ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

หุ่นกระบอก

นาวสาวนภัสวรรณ บุญนิธี หลักสูตรและการสอน รุ่น 7

เสื้อผ้าและเครื่องประดับของหุ่นกระบอก

เสื้อผ้าและเครื่องประดับของหุ่นกระบอกนับว่ามีส่วนทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจได้มาก โดยทั่วไปเสื้อของหุ่นกระบอกประดิษฐ์ด้วยผ้าผืนหนาพอสมควร มีขนาดความกว้างประมาณ 2 ฟุต และยาวประมาณ 4-5 ฟุตนำมาพับครึ่ง ส่วนที่เป็นสันทบของผ้าตรงกึ่งกลางทำเป็นถุงคลุมไหล่หุ่น และเจาะเป็นช่องวงกลมเล็กๆให้มีขนาดพอเหมาะพอดีกับขนาดลำคอของหุ่นกระบอกสำหรับเสียบส่วนศีรษะ การเจาะรูคอเสื้อจึงต้องระวังไม่ให้หลวมหรือคับเกินไป  ส่วนริมผ้าทั้งสองข้างนั้นเย็บตั้งแต่ชายขึ้นมาจนเกือบถึงร้อยสันทบแต่ปล่อยให้ทิ้งเป็นช่องกว้างพอเหมาะกับข้อมือของหุ่นกระบอก สำหรับให้มือหุ่นโผล่ออกมาข้างนอกและซ่อนเรียวไม้ไผ่ที่เสียบต่อจากมือหุ่นลงมาสำหรับจับเชิดไว้ภายในเสื้อ  ถ้าเป็นเสื้อของหุ่นกระบอกตัวนางต้อนำผ้าอีกชิ้นหนึ่งมาทำเป็นผ้าห่มนางประกอบเขข้าไปด้วย ผ้าห่มนางของหุ่นกระบอกจะคลุมอยู่บนเสื้อหุ่นอีกทีหนึ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า “ตัวนาง” และมีนวมคอทับบนผ้าห่มนางอีกทีหนึ่ง  ผ้าห่มนางนี้นินมใช้สีตัดกับสีของเสื้อ เช่น ถ้าเสื้อของหุ่นกระบอกตัวนางสีแดง ผ้าห่มนางควรเป็นสีเขียว เป็นต้น เมื่อนำมาประดิษฐ์เป็นผ้าห่มนางแล้วจะใช้ทับลงบนตัวเสื้อ ส่วนตัวพระไม่ต้องมีผ้าห่มนางแต่จะมีนวมคือและอินทรธนูเย็บติดอยู่ที่ไหล่ทั้งสองข้าง ซึ่งต้องมีสีตัดกับสีเสื้อเช่นกัน        

เสื้อของหุ่นกระบอกจะงดงามมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับฝีมือการปักและการใช้เครื่องประดับให้เข้ากับตัวเสื้อ สำหรับการปักเสื้อผ้าห่มนาง นวมคอ และอินทรธนูนี้ล้วนปักด้วยดิ้นเลื่อม บนผ้าแพรต่วนบ้าง แพรไหมบ้าง หรือกำมะหยี่บ้าง ส่วนเครื่องประดับที่ติดอยู่กับตัวเสื้อได้แก่ กรองคอ และ อินทรธนู สำหรับหุ่นกระบอกตัวพระจะนิยมปักด้วยเพชรพลอยให้วูบวาบแพรวพราว   การปักเสื้อหุ่นกระบอกนิยมปักโดยใช้สะดึงขึงเสียก่อน แล้วจึงด้วยดิ้นทอง ดิ้นเงิน ลูกปัดและเลื่อม บางครั้งถ้าผ้าที่นำมาประดิษฐ์เสื้อเป็นผ้าตาดทองหรือเงินอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปักด้วยดิ้นก็ได้

ลวดลายที่นิยมปักบนเสื้อหุ่น ได้แก่  ลายดอกพิกุล ซึ่งเป็นลายปักที่ละเอียดมาก นอกจากนี้ยังมีลายประจำยามและกนกเครือเถาต่างๆด้วย ซึ่งถือกันว่ายิ่งปักได้ละเอียดเท่าใด ก็ยิ่งสวยงามมากขึ้นเท่านั้น เมื่อได้ตัวเสื้อแล้วก็นำมือของหุ่นกระบอกมาตรึงเย็บติดที่ปลายแขนเสื้อ เมื่อออกแสดงจึงจะสวมเครื่องประดับ ดังเช่นเครื่องประดับของโขนละครรำ อาทิ เช่น ทับทรวง สายสังวาล เป็นต้น   สิ่งสำคัญสำหรับการตกแต่งส่วน        

ศีรษะของหุ่นกระบอกให้สวยงามประณีตคือ เครื่องประดับศีรษะของหุ่นกระบอก อันได้แก่ชฎา รัดเกล้า มงกุฎกษัตริย์ กะบังหน้า ปันจุเหร็จ ตลอดจนหัวม้า หัวช้าง ฯลฯ ซึ่งมักประดิษฐ์ด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เครื่องประดับศีรษะของหุ่นกระบอกต้องทำให้เหมือนของจริงทุกประการ พียงแต่ให้มีขนาดย่อส่วนลงมาเท่านั้น เช่น ตัวพระที่เป็นเจ้าจะสวมชฎา ส่วนตัวนางที่เป็นเจ้าจะสวมมงกุฎกษัตริย์ หรือเครื่องประดับศีรษะที่แสดงฐานะ เช่น รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว ฯลฯ         

นอกจากชฎาและมงกุฎแล้ว ยังมีพวงอุบะ กรรเจียกจอน และตุ้มหูอีกด้วย เครื่องประดับเหล่านี้จะเหมือโขนละครประดับทุกประการ แต่ถ้าเป็นหุ่นกระบอกตัวพระและตัวนางที่ไม่ใช่เจ้าหรือนางกษัตริย์ก็จะมีเครื่องประดับศีรษะแทน เครื่องประดับเหล่านี้ต้องติดตรึงไว้กับส่วนศีรษะของหุ่นกระบอกอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันมิให้หลุดร่วงง่ายระหว่างการแสดง จึงมักติดไว้อย่างตายตัว  สำหรับชฎาตัวพระส่วนมากมักแกะชั้นเชิงบาตรติดกับศีรษะหุ่นไปเลย บางตัวก็ทำเป็นชฎาหรือมงกุฎกษัตริย์มาสวมต่างหาก ส่วนรัดเกล้ามักจะกลึงไม้เนื้อเบาเป็นฐานรัดเกล้าทั้งอัน ปลียอดชฎา ยอดรัดเกล้าและยอดมงกุฎกษัตริย์เป็นไม้กลึงยอด ส่วนปันจุเหร็จ กะบังหน้า เปลวรัดเกล้า และกรรเจียกจอนมักทำด้วยหนังบางๆ หรือไม่ก็เป็นสังกะสีฉลุเป็นลวดลาย แล้วเย็บตรึงด้านในด้วยโครงลวดอีกที่ การประดับลวดลาย ช่างแต่ก่อนใช้รักผสมกับขี้เถ้าใบตองเผาและส่วนประกอบอื่นๆอีกซึ่งถือเป็นสูตรลับในสำนักของแต่ละช่าง เรียกกันว่า “ตีรักลาย” รักตีลายนี้ใช้กดลงไปในพิมพ์หินสบู่ ซึ่งแกะเป็นพิมพ์ลวดลายต่างๆเรียบร้อยแล้ว เช่น ลายกระจัง ลายลูกแก้ว ลายกนกปลายเปลว ลายก้านขด ฯลฯ  ในสมัยก่อนการแกะหินสบู่เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์ประดิษฐ์ลวดลายประดับเครื่องประดับของหุ่นกระบอก บรรดาช่างมักหวงแหนเป็นอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพสำคัญ หินสบู่ที่ใช้แกะลายแม่พิมพ์นี้ควรจะเป็นหินเนื้อละเอียด แกะง่ายไม่แตก เครื่องมือที่ใช้แกะลายหินสบู่ส่วนมากช่างมักใช้เครื่องมือแกะทอง เพราะต้องการลวดลายที่ละเอียดและเป็นเครื่องมือที่มีความแข็งแกร่ง ทนทานต่องานลวดลายที่ทำด้วยรักตีลาย  เมื่อนำออกจากพิมพ์หินสบู่แล้ว ช่างก็จะนำไปประดับตามชั้นเชิงบาตร ปลียอด และส่วนอื่นๆของเครื่องประดับหุ่นกระบอก เมื่อประดับกระจังและลวดลายรักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การใช้ “รักน้ำเกลี้ยง” ซึ่งเป็นรักชนิดเหลวที่ใช้สำหรับปิดทองโดยเฉพาะ ทาชิ้นส่วนเครื่องประดับให้ทั่วทุกซอกทุกมุม ทิ้งไว้จนรักแห้งสนิทดีแล้วจึงปิดทองคำเปลว  การปิดทองคำเปลวต้องกระทำอย่างใจเย็นและเบามือจึงจะปิดได้ทั่วเสมอกัน สีทองที่นิยมคือสีทองที่สุกแดง ดังนั้นหากทองคำเปลวที่นำมาปิดขาวจืดไป วิธีแก้คือต้องย้อมทองด้วยน้ำต้มลูกคำแสด สีของทองจะเข้มขึ้น         

เมื่อได้เครื่องประดับสีทองสวยงามแล้ว จึงนำกระจกเกรียบมาประดับตามแววกระจัง ตลอดจนทำเฟื่องห้อยด้วยกระจกเกรียบตามดอกไม้ไหว และรอบเกี้ยวยอดปลี ดอกไม้ไหวของหุ่นกระบอกนี้มักไม่ใช้รักตีลายปิดทองประดับกระจก แต่จะใช้เพชรก้นเม็ดโตๆอย่างที่ละครรำนิยมทำมาประดับชฎา โดยทำเรือนเป็นเงินแท้ๆหุ้มด้วยเพชรก้นตัดเหล่านี้    ส่วนหุ่นกระบอกตัวนางที่สวมรัดเกล้าจะต้องมีการตั้งรัดเกล้าโดยช่างจะถักผมคนจริงๆที่มีความยาวประมาณ 10 นิ้วเข้าเป็นแผงติดกันจากนั้นนำแผงผมนี้มาติดเป็นรูปวงกลมบนศีรษะหุ่น ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วจึงแหวกตรงกลางหน้าผากไปรวบไว้ที่ท้ายทอยหุ่น เมื่อสวมที่รัดช้องจนแน่นหนาดีแล้วจึงติดกรรเจียกจอน และตั้งรัดเกล้าเป็นอันดับสุดท้าย   การเล่นหุ่นกระบอกบางเรื่องจะมีตัวละครแปลงร่างเป็นสัตว์ต่างๆในกรณีนี้จะต้องมีตัวหุ่นกระบอกหรือเครื่องสวมศีรษะหุ่นกระบอกที่ประดิษฐ์เป็นตัวสัตว์ต่างๆตามท้องเรื่อง สำหรับหัวช้าง  หัวม้า หรือสัตว์ พาหนะต่างๆ มักนิยมทำเป็นหัวกระดาษ นำมาสวมไว้บนหัวหุ่นที่เป็นคนอีกที ส่วนที่ทำเป็นสัตว์ทั้งตัวก็มีเหมือนกัน เช่นประดิษฐ์เป็นม้าแผงทั้งตัวหรือม้าเหมือจริงทั้งตัว  นอกจากนี้ยังมีหัวนางมณีหน้าม้า (แก้วหน้าม้า) เพื่อใช้แสดงในเรื่อง “แก้วหน้าม้า” ซึ่งจะมีประจำอยู่ทุกคณะ สำหรับหัวนางมณีหน้าม้านี้มีการประดิษฐ์อยู่สองวิธีคือบางคณะก็ทำเป็นหัวแก้วหน้าม้าสีนวลจันทร์ทั้งหัวแต่บางคณะก็ทำเป็นหน้าม้ากระดาษปิดทองสำหรับสวมบนหัวหุ่นที่เป็นหน้าคนอีกที    ศีรษะหุ่นกระบอกนอกจากจะมีรูปลักษณ์ตามอย่างละครรำของไทยแล้ว ยังมีศีรษะหุ่นอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “หัวภาษา” หรือบางทีก็เรียกว่า “หัวออกภาษา” อันเป็นศีรษะหุ่นที่ประดิษฐ์ให้เป็นรูปลักษณ์ของชาวต่างประเทศต่างๆตามท้องเรื่องที่นำมาแสดง ได้แก่ ศีรษะหุ่นกระบอกลาว ศีรษะหุ่นกระบอกมอญ ศีรษะหุ่นกระบอกพม่า ศีรษะหุ่นกระบอกจีน ศีรษะหุ่นกระบอกฝรั่ง ศีรษะหุ่นกระบอกแขก         

ในยุคที่หุ่นกระบอกเฟื่องฟู คณะหุ่นกระบอกจะมีศีรษะหุ่นภาษาประจำอยู่ทุกคณะศีรษะหุ่นกระบอกเหล่านี้แต่ละศีรษะผู้ประดิษฐ์จะคิดสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติอันเป็นลักษณะพิเศษที่บ่งบอกเชื้อชาติของหุ่นต่างภาษาได้อย่างชัดเจน เช่นหัวแหม่มและหัวฝรั่งของหุ่นพระยาสุนทรเทพระบำมีการใส่ตาแก้วสีน้ำเงิน ฯลฯ ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็มักออกแบบให้เข้าชุดกับศีรษะซึ่งจะบ่งบอกเชื้อชาติได้อย่างชัดเจน    การใช้เครื่องประดับตกแต่งให้กับหุ่นกระบอกนอกจากเครื่องประดับส่วนศีรษะแล้ว ที่มือของหุ่นกระบอกก็มีเครื่องประดับเพื่อความสวยงามเช่นกัน โดยผู้ประดิษฐ์หุ่นมักสวมเครื่องประดับนิ้วและข้อมือให้กับตัวหุ่นด้วย ได้แก่ แหวน สร้อย กำไล ปะวะหล่ำ ฯลฯ ซึ่งต้องประดิษฐ์ให้คล้ายกับของจริง เช่นกัน   โดยหุ่นตัวพระและตัวนางจะสวมแหวน ยกเว้นตัวนางกษัตริย์จะมีสร้อยและกำไลประดับที่มือด้วย

นอกจากการประดิษฐ์หุ่นกระบอกแล้ว สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆที่ต้องนำออกแสดงตามท้องเรื่อง ก็ต้องประดิษฐ์ให้มีขนาดพอเหมาะกับตัวหุ่นกระบอกด้วยเช่นกัน ได้แก่ เรือสำเภา โคมไฟ สีวิกา รวมทั้งสัตว์ที่เป็นพาหนะอื่นๆ     

การเชิดหุ่น ในการเชิดหุ่น มือซ้ายของผู้เชิดจะถือกระบอกไม้ไผ่ซึ่งเป็นลำตัวหุ่น และจะถือตะเกียบมือหุ่นทั้งซ้ายและขวาไว้ในมือขวาของผู้เชิด เมื่อถึงคราวต้องทำบทบาท ผู้เชิดจะเอานิ้วก้อยซ้ายหนีบตะเกียบซ้ายของหุ่นเอาไว้ เพื่อให้มือขวาทำบทบาทได้เต็มที่   สำหรับการตั้งวงรำของหุ่นกระบอก ไม่ว่าจะเป็นตัวพระ นางหรือยักษ์ มือขวาของตัวหุ่นจะตั้งวงสูงกว่ามือซ้ายเสมอ และแขน (ผ้าที่เป็นเสื้อหุ่น) จะต้องตรึงอยู่เสมอด้วยเช่นกัน ยกเว้นท่ากลับมือบางท่าเท่านั้น     

การหัดเชิดหุ่น  สมัยก่อนคนเชิดหุ่นฝีมือดีมักจะหวงวิชา โดยเฉพาะกับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานในวงศ์เครือญาติ หากจะต้องให้ก็ต้องสาบานตัว ด้วยเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างครูหรือเล่นประชัน เป็นการแย่งอาชีพตัดหน้ากัน เมื่อเห็นว่าศิษย์รักวิชานี้จริงถึงกับยอมสาบานตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น จึงยอมให้วิชา  แต่ถึงแม้ครูจะถ่ายทอดวิชาเชิดหุ่นให้กับศิษย์จนหมดสิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าศิษย์จะสืบทอดหรือถ่ายทอดความสามารถนั้นไปได้หมด เพราะการเชิดหุ่นเป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวบุคคล ศิลปะการเชิดหุ่นรวมทั้งศิลปะแขนงอื่นๆ จึงมักจะตายไปพร้อมกับตัวศิลปินนั้นๆ  อย่างไรก็ตาม ในการเชิดหุ่น ผู้หัดเชิดจะถือเอาวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันครูเป็นวันเริ่มหัด โดยผู้หัดเชิดต้องนำดอกไม้ ธูป เทียน ขันโลหะผ้าขาวและเงิน (ตามแต่ธรรมเนียมของสำนักนั้นๆ) มาไหว้ครูเพื่อขอวิชาหรือบางสำนักครูจะจุดธูปเทียนแจกให้ แล้วนำกล่าวคำบูชาครูต่างๆให้พวกศิษย์กล่าวตาม แล้วจึงส่งหุ่นตัวพระหรือตัวนางอันถือเป็นตัวครูให้ศิษย์ “จับ” เป็นอันว่าเสร็จพิธีการรับเป็นศิษย์  โดยทั่วไปในการหัดเชิดหุ่น ผู้มาฝึกหัดมักไม่ได้หัดเชิดกับตัวเอกคือตัวพระตัวนางที่สวมชฎาหรือรัดเกล้าในทันที แต่จะหัดเชิดกับศีรษะหุ่นที่เป็นตัวประกอบไพร่พลธรรมดา ซึ่งมีแต่หัวหุ่นเสียบกับไหล่หุ่น และมีไม้กระบอกเป็นที่จับเท่านั้น ยังไม่มีเสื้อผ้าหรือมือหุ่นแต่อย่างใด โดยฝึกหัดเชิดหุ่นตามขั้นตอนดังนี้

  1. กล่อมตัว เป็นพื้นฐานของการเชิดหุ่นซึ่งจะหัดกับกระจก โดยหัดกล่อมไหล่หุ่นจากซ้ายไปขวา และจากขวาไปซ้าย โดยไม่ทำให้หน้าหุ่นที่ตั้งอยู่บนไหล่คว่ำไปหรือหงายไป แต่จะช้อนหน้าเหมือนตัวละครกำลังกล่อมไหล่
  2. เชิดย้อนมือ คือกรแทงมือจากขวาไปซ้ายและจากซ้ายไปขวาหรือที่เรียกกันว่า “ปวนไหล่” ซึ่งต้องระวังไม่ให้หน้าหุ่นคว่ำไปหรือหงายไปเช่นกัน การเชิดย้อนมือนี้จะเชิดในจังหวะ “ตุ๊บ-เท่ง ตุ๊บ-เท่ง”
  3. กระทบตัว เหมือนจังหวะ ยืด-ยุบ ในท่ารำของโขนละคร
  4. โยกตัว ในจังหวะ “ต้อม ต้อมม่า ต้อต้อม...ตุม ตุม มา ตุม ตุม”
  5. เพลงเร็ว หรือเรียกว่า “รำเพลง” ในจังหวะ “ตุ๊บ-ทิง ทิง-ตุ๊บ ทิง ทิง”

การฝึกหัดเชิดเหล่านี้แต่ก่อนจะใช้ตะโพนกำกับจังหวะ ต่อมาเพื่อความสะดวกจึงใช้ปากร้องทำจังหวะเอาเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการหัดเชิดหุ่นก็คือการบังคับไม้กระบอกอันเป็นแกนกลางของลำตัวหุ่นให้ยักเยื้องได้ดังใจ เมื่อบังคับไม้กระบอกและหน้าหุ่นให้ “ไม่ตาย” แล้ว การบังคับตะเกียบมือหุ่นจึงเป็นเรื่องรองลงมา   พื้นฐานการหัดเชิดเหล่านี้ หลังจากหัดจนสามารถบังคับไม้ได้ดังใจแล้ว จึงมาถึงกลเม็ดต่างๆตลอดจนการใช้บทบาท ซึ่งเป็นท่าเฉพาะของหุ่นเท่านั้น ได้แก่

  • ม้วนมือ (ม้วนมือ) ด้วยมือขวาที่ถืออาวุธ จะทำเฉพาะตัวพระและตัวยักษ์
  • ท่าจีบหลัง
  • ท่าฉายมือ (แทงมือ-กลับมือ-ฟาดมือ-บดมือ)
  • ท่าตีลังกา ตบแมลงวันของลิง
  • ท่ารำช้าปี่
  • ท่าเสมอ

และท่ากิริยาต่างๆ เช่น ท่ายิ้ม ท่าอาย ท่าค้อน ท่าโกรธ ฯลฯ   นอกจากนี้ยังมีท่าอื่นๆ อีกมาก เช่น ท่าออกกราวของหุ่นตัวพระ ยักษ์ ท่าออกฉาก-เข้าฉาก ของหุ่นตัวเอก ที่ศิษย์จะต้องอาศัยวิธี “ครูพักลักจำ” เพราะท่าทีบางอย่างของหุ่นสอนกันไม้ได้  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเชิดก็คือการเปลี่ยนจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า “ท่าเชื่อม” ต้องระวังไม่ให้เกิดอาการกระตุกไม่ให้มือหุ่นกระตุก และไม่ให้มือหุ่นลงจากวงรำที่กำลังตั้งอยู่  นอกจากนี้การเชิดหุ่นให้ดูงดงามน่าชมยังขึ้นอยู่กับความงดงามและสัดส่วนของตัวหุ่นอีกด้วย กล่าวคือ ถ้าหุ่นมีความงามทั้งศีรษะ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตลอดจนสัดส่วนของแขนและมือหุ่นที่เหมาะเจาะ จะทำให้การเชิดสะดวกและดูงดงามมากยิ่งขึ้น

หุ่นไทย
สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.2121-2246)
สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2246-พ.ศ.2310)
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310-พ.ศ.2325)
สมัยรัตนโกสินทร์
หุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กำเนิดของหุ่นกระบอก
หุ่นนายวิง
หุ่นจางวางต่อ
หุ่นจางวางทั่ว
หุ่นกระบอกนายเปียก
หุ่นนายเบี้ยว
หุ่นกระบอกนายปั้น
ลักษณะหุ่นกระบอก
ศีรษะหุ่น
ลำตัวหุ่นกระบอก
มือของหุ่นกระบอก
เสื้อผ้าและเครื่องประดับของหุ่นกระบอก
วิธีเชิดหุ่นกระบอก
การโหมโรง
การแสดง
การบรรเลงและการขับร้อง
การพากย์หุ่น
โรงหุ่นกระบอก
ฉากหุ่นกระบอก
เครื่องประกอบฉาก
เรื่องหุ่นกระบอกที่นิยมแสดง
โอกาสในการแสดงหุ่นกระบอก
การบูชาครูก่อนการแสดงหุ่น
การบูชาครูของวงปี่พาทย์ก่อนการแสดงหุ่น
ความเชื่อและประเพณีในการแสดงหุ่น
หุ่นกระบอกคณะครูชื้น สกุลแก้ว
หุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
หุ่นกระบอกกรมศิลปากร
หุ่นกระบอกคณะรอดศิรินิลศิลป์
หุ่นกระบอกสมุทรสงคราม
หุ่นกระบอกคณะแม่เชวง อ่อนละม้าย
หุ่นกระบอกเพชรบุรี
หุ่นกระบอกคณะเพชรหนองเรือ
อัตลักษณ์
วิกฤตของหุ่นกระบอกในปัจจุบัน
แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูหุ่นกระบอก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย