ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีภาคใต้

ตัวอย่างการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีชุมชนโคกพลับ
สภาพชีวิตของคนในชุมชนโบราณโคกพลับ
สิ่งที่ขุดค้นพบที่โคกพลับ ตำบลโพหัก

สภาพชีวิตของคนในชุมชนโบราณโคกพลับ

จากหลักฐานที่ค้นพบเชื่อว่าโคกพลับเจริญยาวนานมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี เพราะจากสภาพศพที่ฝังซ้อนกันอย่างหนาแน่น ตลอดแนวความลึกประมาณ2 เมตร มิใช่การประกอบพิธีฝังศพในคราวเดียว แต่เป็นการฝังที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมานับศตวรรษ ศพทุกศพถูกฝังอย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของคนในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน ศพถูกฝังในท่านอนหงายอย่างสบาย แขนวางแนบลำตัว ขาเหยียดยาว หน้าหงายมองฟ้า ศพฝังโดยไม่ใส่โลง แต่หลุมที่ฝังนั้นขุดอย่างเรียบร้อยตามรูปร่างลำตัวคน มีการใส่สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และอาหารลงในหลุม

จากสภาพศพที่ฝังไว้ทำให้เห็นว่าคนในชุมชนแห่งนี้มีฐานะความเป็นอยู่ต่างๆกัน บางศพจะมีสิ่งของฝังรวมไว้จำนวนมาก แต่บางศพก็มีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย สำหรับการเลือกสถานที่ฝังศพนั้นจะกระทำอย่างประณีต โดยเฉพาะที่โคกพลับจะพบโครงกระดูกฝังรวมกันอย่างหนาแน่น ศพที่ฝังไว้ที่นี่จะถูกเนื้อดินรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ไม่มีการผุกร่อนหรือเปื่อยยุ่ย

 

แสดงว่าดินของที่นี่มีคุณสมบัติในการรักษาโครงกระดูกไว้ได้อย่างดี ดินที่นี่มีลักษณะเป็นดินดำแข็ง ปนทรายละเอียดส่วนล่างสุดเป็นทรายล้วนๆ เนื้อทรายละเอียดสีขาว และสีเหลือง ซึ่งจะเรียกว่าทรายเงินและทรายทองก็คงไม่ผิด คติการฝังศพในทรายนี้น่าจะเกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ริมทะเลซึ่งมีชายหาด เนินดินที่โคกพลับมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหากแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งสร้างขึ้นตามหลักความเชื่อของคนในชุมชน เรียกได้ว่าโคกพลับคือสุสานของคนโบราณที่สร้างขึ้นด้วยความเฉลียวฉลาดของคนในสมัยนั้น และคงต้องใช้เวลาสร้างนานพอสมควร

การศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของมนุษย์โบราณที่โคกพลับเป็นการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่จะได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษว่าสืบทอดต่อกันมาอย่างไร มิได้ศึกษาเพื่อค้นหาของมีค่าไปขายเป็นประโยชน์เฉพาะตนแต่อย่างใด หลายคนอาจมองว่าวัตถุโบราณที่โคกพลับเป็นของไม่มีค่า ขายไม่ได้ แต่ในทางการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล หากท่านเคยเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ท่านจะได้เห็นภาพถ่ายขนาดใหญ่เป็นภาพโครงกระดูกมนุษย์นอนหงายเหยียดยาวอยู่ในหลุม บนศีรษะมีภาชนะดินเผาครอบอยู่คล้ายหมวก แสดงรวมอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จริงก็จะบอกว่าภาพนั้นคือโครงกระดูกที่บ้านเชียง แต่คนโพหักจะรู้สึกภูมิใจอย่างเงียบๆว่าแท้จริงแล้วภาพนั้นคือโครงกระดูกที่ขุดพบที่โคกพลับ ตำบลโพหัก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย