกชนิดแผนที่ตามลักษณะการใช้งานและชนิดของรายละเอียดที่แสดงไว้ในแผนที่

  • แผนที่ทั่วไป (General Map) เป็นแผนที่พื้นฐานที่ใช้อยู่ทั่วไปหรือที่เรียกว่า Base map
    - แผนที่แสดงทางราบ (Planimetric Map) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดที่ปรากฏบนผิวโลกเฉพาะสัณฐานทางราบเท่านั้น
    - แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดทั้งทางแนวราบและแนวดิ่ง หรืออาจแสดงให้เห็นเป็น 3 มิติ
  • แผนที่พิเศษ (Special Map or Thematic Map) สร้างขึ้นบนแผนที่พื้นฐาน เพื่อใช้ในกิจการเฉพาะอย่าง

การจำแนกตามมาตรฐานของสมาคมคาร์โตกร๊าฟฟี่ระหว่างประเทศ(ICA) สมาคมคาร์โตกร๊าฟฟี่ระหว่างประเทศ ได้จำแนกชนิดแผนที่ออกเป็น 3 ชนิด

  1. แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) รวมทั้งผังเมืองและแผนที่ภูมิศาสตร์ เป็นแผนที่ที่ให้รายละเอียด โดยทั่วๆ ไป ของภูมิประเทศ โดยสร้างเป็นแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วนขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ และได้ข้อมูลมาจากภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่มาตราส่วนเล็กบางทีเรียกว่าเป็นแผนที่ภูมิศาสตร์ (Geographical map) แผนที่ทั่วไป (General map) และแผนที่มาตราส่วนเล็กมากๆ ก็อาจอยู่ในรูปของแผนที่เล่ม (Atlas map)
  2. ชาร์ตและแผนที่เส้นทาง (Charts and road map) เป็นแผนที่ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือประกอบการเดินทาง โดยปกติจะเป็นแผนที่มาตราส่วนกลาง หรือมาตราส่วนเล็ก และแสดงเฉพาะสิ่งที่เป็นที่น่าสนใจของผู้ใช้ เช่น ชาร์ตเดินเรือ ชาร์ตด้านอุทกศาสตร์ เป็นต้น
  3. แผนที่พิเศษ (Thematic and special map) ปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสามารถใช้ประกอบการทำวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ การวางแผนและใช้ในงานด้านวิศวกรรม แผนที่ชนิดนี้จะแสดงข้อมูลเฉพาะเรื่องลงไป เช่น แผนที่ดิน แผนที่ประชากร แผนที่พืชพรรณธรรมชาติ แผนที่ธรณีวิทยา เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวมานี้ เรายังสามารถจำแนกแผนที่โดยยึดหลักเกณฑ์อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ ครั้งที่พิมพ์ ฯลฯ แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะหลักเกณฑ์ ไม่แน่นอน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย