ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

หุ่นกระบอก

นาวสาวนภัสวรรณ บุญนิธี หลักสูตรและการสอน รุ่น 7

ศีรษะหุ่น

ศีรษะหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ที่ยังเหลือให้เห็นในปัจจุบันมักจะแกะด้วยไม้ ด้านหลังหัวเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง คว้านเนื้อไม้ข้างในกะโหลกจนเหลือแต่ผิวบางเบา หน้าตาของหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ที่แกะด้วยไม้นี้หากเป็นหน้าพระ หน้านางจะแกะทรงมะตูมอย่างโบราณ ไม่มีการแต่งเติมด้วยรักเลย หากเป็นหน้ายักษ์หรือลิงจะมีแต่งเติมคิ้ว ตา และปากด้วยรักเช่นเดียวกับตัวโขน  แต่ศีรษะหุ่นกระบอกส่วนมากจะทำด้วยไม้เนื้อเบาทั้งแท่งเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าหุ่นใหญ่ เช่น ไม้ทองหลาง ไม้นุ่น ไม้ลำพู ไม่โมก หรือไม่สักทอง ไม้ที่นำมาใช้ควรเป็นไม้เนื้อดี ไม่มีตาไม้ เพราะจะยากแก่การแกะและขัดเกลาแท่งไม้ควรมีขนาดความกว้างประมาณ 5 นิ้ว และมีความยาวประมาณ 8 นิ้ว เมื่อได้ไม้แล้วช่างจะนำมาแกะให้เป็นรูปศีรษะ หน้า และลำคอ ส่วนของลำคอควรมีความยาวเพราะใช้เป็นส่วนต่อกับแกนกระบอกไม้ไผ่ซึงเป็นลำตัวหุ่น เมื่อสวมเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนึ่งก็จะได้รูปลำคอพอดี  นอกจากนั้นยังมีการสร้างหุ่นกระบอกอีกวิธีหนึ่งคือ ใช้กระดาษปิดทับบนพิมพ์แล้วผ่าออกเช่นเดียวกับวิธีทำหัวโขน แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก     เมื่อได้รูปศีรษะทำด้วยไม้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือปั้นแต่งด้วยรักหรือดิน เสริมไม่ให้เป็นจมูก ปาก คิ้ว หู แล้วจึงปิดทับด้วยกระดาษสา ควรต้องทำอย่างน้อย 3 ชั้น เพื่อให้ใบหน้าและศีรษะหุ่นเนียนเรียบสวยงาม โดยก่อนที่จะปิดกระดาษอีกชั้นหนึ่งต้องรอให้ชั้นก่อนหมาดเสียก่อน แล้วจึงใช้ไม้ท่อนกลมขนาดเล็กประมาณแท่งดินสอแต่มีปลายมน “กวด” (ถูคลึง) อย่างเบามือ ให้กระดาษสาที่ปิดกาวให้เนียนเรียบทุกซอกมุมของใบหน้า เมื่อทำจนครบทั้งสามชั้นแล้วจึงใช้สีฝุ่นสีขาวแบบที่ใช้แต่งหน้างิ้วทาอีก 3-4 ชั้น รอจนแห้งสนิทแล้วขัดผิวหน้าหุ่นด้วยใบลิ้นเสือ หลังจากนั้นลงสีขาวเป็นพื้น แล้วจึงเขียนสีหน้าตาอย่างตัวละคร ปัจจุบันช่างประดิษฐ์ศีรษะหุ่นนิยมใช้สีน้ำพลาสติกและกระดาษทรายน้ำแทนสีฝุ่นจีนและใยลิ้นเสือ  พอสีแห้งดีแล้วก็มาถึงขั้นตอนการเขียนสี ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตกแต่งใบหน้าหุ่น กล่าวคือ การวาดคิ้ว ปากและตา ลงบนพื้นสีฝุ่นสีขาว หุ่นบางตัวอาจมีหน้าเป็นสีอื่นบ้างตามท้องเรื่อง เช่น นางผีเสื้อสมุทรในเรื่องพระอภัยมณี จะใช้สีนวลจันทร์ ซึ่งเป็นประเพณีของหุ่นกระบอกทุกคณะ หรือสินสมุทร นิยมทำเป็นหน้าทอง หัวกุมาร ปากขบเขี้ยวมะลิ ตาโพลง เขียนเส้นฮ่ออย่างหัวโขน เป็นต้น    ครั้นสีที่เขียนคิ้ว ตา ปาก แห้งดีแล้วจึงแต่งผม สำหรับตัวพระหรือหุ่นกระบอกที่เป็นชายจะใช้สีดำระบายเป็นผม หากเป็นตัวนางหรือตัวหุ่นในบทที่มีผมยาว เช่น เงือก จะต้องมีช้องผมยาวนำมาประกอบเข้ากับศีรษะหุ่นภายหลังจากที่เขียนหน้าตาหุ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว    สำหรับศีรษะหุ่นกระบอกพวกตัวตลก ส่วนมากจะสร้างขึ้นโดยไม่เน้นความประณีตงดงามของใบหน้าและเครื่องประดับ แต่จะเน้นลักษณะเด่นที่ชวนหัว เช่น ศีรษะล้านทาสีแดงสด ปากกว้าง ฟันซี่โตๆ ห่างๆ หุ่นตัวตลกบางตัวสามารถอ้าปากและหุบปากได้ โดยมีเส้นเชือกร้อยไว้ข้างในสำหรับชักขึ้นลง โดยมีห่วงผูกติดอยู่ปลายเชือกสำหรับให้ผู้เชิดหุ่นสามารถสอดนิ้วโป้งของมือซ้ายเข้าไปกระตุกให้ปากอ้าได้หุบได้ โดยเฉพาะเมื่อมีบทเจรจา   นอกจากนั้นหุ่นกระบอกตัวตลกบางคณะยังสามารถกลอกตาไปมาได้ โดยมีแกนลวดสำหรับบังคับติดอยู่ที่ลูกตาทั้งสองข้าง แล้วโยงห่วงมาสำหรับให้ปลายนิ้วของผู้เชิดชักให้ตากลอกกลิ้งไปมา ลักษณะการสร้างหุ่นอ้าปากหุบปากหรือกลอกตาไปมา จะนำมาใช้ประดิษฐ์เฉพาะหุ่นกระบอกตัวตลกเท่านั้น ส่วนตัวพระ ตัวนาง และตัวเอกอื่นๆจะไม่มีการนำมาประดิษฐ์ให้มีลักษณะกลอกตาอ้าปากได้เป็นอันขาด   ประเพณีความเชื่อในการประดิษฐ์หุ่นกระบอกอย่างหนึ่งก็คือต้องมีพิธีไหว้ครูเบิกเนตรหุ่น คล้ายกับการประดิษฐ์หัวโขน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ จะละเว้นเสียมิได้ ดังนั้นการเขียนดวงตาของหุ่นกระบอกจึงทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายและต้องทำในพิธีด้วย โดยถือว่าตัวหุ่นกระบอกพระฤๅษีเป็นหุ่นครูเช่นเดียวกับโขน บรรดาช่างผู้ประดิษฐ์หุ่นกระบอกและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการมหรสพชนิดนี้จะจัดพิธีไหว้ครูเป็นงานใหญ่ประจำปี ปีละครั้ง

หุ่นไทย
สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.2121-2246)
สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2246-พ.ศ.2310)
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310-พ.ศ.2325)
สมัยรัตนโกสินทร์
หุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กำเนิดของหุ่นกระบอก
หุ่นนายวิง
หุ่นจางวางต่อ
หุ่นจางวางทั่ว
หุ่นกระบอกนายเปียก
หุ่นนายเบี้ยว
หุ่นกระบอกนายปั้น
ลักษณะหุ่นกระบอก
ศีรษะหุ่น
ลำตัวหุ่นกระบอก
มือของหุ่นกระบอก
เสื้อผ้าและเครื่องประดับของหุ่นกระบอก
วิธีเชิดหุ่นกระบอก
การโหมโรง
การแสดง
การบรรเลงและการขับร้อง
การพากย์หุ่น
โรงหุ่นกระบอก
ฉากหุ่นกระบอก
เครื่องประกอบฉาก
เรื่องหุ่นกระบอกที่นิยมแสดง
โอกาสในการแสดงหุ่นกระบอก
การบูชาครูก่อนการแสดงหุ่น
การบูชาครูของวงปี่พาทย์ก่อนการแสดงหุ่น
ความเชื่อและประเพณีในการแสดงหุ่น
หุ่นกระบอกคณะครูชื้น สกุลแก้ว
หุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
หุ่นกระบอกกรมศิลปากร
หุ่นกระบอกคณะรอดศิรินิลศิลป์
หุ่นกระบอกสมุทรสงคราม
หุ่นกระบอกคณะแม่เชวง อ่อนละม้าย
หุ่นกระบอกเพชรบุรี
หุ่นกระบอกคณะเพชรหนองเรือ
อัตลักษณ์
วิกฤตของหุ่นกระบอกในปัจจุบัน
แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูหุ่นกระบอก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย