ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

หุ่นกระบอก

นาวสาวนภัสวรรณ บุญนิธี หลักสูตรและการสอน รุ่น 7

การบรรเลงและการขับร้อง

การบรรเลงและการขับร้องประกอบการแสดงหุ่นกระบอกจะเหมือนกับการแสดงละครทุกประการ คือ มีเพลงร้องสองชั้น-ชั้นเดียว เพลงร่าย และเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอาการและบทบาทต่างๆของตัวหุ่น ได้แก่

  1. เพลงเข้าม่าน ใช้ประกอบการเดินเข้าฉากในระยะใกล้ๆ ของหุ่นตัวเอก
  2. เพลงเสมอ ใช้ประกอบการไป-มาในระยะใกล้ๆ
  3. เพลงเชิด ใช้ประกอบการไป-มา ในระยะไกลๆและใช้ในการต่อสู้
  4. เพลงตระนิมิต ใช้ประกอบการแปลงกายของตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก
  5. เพลงชุบ ใช้ประกอบการเดินของนางกำนัล
  6. เพลงโลม ใช้ประกอบการเกี้ยวพาราสีระหว่างตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก และมักต่อด้วยเพลงตระนอน
  7. เพลงตระนอน ใช้เมื่อหุ่นตัวเอกจะเข้านอน โดยบรรเลงต่อจากเพลงโลม
  8. เพลงโอด ใช้ประกอบในตอนที่ตัวหุ่นเศร้าโศกเสียใจ
  9. เพลงโล้ ใช้ประกอบกสนเดินทางทางน้ำ เช่นพระอภัยมณี โดยสารเรือสำเภา หรือเกาะหลังนางเงือกว่ายน้ำหนีนางผีเสื้อสมุทร
  10. เชิดฉิ่ง ใช้ประกอบการเดินทางโดยการเหาะ หรือการติดตามเช่น พระลอตามไก่ รามสูรตามนางเมขลา
  11. เชิดกลอง ใช้บรรเลงต่อจากเพลงเฉิดฉิ่ง
  12. เพลงรัวต่างๆ ใช้ประกอบการแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือแปลงตัวอย่างรวบรัด
  13. เพลงกราวนอก ใช้ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายมนุษย์
  14. เพลงกราวใน ใช้ประกอบการยกตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายยักษ์

นอกจากนี้ยังมีเพลงที่มีลักษณะเป็นเพลงละครอีกดังนี้

  1. เพลงช้าปี่ ใช้บรรยายบทบาทหรือกิริยาอาการของตัวละครเอก เมื่อออกนั่งเมืองหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในโอกาสที่ต้องการความสง่าผ่าเผย เช่น

    “เมื่อนั้น
    พระลักษณ์วงศ์ผู้ทรงศรี
    ตั้งแต่ได้โฉมงามเจ้าพราหมณ์ชี
    ภูมีตรึกตรองเรื่องน้องยา ฯ”
  2. เพลงโอ้ปี่ โอ้ร่าย ใช้แสดงอาการเศร้าโศก คร่ำครวญของตัวละครเอก เช่น พระไวคร่ำครวญเมื่อพบเปรตนางวันทองว่า

    “ทั้งรักทั้งสงสารรำคาญอก
    น้ำตาตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา
    โอ้แม่วันทองของลูกยา
    เคยทำเวรไว้มากมาย ฯ”
  3. เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ชาตรี เพลงโลมนอก เพลงฉิ่ง เพลงทั้งหมดนี้ใช้แสดงอาการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีของตัวละครเอก เช่น เมื่อเจ้าเงาะเกี้ยวนางรจนาว่า

    “ผิวพักตร์เพียงจันทร์อันทรงกลด
    โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด
    อย่ากำสรดเศร้าหมองไม่ต้องการ ฯ”
  4. เพลงชมตลาด ใช้บรรยายความงดงามของตัวละคร เช่น ร้องชมร่างแปลงของนางวันทองเมื่อไปห้ามทัพพระไว

    “นวลละอองผ่องศรีฉวีขาว
    เมื่อแรกรุ่นรูปราวกับนางห้าม
    มวยกระหมวดกวดเกล้าเหมือนเจ้าพราหมณ์
    ใส่สังวาลประจำยามอร่ามพราย ฯ”
  5. เพลงฉุยฉาย ใช้แสดงท่าทีเดินเยื้องย่างกรีดกรายด้วยความอวดโอ้ของตัวละคร เมื่อแปลงหรือแต่งกายได้สวยสดงดงาม เช่น เมื่อนางเบญจกายแปลงเป็นนางสีดาไปเข้าเฝ้าทศกัณฑ์

เพลงหุ่น หลังจากไหว้ครูแล้ว เมื่อจะเริ่มเรื่องราวในการแสดงหุ่นกระบอกมักจะเริ่มด้วยเพลงหุ่นเคล้าซออู้เสมอ เพื่อให้หุ่นออกมาร้องรำบรรยายเรื่องราว เช่น เพลงหุ่นในเรื่องพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อ ที่ว่า

   “จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง
ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา
องค์อภัยมณีศรีโสภา
ตกยากอยู่คูหามาช้านาน
กับด้วยนางอสุรินิรมิต
เป็นคู่ชิดเชยชมสมสมาน
ต้องรักใคร่กันไปตามยามกันดาร
จนนางมารเกิดบุตรบุรุษชาย ฯ”

เมื่อซออู้นำ ผู้ขับร้องต้องเอื้อนก่อนเอ่ยกลอนแรกซึ่งเรียกกันว่า “ร้องท้าว” เพื่อทอดไปสู่เนื้อความที่จะเริ่มกล่าวต่อไป ทำนองเพลงร้องหุ่นกระบอกนี้แม้ในระหว่างบทกลอนที่เป็นเนื้อร้อง ผู้ร้องก็สามารถใส่ลูกเล่นเอื้อนได้ตามแต่จังหวะและช่องทาง ซึ่งต้องอาศัยความสามารถและไหวพริบปฏิภาณของผู้ขัยร้องเอง  ครั้นถึงกลอนคำสุดท้าย อันเรียกว่า “ลง” ซึ่งมีทั้งลงโอด ลงเชิดลงเจรจา ลงตลก เมื่อต้นเสียงทอดจะลงใกล้จะลงใกล้ท้ายคำอยู่แล้ว พวกลูกคู่ก็จะต้องคอยรับอย่างพร้อมเพรียงทันท่วงทีจึงจะไพเราะ

ในการร้องเพลงหุ่นนี้จะมีซออู้สีเคล้าโดยตลอด และจะประกอบจังหวะด้วยกลองต๊อก แต๋ว ฉิ่ง และกรับเท่านั้น เครื่องดนตรีอื่นต้องหยุดบรรเลงหมด ต่อเมื่อจะลงปี่พาทย์จึงค่อยทำเพลงโอดหรือเพลงเชิดต่อท้าย

หุ่นไทย
สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.2121-2246)
สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2246-พ.ศ.2310)
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310-พ.ศ.2325)
สมัยรัตนโกสินทร์
หุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กำเนิดของหุ่นกระบอก
หุ่นนายวิง
หุ่นจางวางต่อ
หุ่นจางวางทั่ว
หุ่นกระบอกนายเปียก
หุ่นนายเบี้ยว
หุ่นกระบอกนายปั้น
ลักษณะหุ่นกระบอก
ศีรษะหุ่น
ลำตัวหุ่นกระบอก
มือของหุ่นกระบอก
เสื้อผ้าและเครื่องประดับของหุ่นกระบอก
วิธีเชิดหุ่นกระบอก
การโหมโรง
การแสดง
การบรรเลงและการขับร้อง
การพากย์หุ่น
โรงหุ่นกระบอก
ฉากหุ่นกระบอก
เครื่องประกอบฉาก
เรื่องหุ่นกระบอกที่นิยมแสดง
โอกาสในการแสดงหุ่นกระบอก
การบูชาครูก่อนการแสดงหุ่น
การบูชาครูของวงปี่พาทย์ก่อนการแสดงหุ่น
ความเชื่อและประเพณีในการแสดงหุ่น
หุ่นกระบอกคณะครูชื้น สกุลแก้ว
หุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
หุ่นกระบอกกรมศิลปากร
หุ่นกระบอกคณะรอดศิรินิลศิลป์
หุ่นกระบอกสมุทรสงคราม
หุ่นกระบอกคณะแม่เชวง อ่อนละม้าย
หุ่นกระบอกเพชรบุรี
หุ่นกระบอกคณะเพชรหนองเรือ
อัตลักษณ์
วิกฤตของหุ่นกระบอกในปัจจุบัน
แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูหุ่นกระบอก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย