สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคฝีดาษ
(Smallpox)
ฝีดาษ (Smallpox) ไข้ทรพิษ หรือ ไข้หัว เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจาก poxvirus
(Variolar) มีลักษณะเฉพาะคือมีผื่นขึ้นตามตัว และมีอาการทั่วไปรุนแรง
โรคนี้ระบาดในประเทศ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถานและเอธิโอเปียเมื่อปี พ.ศ. 2519
สำหรับประเทศไทยมีการบันทึกไว้ว่าระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2504
องค์การอนามัยโลกได้เลิกฉีดวัคซีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513
แต่ที่มีความกังวลว่าจะมีการนำเชื้อนี้มาใช้ในสงคราม
โดยประเทศรัสเซียได้มีการพัฒนาเชื้อชนิดนี้ไว้ใช้ในสงคราม
ในสมัยโบราณ
ฝีดาษเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งดังมีหลักฐานแสดงว่าเมื่อ 3,000 ปีก่อน
ชาวอินเดียนับหมื่นต้องเสียชีวิตด้วยโรคร้ายชนิดนี้ เมื่อนายพล Cortez
นำทหารบุกเข้ายึดอาณาจักร Aztec ทหารที่เป็นโรคฝีดาษได้แพร่ระบาดโรคฝีดาษ
ไปสู่ชนพื้นเมืองทำให้ชนพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลยต้องตายเป็นจำนวนนับแสนคน
การสูญเสียผู้คนจำนวนมากเช่นนี้มีส่วนทำให้อาณาจักร Aztec ล่มสลายในเวลาต่อมา
ฝีดาษมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า variola major คำว่า variola
มาจากคำในภาษาละตินว่า varus ซึ่งแปลว่า ตุ่มตามตัว เนื่องจากเมื่อ 200 ปีก่อน
เวลาใครเป็นโรคชนิดนี้ 20-40% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต
ส่วนคนที่หายป่วยจะมีแผลเป็นตามตัวและใบหน้า
ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกว่า George Washington
ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในวัยหนุ่มเคยเป็นโรคฝีดาษ
เขาจึงต้องต่อสู้กับโรคร้ายและทหารอังกฤษไปพร้อมกัน
และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคเขาก็สั่งให้ทหารทุกคนในกองทัพเข้ารับการปลูกฝีทันที
ซึ่งมีผลทำให้กองทัพของเขารบชนะข้าศึกในที่สุด ส่วน Thomas Jefferson ได้บันทึกว่า
ทาสของเขาที่หลบหนีไปเข้ากับกองทัพอังกฤษ หลายคนเป็นโรคฝีดาษ และในปี พ.ศ. 2306
กองทัพอังกฤษได้ให้ผ้าห่มของคนที่เป็นฝีดาษแก่ชาวอินเดียนแดงที่ Fort Pitt
เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ฝีดาษเป็นอาวุธสงคราม
ประเทศจีนในสมัยก่อน ผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษจะถูกกักบริเวณไม่ให้ออกนอกพื้นที่
แพทย์จะให้ผู้ป่วยสูดดมควันที่ได้จากการเผาสะเก็ดแผลของคนที่หายจากฝีดาษแล้ว
ในตะวันออกกลางและแอฟริกา หมอผีจะเอาหนองสด ๆ จากคนที่กำลังเป็นฝีดาษ
มาทาตามผิวที่มีรอยขีดข่วนของคนที่ยังไม่เป็น
และพบว่าวิธีนี้ทำให้คนบางคนตายด้วยโรคฝีดาษ ในเวลาต่อมา
สาเหตุของโรค
เกิดจาก ดีเอ็นเอไวรัส (DNA virus) เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษมี 2
ชนิดคือ variolar major
ทำให้เกิดโรคฝีดาษซึ่งมีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูงประมาณ1ใน3 และvariolar
minor ทำให้เกิดโรค alastrim ซึ่งอาการไม่รุนแรงเท่า และอัตราการตายต่ำ
เชื้ออยู่ในสะเก็ดได้เป็นปี เชื้อถูกฆ่าตายที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที
การแพร่กระจาย
เชื้อไวรัสฝีดาษ (Variolar) นี้สามารถแพร่กระจายไปในอากาศ
จากละอองสิ่งคัดหลั่งจากคนที่เป็นโรค เช่น น้ำมูก, น้ำลาย
หรือจากการสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผลฝีดาษ เชื้อนี้มีความคงทนต่อสภาพอากาศ
สามารถแพร่ได้ไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้โดยง่าย
การรักษาโรค
1. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนไข้ทรพิษให้ใช้รักษา
เนื่องจากได้มีการยกเลิกการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515
และเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังมีการเก็บวัคซีน
และเชื้อไข้ทรพิษไว้ใช้ในการสงคราม ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย
2. ต้องแยกนอนโรงพยาบาลที่รับเฉพาะโรคติดต่อ
3.
การรักษาประคับประคองและรักษาตามอาการ
- ให้ผู้ป่วยนอนพักในที่นอนที่สะอาด และทำความสะอาดที่นอนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- แก้ไขภาวะขาดน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่
- ระวังรอยโรคที่ปากและตา โดยทำความสะอาดอวัยวะทั้งสองบ่อยๆ
- ไม่ควรอาบน้ำหรือใช้น้ำยาใดๆ ทาเคลือบผิวหนัง
การป้องกัน
การปลูกฝีโดยวัคซีนทำจากไวรัสชื่อ vaccinia
เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในวัวที่ยังมีชีวิตแต่ ทำให้อ่อนแรง
เชื้ออาจะกระจายจากตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนไปยังตำแหน่งอื่นได้
ต้องระวังการรักษาความสะอาด การปลูกฝีสามารถป้องกันโรคฝีดาษและค่อยข้างปลอดภัย
แต่อาจจะมีผลข้างเคียงตั้งแต่น้อยจนมาก หลังการฉีดวัคซีนจะมีภูมิอยู่ได้ 3-5
ปีหากได้รับการกระตุ้นภูมิจะอยู่นานขึ้น การปลูกฝีจะใช้เข็มซึ่งมีเชื้อโรคอยู่
ทำให้ผิวหนังเกิดแผลเชื้อจะเข้าสู่แผล
สถานะของโรคฝีดาษในปัจจุบัน
การเก็บรักษาเชื้อโรคฝีดาษ
ในด้านการแพทย์ยังเก็บเชื้อฝีดาษไว้ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for
Diseases Control and Prevention-CDC) ที่เมืองแอตแลนตาในสหรัฐอเมริกา และที่
Institute for Viral Preparations ที่มอสโกในรัสเซีย
และนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษารหัสพันธุกรรม (genome) ของไวรัสฝีดาษแล้วอย่างสมบูรณ์
แต่สหรัฐอเมริกา
กับรัสเซียก็ยังไม่ได้กำจัดเชื้อฝีดาษสองชุดสุดท้ายนี้ให้หมดไปจากโลก
เพราะนักวิทยาศาสตร์มีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย
คือฝ่ายที่ต้องการกำจัดฝีดาษให้หมดโลก
ซึ่งให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้ระบาดอีกต่อไป
ส่วนฝ่ายที่ต้องการเก็บรักษาเชื้อก็ให้เหตุผลว่า
การฆ่าฝีดาษตัวสุดท้ายจะเป็นการฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างจงใจให้สูญพันธุ์
ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ และขณะนี้โลกมีโรคอีกหลายโรคที่มีฤทธิ์ร้ายพอ ๆ กับฝีดาษ
ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์อาจใช้เชื้อฝีดาษที่มีอยู่น้อยนิดนี้
พัฒนาวัคซีนต่อสู้โรคที่ร้ายเหล่านั้นได้ ดังนั้นถ้าเราทำลายเชื้อจนหมดสิ้น
เราก็จะไม่มีเชื้อโรคอะไรจะศึกษา
ด้วยเหตุนี้ คำประกาศขององค์การอนามัยโลกที่เคยแถลงว่า
จะกำจัดฝีดาษให้หมดโลก ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2542
จึงต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน
พ.ศ. 2544 คณะผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกจึงได้จัดประชุมกันเมื่อวันที่ 17 มกราคม
2545 และได้ลงมติให้ทั้งอเมริกาและรัสเซียเก็บเชื้อฝีดาษให้นักวิทยาศาสตร์วิจัยต่อ
เพราะเกรงว่าถ้าผู้ก่อการร้ายใช้ฝีดาษ (ที่สังเคราะห์ได้) เป็นอาวุธชีวภาพ
มนุษยชาติจะเป็นอันตราย ดังนั้นการมีเชื้อฝีดาษไว้เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกัน
จึงเป็นเรื่องจำเป็น
และองค์การอนามัยโลกได้ขอให้นักวิจัยศึกษาไวรัสฝีดาษให้สมบูรณ์ที่สุดและมากที่สุด
เพื่อจะได้ข้อมูลมาทบทวนการตัดสินใจเก็บ-ทำลายฝีดาษในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
เอกสารอ้างอิง
- ปนิธิ พุทธกรุณา. มปป. ชีวิตและผลงาน 30 นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก. กรุงเทพมหานคร: มายิกการพิมพ์.
- สานิตย์ โภคาพันธ์. มปป. ประวัติและวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: โอ. เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
- โรคฝีดาษ Available:http://wikipedia.co.th , June 11, 2007.