วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
ร้อยแก้วยุคแรกในสมัยรัตนโกสินทร์
สรณัฐ ไตลังคะ
ประวัติศาสตร์นิพนธ์: วาทกรรม ที่ “ประกอบสร้าง”
ประวัติศาสตร์เป็น “ศาสตร์” หรือ “ศิลป์”
แนวคิดของไวต์กับการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
พงศาวดารกับขนบวรรณศิลป์ในวรรณกรรมไทย
การควบคุมอดีต: การสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
เรื่องเล่าในพงศาวดาร:
บันเทิงคดีร้อยแก้วยุคแรกของสมัยรัตนโกสินทร์
บรรณานุกรม
แนวคิดของไวต์กับการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
เมื่อนำมาดังกล่าวแนวคิดของไวต์สองประการมาใช้ในการวิเคราะห์เรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ในสังคมไทย
คือ ประการแรก การที่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการตีความ และประการที่สอง
ลักษณะการแต่งประวัติศาสตร์นิพนธ์จะเป็นอย่างไรนั้นอยู่ที่ขนบในการแต่งวรรณคดีของวัฒนธรรมนั้น
ทำให้อาจได้แนวคิดที่เป็นประโยชน์
แต่เนื่องจาก “อดีต” ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” หรือเรื่องเล่า
แต่เป็นเหตุการณ์มากมาย ในเมื่ออดีตผ่านไปแล้ว เราจึงตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ จาก
“อดีต” ไม่ได้ มีอยู่ทางเดียวที่ทำได้ก็คือ ตรวจสอบกับ“ประวัติศาสตร์นิพนธ์” หรือ
“เรื่องเล่า” อื่นๆ (Jenkins, 1991: 14)
ดังนั้น ในที่นี้จะลองตรวจสอบวิธีการ “เล่าเรื่อง”
ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในพงศาวดารอยุธยาสองเล่มคือ
พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ
(เจิม) โดยจะอภิปรายเฉพาะเหตุการณ์ในแผ่นดินสมเด็จพระยอดฟ้า ขุนวรวงศาธิราช
และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
หนังสือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ “แม่หยัวเมือง” ใครว่าหล่อนชั่ว? ของ
สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับต่างๆ
เกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยนี้เช่น เอกสารปินโตโปรตุเกส
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ
คำให้การชาวกรุงเก่า พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ความแตกต่างมีทั้งระยะเวลาที่บันทึก ความสั้นยาวและรายละเอียดที่ต่างกัน
กระทั่งรายละเอียดที่สำคัญ เช่น
เวลาและสถานที่ที่พระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตก็ไม่เหมือนกัน
อีกจุดที่สำคัญก็คือ มุมมองในการเล่าเรื่อง
มีทั้งที่เป็นการเรียบเรียงจากพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในสมัยต่อมา
เป็นบันทึกของชาวต่างประเทศ
หรือเป็นบันทึกคำให้การของชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าจับไปเป็นเชลย
(ที่บันทึกโดยพม่าเป็นภาษาพม่าและมอญ และในที่สุดแปลกลับเป็นภาษาไทยอีกครั้ง
กรณีนี้เห็นชัดเจนว่าจะต้องเกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลอย่างมาก) มุมมองต่างๆ
เหล่านี้ล้วนทำให้เรื่องเล่ามีการตีความที่ต่างไปด้วยตามอุดมการณ์ของผู้เล่าและผู้บันทึก
จุดที่น่าสนใจหากวิเคราะห์ตามความเห็นของเฮย์เดน ไวต์ ก็คือ
การที่เหตุการณ์ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่านั้นมีลักษณะเหมือนวรรณคดีที่มีโครงเรื่อง
ตัวละครและความขัดแย้ง สุจิตต์ วงษ์เทศกล่าวว่า
“กรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกขยายให้ลึกลับซับซ้อนและโลดโผนขึ้นในสมัยหลังๆ
จนเกือบเป็น ”นิยายอิงพงศาวดาร”
ซึ่งจะเห็นจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)”
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์มีการต่อเติม ตีความ
และใช้ “จินตนาการประกอบสร้าง” ในการนำเหตุการณ์มาเรียงร้อยเป็นโครงเรื่องอย่างไร
ลองมาเริ่มดูที่ลักษณะการบันทึกในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ
ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีรับสั่งให้แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2223
โดยพิจารณาตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระยอดฟ้า ขุนชินราช
(หรือพันบุตรศรีเทพ) และท้าวศรีสุดาจันทร์ที่เป็นการบันทึกอย่างสั้นๆ ดังนี้
“ศักราช 910 วอกศก (พ.ศ. 2091) วันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำเดือน 5
เสด็จออกสนามให้ชนช้าง และช้างพระยาไฟนั้นงาหักเป็น 3 ท่อน อนึ่งอยู่ 2 วัน
ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ อนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์
เถิงวันอาทิตย์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ
จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ 42 วัน และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ
จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราช เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”
ส่วนในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ซึ่งเป็นหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับกรุงเก่าที่รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ชำระใน พ.ศ.
2338 นั้นบันทึกเหตุการณ์ในสมัยเดียวกันอย่างยืดยาว
แต่ขอนำเหตุการณ์ที่บันทึกตอนต้นมาแสดง ดังนี้
“ครั้นศักราช 890 ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2071) ณ วันเสาร์ เดือน 5 ขึ้น 5
ค่ำ
สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จออกสนามพร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์มนตรีเฝ้าพระบาทยุคลเป็นอันมาก
ดำรัสสั่งให้เอาช้างบำรูงากัน บังเกิดทุจริตนิมิต งาช้างพระยาไฟนั้นหักเป็น 3 ท่อน
ครั้นเพลาค่ำช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงคนร้องไห้
ประการหนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์
ครั้นอยู่มานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสด็จไปประพาสเล่น ณ
พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็น พันบุตรศรีเทพ ผู้เฝ้าหอพระ
ก็มีความเสน่หารักใคร่พันบุตรศรีเทพ
จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพๆ
รับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่าพระนางมีความยินดีรักใคร่
พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่นางพระยาๆ
ก็มีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก”
ข้อความในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั้งสองเล่มที่ยกตัวอย่างมานี้ชี้ให้เห็นวิธีการบันทึกที่มีแนวคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จะเห็นได้ว่า
การบันทึกในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐเป็นการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้โยงเข้ากันเป็นเหตุเป็นผล คือ เสด็จออกสนามให้ชนช้าง /
ช้างพระยาไฟนั้นงาหักเป็น 3 ท่อน / ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ /
ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ / สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ /
ขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ ฯลฯ
ในขณะที่ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องไปโดยการผูกเหตุการณ์เป็นโครงเรื่อง
โดยขยายความเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของการสิ้นพระชนม์ของพระยอดฟ้า ขุนชินราช
และท้าวศรีสุดาจันทร์
การเปลี่ยนแนวการเขียนที่เห็นได้ชัดคือ มีการลำดับเรื่องราวเป็นเหตุเป็นผล
(causality) นั่นคือ
คติการบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยโบราณนั้นมักบันทึกเหตุการณ์ที่ผิดธรรมชาติไว้เสมอ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับลางบอกเหตุ
ในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐแสดงเหตุการณ์ผิดธรรมชาติคือ
“ช้างพระยาไฟนั้นงาหักเป็น 3 ท่อน อนึ่งอยู่ 2 วัน
ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์
(โปรดสังเกตว่าข้อความตอนนี้ไม่เหมือนกันกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ
(เจิม) ด้วย) อนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์”
แต่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
นำเหตุการณ์เดียวกันนี้มาเขียนต่อเนื่องกันราวกับเพื่อบอกเหตุท้าวศรีสุดาจันทร์มีใจปฏิพัทธ์พันบุตรศรีเทพซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนการประหารชีวิตพระยอดฟ้าราวหนึ่งปี
ข้อความดังกล่าวแสดงลักษณะของประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่นำเหตุการณ์มาเรียงร้อยเป็นโครงเรื่อง
โดยใช้หลักของความเป็นเหตุผล (causality) ตามความเชื่อ
คือเอาเรื่องเหตุการณ์ที่ผิดธรรมชาติมาโยงเข้ากับเหตุการณ์ที่ผู้นิพนธ์เห็นว่าเลวร้ายที่เกิดขึ้นตามมา
ประวัติศาสตร์นิพนธ์แต่ละเล่มจึงมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ
ที่แตกต่างกันไปแล้วแต่จุดมุ่งหมาย
(ซึ่งการหาจุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงหรือแต่งเติมนี้จะได้เป็นประเด็นที่จะอภิปรายต่อไปในภายหลัง)
นอกจากนี้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ยังได้เพิ่มเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างท้าวศรีสุดาจันทร์และพันบุตรศรีเทพอย่างละเอียด
กล่าวคือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ชี้ให้เห็นการแต่งประวัติศาสตร์นิพนธ์เป็นแบบวรรณคดี อย่างที่สุจิตต์
วงษ์เทศกล่าวว่าเป็น “นิยายอิงพงศาวดาร”
เหตุการณ์เรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์นี้เห็นได้ชัดเจนตามความคิดของนอร์ทรอป
พราย และเฮย์เดน ไวต์ว่า เป็นการสร้างโครงเรื่องแบบเรื่องเล่าที่มีเอกภาพอย่างยิ่ง
คือ มีตอนต้น (พระไชยราชาธิราชสวรรคต
พระยอดฟ้าขึ้นครองราชย์โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นพระราชมารดาว่าราชการแทน)
ตอนกลาง (คือ ตอนที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีใจปฏิพัทธ์พันบุตรศรีเทพ
พระยอดฟ้าถูกประหารชีวิต
การวางแผนและปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราชหรือพันบุตรศรีเทพและท้าวศรีสุดาจันทร์) ตอนจบ
(คือ
ฝ่ายขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกข้าราชการประหารชีวิตแล้วอัญเชิญพระเทียรราชาซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ)
มีความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีจุดสุดยอดของเรื่องคือ
ตอนโจมตีเรือของขุนวรวงศาธิราช และการประหารชีวิตขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์
และราชบุตร
น่าสังเกตว่า ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น
กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอย่างสั้นๆ
แต่เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เหตุการณ์รัชสมัยพระไชยราชาธิราช
พระยอดฟ้า ขุนวรวงศาธิราช และพระมหาจักรพรรดิเป็นต้นไป
และมีวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลายแบบบันเทิงคดี คือ มีการเล่าย่อ (summary คือ
การเล่าเหตุการณ์ที่อาจเกิดแก่ตัวละครเป็นเวลานับปีอย่างสรุป เช่น
อาจเล่าในย่อหน้าเดียว เพื่อให้เรื่องเดินเร็วขึ้น) เล่าข้าม (ellipsis คือ
การตัดบางตอนออกไปเพราะไม่สำคัญ หรือตั้งใจเล่าข้ามไปเพื่อกระตุ้นความสนใจ
ก่อนที่จะย้อนมาเล่า) เล่าแบบให้รายละเอียดแบบดูละคร (scene คือ
การบรรยายบทสนทนาหรือการเล่าแบบให้รายละเอียดมาก)
ตัวอย่าง เช่น ตอนที่กล่าวถึงท้าวศรีสุดาจันทร์มีใจปฏิพัทธ์พันบุตรศรีเทพ
มีรายละเอียดกระทั่งสิ่งของที่ให้แก่กันซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นขนบของการ “จีบ”
กันในสมัยโบราณนั่นเองซึ่งเราจะพบได้ในวรรณคดี ตอนนี้เป็นการเล่าแบบย่อ กล่าวคือ
ระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นเวลานาน แต่เล่าอย่างรวบรัด
“ครั้นอยู่มานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสด็จไปประพาสเล่น ณ
พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพ ผู้เฝ้าหอพระ
ก็มีความเสน่หารักใคร่พันบุตรศรีเทพ ศรีเทพ
จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพๆ
รับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่าพระนางมีความยินดีรักใคร่
พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่นางพระยาๆ
ก็มีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก
จึงมีพระเสาวนีย์สั่งพระยาราชภักดีว่าพันบุตรศรีเทพเป็นข้าหลวงเดิม
ให้เอาเป็นที่ขุนชินราช รักษาหอพระข้างใน
ให้เปลี่ยนขุนชินราชออกไปเป็นพันบุตรศรีเทพรักษาหอพระข้างหน้า
ครั้นพันบุตรศรีเทพเป็นขุนชินราช เข้าไปอยู่รักษาหอพระข้างในแล้ว
นางพระยาก็ลอบลักสมัครสังวาสกับด้วยขุนชินราชมาช้านาน”
นอกจากนี้ยังมีตอนที่เล่าแบบดูละคร (scene) คือ
การให้รายละเอียดในรูปของบทสนทนา มีการสร้างบทสนทนาใน “ฉาก” ที่ข้าราชการ 4
คนวางแผนล้มอำนาจของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์
“ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพเชื้อพระวงศ์กับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ
บ้านอยู่ลานตากฟ้า 4 คนไว้ใจกัน เข้าไปในที่ลับแล้วปรึกษากันว่า
เมื่อแผ่นดินเป็นทรยศดั่งนี้เราจะละไว้ดูไม่บังควร
จำจะกุมเอาตัวขุนวรวงศาธิราชประหารชีวิตเสีย ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา
หลวงศรียศจึ่งว่า
ถ้าเราทำได้สำเร็จแล้วจะเห็นผู้ใดเล่าที่จะปกป้องครองประชาราษฎร์สืบไป
ขุนพิเรนทรเทพจึงเห็นแต่พระเทียรราชาที่บวชอยู่นั้นจะเป็นเจ้าแผ่นดินได้
ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศจึ่งว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะไปเฝ้าพระเทียรราชา
ปรึกษาให้เธอรู้จะได้ทำด้วยกัน แล้วขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา
หลวงศรียศก็พากันไปยังวัดราชประดิษฐาน เข้าไปเฝ้าพระเทียรราชาถวายนมัสการ
จึ่งแจ้งความว่า ทุกวันนี้แผ่นดินเกิดทรยศ
ข้าพเจ้าทั้งสี่คนคิดจะจับขุนวรวงศาธิราชฆ่าเสีย
แล้วจะเชิญพระองค์ลาผนวชขึ้นครองสิริราชสมบัติ จะเห็นประการใด
พระเทียรราชาก็เห็นด้วย”
สมบัติ จันทรวงศ์ในบท
“ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยคำพูดในประวัติศาสตร์อยุธยา:
ศึกษาเฉพาะกรณีบทสนทนาในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” ใน
บทพิจารณ์ว่าด้วยวรรณกรรมการเมืองและประวัติศาสตร์ ศึกษาการใช้บทสนทนาว่า
“การใช้บทสนทนาเป็นเครื่องมือในการเขียนประวัติศาสตร์ก็คงจะหวังผลอย่างเดียวกันได้กับการเล่าเรื่องหรือการเขียนเรื่องโดยทั่วๆ
ไปที่มีบทสนทนาโต้ตอบ กล่าวคือส่วนของเรื่องที่เป็นบทสนทนาสามารถให้รายละเอียด
เน้นความสำคัญของเหตุการณ์ สร้างความสำคัญของตัวบุคคลทั้งในด้านความคิดอ่าน
อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ดีกว่าการบอกเล่าอย่างธรรมดาๆ มากนัก”
และจากการศึกษาพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
พบว่าการจะพิจารณาว่าพระราชพงศาวดารเรื่องนี้ให้ความสำคัญแก่เรื่องอะไรก็ให้ศึกษาบทสนทนา
ในแง่บันเทิงคดี นักศึกษาวรรณกรรมรู้เป็นอย่างดีว่า
บทสนทนาเป็นเครื่องมือประการหนึ่งใน “การสร้างบุคลิกลักษณะตัวละคร”
(characterization) ผู้อ่านสามารถรู้จักตัวละครได้จากบทสนทนา เช่น นิสัย ชนชั้น
การศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้
การใช้บทสนทนายังเป็นการสร้างความสมจริงให้แก่เหตุการณ์มากกว่าการเล่าย่อ
เราจึงพบว่าการเปลี่ยนการเล่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นบทสนทนาเป็นการสร้างความสำคัญให้แก่เรื่อง
รวมทั้งเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับนิสัยของ “ตัวละคร” ได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างการใช้บทสนทนาเพื่อเป็นการแสดงบุคลิกของตัวละครก็คือ ใน “ฉาก”
เสี่ยงเทียนที่มีรายละเอียดมากทั้งส่วนที่เป็นบทสนทนาและคำกล่าวอธิษฐาน
โดยในตอนที่มีการเสนอให้เสี่ยงเทียนนั้นเราได้เห็นบุคลิกของคนที่เป็นผู้นำในการก่อการอย่างชัดเจน
ตัวอย่างต่อไปนี้คือตอนที่ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา
หลวงศรียศเสนอว่าในการคิดการใหญ่ควรจะอธิษฐานเสี่ยงเทียนเฉพาะพระพักตร์พระพุทธรูปนั้น
ขุนพิเรนทรเทพเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยและกล่าวว่า “เราคิดการใหญ่หลวงถึงเพียงนี้
อนึ่งก็ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว ถ้าเสี่ยงเทียนมิสมดังเจตนา
จะมิเสียชัยสวัสดิมงคลไปหรือ” ครั้นต่อมาเมื่อมีการจุดเทียนสองเล่มเพื่อเสี่ยงเทียน
พระพิเรนทรเทพเห็นว่าเทียนขุนวรวงศาธิราชยาวกว่า ก็ห้ามมิให้เสี่ยงเทียนต่อไป
แล้วก็คายชานหมาก บังเอิญชานหมากดิบที่คายไปต้องเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง
ฝ่ายพระพิเรนทรเทพเห็นเทียนขุนวรวงศาธิราชยาวกว่าเทียนพระเทียรราชาก็โกรธ
จึงว่า ห้ามมิให้ทำสิ ขืนทำเล่า ก็คายชานหมากดิบทิ้งไป
จะได้ตั้งใจทิ้งเอาเทียนขุนวรวงศาธิราชนั้นหามิได้ เป็นศุภนิมิต
เหตุพอทิ้งไปต้องเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง คนทั้งห้าก็เกิดโสมนัสยินดีนัก
จะเห็นได้ว่าในการเล่าเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า
พระพิเรนทรเทพเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดและเป็นผู้ออกความคิดในการก่อการ
โดยดูจากการที่พระพิเรนทรเทพเป็นผู้ที่มี “บทพูด” เด่นที่สุด
(ดูข้อความข้างต้นที่เป็นตัวเอน) ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงคนอื่นๆ ที่ร่วมก่อการ
มักจะกล่าวพร้อมกันไปทั้งสามคน คือ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ
โดยไม่แยกว่าใครในสามคนนี้เป็นคนพูดประโยคใด นอกจากนั้น
ในบทพูดหลายตอนนั้นได้แสดงว่า พระพิเรนทรเทพมีความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ
และความมุ่งมั่นที่จะก่อการโดยที่ไม่ยอมให้อะไรมาเป็นสิ่งกีดขวาง
ในส่วนของการกล่าวอธิษฐานของพระเทียรราชานั้นก็เป็นการเขียนอย่างละเอียด
การให้รายละเอียดนี้ตีความได้ว่า เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะรักษาบ้านเมือง
“ข้าพระพุทธเจ้าคิดจะได้ราชสมบัติครั้งนี้ ด้วยโลกียจิตจะใคร่เป็นใหญ่
จะได้จัดแจงราชกิจจานุกิจให้สถิตอยู่ในยุติธรรม”
การบรรยายตอนอธิษฐานอย่างละเอียดก็เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การ
“ยึดอำนาจ”
กล่าวโดยสรุป การที่พระราชพงศาวดารได้เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องเป็นบทสนทนา
และเป็นการเสนอคำพูด ยิ่งทำให้มีลักษณะของการเป็น “บันเทิงคดี” มากยิ่งขึ้น
ใน “ฉาก”
ประหารชีวิตขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ถือได้ว่ามีวิธีการเล่าเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจมากเพราะมีทั้งการเล่าย่อ
และการบรรยายคำพูด
ครั้นเช้าตรู่ ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
และราชบุตรที่เกิดด้วยกันนั้นทั้งพระศรีศิลปก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันมาตรงคลองสระบัว
ขุนอินทรเทพก็ตามประจำมา ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก หลวงศรียศ
หมื่นราชเสน่หาในราชการ ครั้นเห็นเรือพระที่นั่นขึ้นมา ก็พร้อมกันออกสกัด
ขุนวรวงศาธิราชร้องไปว่า เรือใครตรงเข้ามา ขุนพิเรนทรเทพก็ร้องตอบไปว่า
กูมาเอาชีวิตเองทั้งสอง
ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพก็เร่งให้พายรีบกระหนาบเรือพระที่นั่งขึ้นมา
แล้วช่วยกันกลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราชกับแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์และบุตรที่เกิดด้วยกันนั้นฆ่าเสีย
แล้วให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง”
เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า
พระพิเรนทรเทพเป็น “ตัวละคร” ที่สำคัญที่สุด ซึ่งดูได้จากการที่มี “บทพูด”
ที่สำคัญอยู่เพียงคนเดียวในพงศาวดารตอนนี้ และในทางวรรณคดี ลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็น
“การเกริ่นการณ์” (foreshadow) ให้ผู้อ่านเห็นว่า
บุคคลผู้นี้จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ต่อไป
โดยต่อมาพงศาวดารจะได้บันทึกว่า
หลังเหตุการณ์พระพิเรนทรเทพได้รับการปูนบำเหน็จเป็นพระมหาธรรมราชาธิราช
ครองเมืองพิษณุโลก
และยังได้รับพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดาเป็นอัครมเหสี
ถวายพระนามใหม่เป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนไปเล่าเรื่องผ่านมุมมองของฝ่ายพม่าด้วย
ลักษณะการเล่าเรื่องจึงเหมือนการเล่าเรื่องแบบผู้รู้ (the omniscient)
ขอยกตัวอย่างสั้นๆ ดังนี้
ขณะเมื่อแผ่นดินอยุธยาเป็นทุรยุคปรากฏขึ้นไปถึงกรุงหงสาวดี [...]
สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชดำริว่า ถ้าแผ่นดินอยุธยาเป็นดั่งนี้จริง
(คือเกิดจลาจล)
เห็นว่าหัวเมืองเขตขัณฑเสมาและเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงจะกระด้างกระเดื่องมิปกติ
ถ้ายกกองทัพรุดไปโจมตีเอา เห็นจะได้พระนครศรีอยุธยาโดยง่าย
ลักษณะการเล่าเรื่องโดยการเปลี่ยนมุมมองและเล่าแบบมีบทพูดเป็นของพม่าเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
(คือฝ่ายอยุธยาไม่มีทางรู้ว่าฝ่ายพม่าพูดว่าอย่างไร)
แต่การเปลี่ยนมุมมองเป็นเรื่องปกติมากในการเล่าเรื่องแบบบันเทิงคดี
เราอาจกล่าวได้ว่า “ผู้ชำระ” พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ผู้เล่าเรื่อง” ในขนบของเรื่องเล่า กล่าวคือ
เป็นผู้เลือกสรรข้อมูลและวิธีการนำเสนอเรื่อง ในทางทฤษฎีเรื่องเล่า (narratology)
ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้ที่ควบคุมความรับรู้ของผู้อ่านว่าควรรู้อะไร และอย่างไร
ดังนั้น หากผู้เล่าเรื่องในพงศาวดารผู้นี้เป็นผู้ที่มี “อุดมการณ์” หรือ
จุดมุ่งหมายในการเล่าที่แน่นอนหนึ่งๆ ย่อมสามารถควบคุมทัศนคติของผู้อ่านได้