วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

นกยูง

ข้อมูลทั่วไปของนกยูง
พฤติกรรมทั่วไป
พฤติกรรมในฤดูผสมพันธุ์
นกยูงไทย

นกยูงไทย

สำหรับประเทศไทย นกยูงไทย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ( sub species ) คือ

  1. สายพันธุ์พม่า ( Burmese green peafowl ) P . m. imperator มีถิ่นกระจายพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย และ ในประเทศ พม่า และ ไทย
  2. สายพันธุ์อินโดจีน ( Indo - chinese green peafowl ) P . m. muticus มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย มณฑลยูนนานของจีน พม่า ลาว เวียตนาม กัมพูชา และ เหนือบริเวณคอคอดกระของไทย
  3. สายพันธุ์ชวา ( Javanese green peafowl ) P . m. muticus มีถิ่นกระจายตั้งแต่ใต้คอคอดกระของไทย จนถึงคาบสมุทรมาลายู และ หมู่เกาะชวา แต่ไม่ปรากฏพบในสุมาตรา และ บอร์เนียว

ในประเทศไทย เคยมีกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ แต่ปัจจุบัน ได้ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากป่าถิ่นที่อยู่อาศัยได้ลดจำนวนลง อย่างรวดเร็ว และ ถูกจับล่า ดังนั้น นกยูงจึงคงเหลืออยู่แต่ใน พื้นที่ป่า อนุรักษ์ เพียง 10 แห่ง เท่านั้น คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม , อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ , อุทยานแห่งชาติภูพาน , อุทยานแห่งชาติเขาสก , อุทยานแห่งชาติเขาแหลม (รวมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงเกริงกะเวีย - หนองน้ำซับ เข้าไว้ด้วย ) , และ เขตสุดท้ายที่สำรวจพบ ล่าสุดคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี

บริเวณที่พบนกยูงมากที่สุด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีจำนวนประมาณ 400 ตัว รองลงมาคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร

นกยูง ในประเทศไทย ปัจจุบัน นกยูง ในประเทศไทย เป็นนกที่พบได้ไม่บ่อยนัก ในภาคตะวันออก และ ยังเป็นนกที่หายากมาก ของภาคเหนือ , ในปี ค.ศ. 1913 ยังมีรายงานว่า พบหากิน กระจัดกระจายอยู่ทางตอนใต้ ชอง ลุ่มน้ำแม่ปิง ซึ่ง Gyldenstolpe รายงานว่า แถบนั้น ยังมีนกยูงอยู่กระจัดกระจาย แต่ การที่มันเป็นนกที่ระแวงภัยสูง จึงไม่ค่อยมีข่าวว่า ถูกล่า หรือ พบเห็นโดยนักท่องเที่ยว แต่ ยามเย็น และ เช้าตรู่ ยังมีคนได้ยินเสียงร้องของมันอยู่ . ในปี ค.ศ. 1910 Gairdner รายงานว่า พบเห็นนกยูงได้ แบบกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัด ราชบุรี และ จ. เพชรบุรี , เดือนกุมภาพันธ์ 1933 มีผู้พบนกยูง เป็นฝูง ขนาดเล็ก ลงกินน้ำ ในแม่น้ำโขง เวลาเย็น ที่ อ. เชียงแสน จ. เชียงราย บางวันพบลงกินน้ำเป็นฝูงขนาดใหญ่ด้วย . ปี ค.ศ. 1945 - 1950 Madoc และ Deignan รายงานว่า นกยูง ยังพบได้ง่าย แถบลุ่มน้ำแม่ปิง ระหว่าง จ. กำแพงเพชร และ จ. นครสวรรค์ โดย พบแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ของ ภาคเหนือ , ปี ค.ศ. 1930 นกยูงพบได้ บ่อยมาก ในที่ราบเชิงดอยหลวงเชียงดาว และ พบได้ทั่วไปใน จังหวัดน่าน โดยเฉพาะตาม ลำน้ำน่าน และ ยังพบนกยูงลงกินน้ำเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ริมฝั่งลำน้ำปิง

 

ในปี ค.ศ. 1960 นกยูงยังจัดว่า พบได้ง่ายทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ปริมาณนกยูงทางภาคใต้ จำนวนลดลงรวดเร็วกว่าภาคอื่น ปี ค.ศ. 1913 Robinson รายงานว่า นกยูง ลงกินข้าวเปลือก ในนาข้าว ที่บ้านเกาะคราม เป็นฝูงใหญ่ มีตัวอย่าง 2 - 3 ตัว ถูกเก็บได้จากพื้นที่ ของ จังหวัดกระบี่ . ค.ศ. 1951 Glenister รายงานว่า ที่ อ. คลองท่อม จ.กระบี่ เคยมีนกยูงอยู่ชุกชุม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และ เริ่มหมดไป ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ จ. ปัตตานี และ จ. ตรัง ก็ยังพบอยู่มากเช่นกัน

ปี ค.ศ. 2000 Philip D. Rould ประมาณการว่า ไทยมีนกยูงเหลืออยู่ในธรรมชาติราว 500 - 700 ตัว โดยแบ่งเป็นอยู่ในเขตฯ ห้วยขาแข้งราว 200 ตัว และ เพิ่มเป็น 225 - 270 ตัว ในปี ค.ศ. 1986 - 1987 โดยนับจากเสียงร้อง , รอยเท้าที่พบ และเห็นตัวระหว่างการสำรวจนับ และ ปริมาณเริ่มลดลงหลังจาก มีที่โล่ง จากการ บุกเบิกใหม่และการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านทับเสลา , นอกจากนี้ ประชากรอีกราว 200 ตัว กระจายอยู่ระหว่างตอนเหนือ ของ อุทยานแห่งชาติแม่ยม กับ ตอนใต้ ของ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง และ ที่เขตพื้นที่โครงการ ในพระราชดำริ ห้วยฮ่องไคร้ มีนกยูงอยู่ราว 80 ตัว ที่นี่ เป็นแหล่งล่าสุด ในภาคเหนือที่พบนกยูง และ เชื่อว่าที่นี่ จะทำให้มีปริมาณนกยูง ของ ภาคเหนือ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีนกยูงบางส่วนจากที่เพาะพันธุ์ได้ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แห่งสุดท้าย ที่สำรวจพบนกยูง ใน ปัจจุบัน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ลุ่มน้ำพาชี ปริมาณยังอยู่ระหว่างการสำรวจ

ห้วยขาแข้ง ถิ่นที่อยู่นกยูงไทย จากความพยายามเพื่อจะอนุรักษ์ และ ฟื้นฟูประชากร นกยูง ในธรรมชาติ จำเป็นที่จะต้องทราบเรื่องราวเกี่ยวกับนิเวศวิทยา และ อุปนิสัยของนกยูงให้ดีเสียก่อน ดังนั้น โครงการศึกษา นกยูง ในสภาพธรรมชาติจึงเกิดขึ้น โดยคณะผู้วิจัยได้มุ่งทำการศึกษาเฉพาะ นกยูง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างจะชุกชุมกว่าผืนป่าอีก 9 แห่ง ที่มีรายงานว่า ยังคงมี นกยูง อาศัยอยู่ อันได้แก่ บริเวณแนวป่าริมลำน้ำสาละวิน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร บริเวณลำน้ำแม่จัน ในเขตอุ้มผาง จังหวัดตาก บึงเกริงกะเวีย ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงเกริงกะเวีย หนองน้ำซับ จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลม และ นกยูงได้สูญพันธุ์ไปจาก พื้นที่ นี้แล้ว ) , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จังหวัดอุบลราชธานี , อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานดำ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ เขื่อน อุบลรัตน์ ในเขตอำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร และ จังหวัดกาฬสินธ์ , บริเวณป่าต้นน้ำ ของ คลองสก แถบอุทยาน แห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฏร์ธานี และ แห่งสุดท้ายที่มีรายงานการพบนกยูง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ลุ่มน้ำพาชี จังหวัดกาญจนบุรี . นอกจากนี้ ผืนป่า ห้วยขาแข้ง ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทั้งด้านป่าไม้ และ สัตว์ป่า มากที่สุดแห่งหนึ่ง จนได้รับการคัดเลือก เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก แห่งหนึ่งด้วย

แหล่งข้อมูล :

  1. " นกยูง รำแพนแววมยุรา กลางป่าเปลี่ยว " โดย นริศ ภูมิภาคพันธ์ , ดร. อุทิศ กุฎอินทร์ , ประทีป โรจนดิรก , พงษ์ศักดิ์ พลเสนา (คณะวิจัยนกยูง เขตฯห้วยขาแข้ง )
  2. สนพ. สารคดี " สัตว์ป่าเมืองไทย ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ " สิงหาคม 2531

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย