ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
โครงสร้างของคณิตศาสตร์
คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์เป็นอันมาก มนุษย์เริ่มเรียนรู้แนวทางคณิตศาสตร์จากสภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติแล้วนำไปสู่การสรุปเป็นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์โดยตรงมักจะเข้าใจว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องของตัวเลขและการคำนวณเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่หมายรวมไปถึงการแก้ปัญหาและการให้เหตุผลด้วย คณิตศาสตร์นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ
ดังนั้นในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์จึงจำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของคณิตศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการเลือกวิธีที่จะศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของคณิตศาสตร์ต่อไป
1 ธรรมชาติของคณิตศาสตร์
นักการศึกษาทางคณิตศาสตร์ได้สรุปประเด็นธรรมชาติของคณิตศาสตร์ที่สำคัญ
ๆ ไว้ดังนี้
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความคิดรวบยอด
ในวิชาคณิตศาสตร์มีการสร้างความคิดต่าง ๆ
ขึ้นซึ่งความคิดเหล่านี้ได้มาจากการสรุปความคิดเห็นที่เหมือน ๆ กัน
ซึ่งอาจจะได้จากประสบการณ์หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เรียกว่า ความคิดรวบยอด
เช่น ความคิดรวบยอดเรื่องการเท่ากันของจำนวน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
การเท่ากันทุกประการ เป็นต้น
ซึ่งในแต่ละเนื้อหาของวิชาคณิตศาสตร์เมื่อผู้เรียนได้ศึกษาและจะต้องเกิดความคิดรวบยอดขึ้นในเนื้อหานั้น
ๆ จึงจะเกิดประโยชน์
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผล
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีการแสดงแนวคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน
การสรุปในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีการอ้างอิงเหตุผลอย่างสมเหตุสมผล
ทุกขั้นตอนในแต่ละเนื้อหาจะเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
มนุษย์จึงสามารถใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ ๆ
และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้
คณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นสากล
ในวิชาคณิตศาสตร์จะมีการกำหนดสัญลักษณ์ขึ้นใช้เพื่อสื่อความหมาย
ซึ่งทำให้สามารถเขียนข้อความทางคณิตศาสตร์ได้รัดกุม ชัดเจน สื่อความหมายได้ถูกต้อง
เกิดความเข้าใจตรงกัน จึงนับได้ว่าคณิตศาสตร์มีภาษาเฉพาะของตัวเอง
เป็นภาษาที่ทุกคนที่เรียนคณิตศาสตร์เข้าใจตรงกัน เช่น log 10 = 1 เป็นต้น
คณิตศาสตร์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
ในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์นั้น
นักคณิตศาสตร์นอกจากจะเป็นนักคิดแล้วจำเป็นต้องเป็นผู้มีจิตนาการ ช่างสังเกต
มีความละเอียดรอบคอบ รู้จักเลือกคำอนิยาม บทนิยาม สัจพจน์
และทฤษฎีบทมาใช้ได้อย่างถูกต้อง
ตามลำดับก่อนหลังพร้อมทั้งการให้เหตุผลอย่างสมเหตุสมผล
รวมถึงการถ่ายทอดสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วออกมาอย่างมีระบบระเบียบ
เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน
พอจะสรุปได้ว่าความงามของคณิตศาสตร์อยู่ที่ความมีระเบียบ
ความกลมกลืนของแนวคิดตลอดจนความละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีโครงสร้าง
โครงสร้างของคณิตศาสตร์ที่สมบูรณ์นั้นมีกำเนิดมาจากธรรมชาติ
โดยมนุษย์ได้เฝ้าสังเกตความเป็นไปของธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นทางชีววิทยา ฟิสิกส์
จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ โดยพิจารณาปัญหาต่าง ๆ
ของเนื้อหาเหล่านั้นแล้วสรุปในรูปนามธรรม สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของเนื้อหานั้น
ๆ ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประกอบด้วย คำอนิยาม คำนิยาม และสัจพจน์
จากนั้นจึงใช้ตรรกศาสตร์สรุปออกมาเป็นกฎหรือทฤษฎีบท
แล้วนำกฎหรือทฤษฎีบทเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในธรรมชาติต่อไป
ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้นและในขณะที่นำกฎหรือทฤษฎีบทไปประยุกต์ใช้กับธรรมชาติ
อาจจะได้ข้อมูลใหม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลอง จนกระทั่งอาจจะ
ทำให้ได้กฎหรือทฤษฎีบทที่ดีกว่าเดิม
แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ดังแผนภูมิต่อไปนี้
2 โครงสร้างของคณิตศาสตร์
โครงสร้างของคณิตศาสตร์ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
- คำอนิยาม คำอนิยาม (undefined term) หมายถึงคำที่ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ แต่สามารถเข้าใจความหมายได้ โดยอาศัยการรับรู้จากประสบการณ์ ความคุ้นเคยกับคุณสมบัติของมัน เช่น จุด เส้น ระนาบ เป็นต้น
- คำนิยาม คำนิยาม (defined term) หมายถึงคำที่สามารถให้คำจำกัดความได้ เช่น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วงกลม เส้นขนาน เป็นต้น
- สัจพจน์ สัจพจน์ (postulate) หมายถึงข้อความที่ยอมรับหรือตกลงว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ เช่น เส้นตรงสองเส้นตัดกันที่จุดเพียงจุดเดียวเท่านั้น ลากเส้นตรงให้ผ่านจุดสองจุดที่แตกต่างกันได้เพียงเส้นเดียวเท่านั้น
- ทฤษฎีบท ทฤษฎีบท (theorem) หมายถึงข้อความที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง ซึ่งในการพิสูจน์อาจใช้คำอนิยาม คำนิยาม สัจพจน์ หรือทฤษฎีบทอื่น ๆ ที่ได้พิสูจน์มาแล้ว เช่น มุมภายในรูปสามเหลี่ยมรวมกันเท่ากับ 180 องศา เส้นตรงสองเส้นตัดกันมุมตรงข้ามย่อมเท่ากัน
3 ระบบคณิตศาสตร์
ระบบคณิตศาสตร์มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ โครงสร้างของคณิตศาสตร์
และ กระบวนการให้เหตุผล สำหรับโครงสร้างของคณิตศาสตร์ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ 2
ในหัวข้อ 3 จะกล่าวถึงเฉพาะกระบวนการให้เหตุผล
กระบวนการให้เหตุผล (reasoning)
เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ
โดยการนำเอาความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในระบบ ซึ่งเรียกว่า
เหตุหรือข้อตั้ง (premise) มาวิเคราะห์แจกแจงแสดงความสัมพันธ์
เพื่อให้เกิดความจริงอันใหม่ขึ้น ซึ่งเรียกว่า ผล หรือ ผลสรุป หรือ ข้อยุติ
(conclusion)
กระบวนการให้เหตุผลแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้
1. การให้เหตุผลเชิงอุปนัย (inductive reasoning)
เป็นการสรุปความรู้ใหม่ หรือสรุปผลการค้นหาความจริง
โดยอาศัยข้อสังเกตหรือผลการทดลองหลาย ๆ ตัวอย่าง จากกรณีย่อย ๆ
แล้วสรุปเป็นความรู้แบบทั่วไป
ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการให้เหตุผลแบบนี้ไม่ได้ถูกบังคับจากเหตุที่กำหนดให้
เนื่องจากเหตุแต่ละเหตุที่กำหนดให้หรือนำมาอ้างอิงเป็นอิสระต่อกัน
ตัวอย่าง การให้เหตุผลเชิงอุปนัย
ตัวอย่าง 1 จงหาพจน์ที่ n ของ 1, 3, 5, 7, 9,
พิจารณาแต่ละพจน์ของลำดับต่อไปนี้
พจน์ที่ 1 คือ 1
พจน์ที่ 2 คือ 3 เขียนได้เป็น 1 + 2
พจน์ที่ 3 คือ 5 เขียนได้เป็น 1 + 2 + 2
พจน์ที่ 4 คือ 7 เขียนได้เป็น 1 + 2 + 2 + 2
พจน์ที่ 5 คือ 9 เขียนได้เป็น 1 + 2 + 2 + 2 + 2
จากการสังเกตจะเห็นว่า จำนวนของ 2 ที่บวกกับ 1
น้อยกว่าจำนวนที่แสดงลำดับที่ของพจน์อยู่ 1
ดังนั้นพจน์ที่ 100 คือ 1 บวกด้วย 2 อีก 99 ตัว
นั่นคือ พจน์ที่ 100 คือ 1 + (99 × 2) = 199
ดังนั้น พจน์ที่ n หรือรูปทั่วไปของลำดับ จึงหาได้จาก 1 + (n 1)2 = 2n 1
ดังนั้นลำดับ 1, 3, 5, 7, 9,
จึงเขียนเป็น 1, 3, 5, 7, 9,
, 2n 1
ตัวอย่าง 2 จากการสังเกตต้นมะพร้าวพบว่า
ต้นที่ 1 ไม่แตกกิ่ง
ต้นที่ 2 ไม่แตกกิ่ง
ต้นที่ 3 ไม่แตกกิ่ง
. .
. .
. .
ต้นที่ 100 ไม่แตกกิ่ง
จากสิ่งที่สังเกตจึงสรุปว่า ต้นมะพร้าวทุกต้นไม่แตกกิ่ง
โดยทั่ว ๆ ไป การให้เกตุผลแบบอุปนัย
นิยมใช้ในการศึกษาค้นคว้าคุณสมบัติต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อสรุปที่ว่า
สารสกัดที่ได้จาดสะเดาสามารถใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืชได้
เป็นข้อสรุปที่ได้จากการทดลองซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง แล้วได้ผลการทดลองตรงกัน
หรือในทางคณิตศาสตร์จะใช้ในเรื่องการสร้างสัจพจน์ เช่น
เมื่อทดลองลากเส้นตรงสองเส้นให้ตัดกัน จะพบว่า
เส้นตรงสองเส้นจะตัดกันเพยงจุดเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะทดลองลากกี่ครั้งก็ตาม
จึงสรุปได้ว่า เส้นตรงสองเส้นตัดกันเพียงจุดเดียวเท่านั้น
2. การให้เหตุผลเชิงนิรนัย (deductive reasoning)
เป็นการสรุปความรู้ใหม่ หรือ ข้อความจริงใหม่
ซึ่งเรียกว่าผลสรุปที่เป็นผลมาจากการนำข้อความที่กำหนดให้ซึ่งยอมรับว่าเป็นจริง
ซึ่งเรียกว่าเหตุ ถ้าถ้าเหตุที่กำหนดให้บังคับให้เกิดผลสรุป แสดงว่า
การให้เหตุผลดังกล่าวสมเหตุสมผล (valid)
แต่ถ้าเหตุที่กำหนดให้ไม่สามารถจะบังคับให้เกิดผลสรุปได้ แสดงว่า
การให้เหตุผลดังกล่าว ไม่สมเหตุสมผล (in valid)
ตัวอย่าง การให้เหตุผลเชิงนิรนัย
ตัวอย่าง 3 พิจารณาการให้เหตุผลต่อไปนี้
เหตุ
1. หมูเป็นสัตว์น้ำ
2. สัตว์น้ำทุกชนิดออกลูกเป็นตัว
ผลสรุป หมูออกลูกเป็นตัว
การให้เหตุผลดังกล่าวเป็นการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผล
เนื่องจากเหตุแต่ละเหตุที่นำมาอ้างอิงบังคับให้เกิดผลสรุป
ตัวอย่าง 4 พิจารณาให้เหตุผลต่อไปนี้
เหตุ
1. มนุษย์ทุกคนมีสองขา
2.ผู้หญิงทุกคนมีสองขา
ผลสรุป ผู้หญิงทุกคนเป็นมนุษย์
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า ผลสรุปเป็นความจริง
แต่เป็นการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะเหตุที่นำมาอ้างไม่สามารถบังคับให้เกิดผลสรุปดังกล่าวได้
เหตุแต่ละเหตุมีความเป็นอิสระไม่สัมพันธ์กันแต่ประการใด
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความคิดรวบยอด มีลักษณะเป็นนามธรรม
มีการกำหนดสัญลักษณ์ขึ้นใช้ซึ่งมีลักษณะเป็นภาษาสากล มีความเป็นศิลปะในตัวเอง
และมีโครงสร้างที่ชัดเจนซึ่งประกอบด้วย คำอนิยาม คำนิยาม สัจพจน์ และทฤษฎีบท
ซึ่งมนุษย์ได้นำคณิตศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ตลอดถึงการนำไปใช้ในการประกอบอาชีพต่างๆ
ระบบคณิตศาสตร์ประกอบด้วย โครงสร้างของคณิตศาสตร์
และกระบวนการให้เหตุผลซึ่งเป็นกระบวนการให้เหตุผลเชิงอุปนัย และนิรนัย
อ้างอิง
- วรรณี ธรรมโชติ, ผศ. โครงการตำราวิชาการราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระ
- เจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี : หลักการคณิตศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : หจก.ภาพพิมพ์, 2550.