ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ประทีปแห่งทวีปเอเชีย
ผู้แต่ง : Sir Edwin Arnold (first published 1879)
ผู้แปล :
เจ้าศักดิ์ประเสริฐ นครจำปาศักดิ์ 2483
การที่ข้าพเจ้าสามารถประพันธ์เรื่องพระจรรยาและพระลัทธิ
อีกทั้งสามารถเผยแผ่พระอัธยาตมวิทยาแห่งพระองค์สมเด็จพระสมณโคมดม
ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาติฮินดู ซึ่งเป็นผู้ทรงพระคุณธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ
และผู้ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยสัมมาสัมโพธิญาณในกาพย์คดีเล่มนี้ได้นั้น
ก็โดยได้อาศัยการถ่ายเทมาจากพุทธศาสนิกชน
ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมะอันเคร่งครัดผู้หนึ่ง
แม้ว่าพระพุทธศาสนาได้อุบัติมาแล้วตั้งแต่ 2,400 ปีกว่า
ก็ยังมีผู้ที่เคารพนับถือมากมาย ทั้งยังคงเจริญอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
อีกทั้งได้ไพศาลไปในเหล่าประเทศทั้งปวงมากหลายจนแม้แต่ในประเทศ
ซึ่งมีความเชื่อถือในลัทธิอย่างอื่น ก็ได้ไพศาลไปในประเทศเหล่านั้นเหมือนกันก็ดี
แต่ว่าในประเทศยุโรปนั้น นับแต่กาลสมัยก่อนๆ เป็นลำดับมา
จนกระทั่งกาลสมัยที่พึ่งล่วงมาแล้วนี้เอง ไม่ทราบหรือแทบจะไม่เข้าใจเลยว่า
เรื่องราวของพระพุทธศาสนาอันเจริญรุ่งเรืองอยู่ในทวีปอาเซียนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
จำนวนคนตั้ง 470 ล้านคน
เป็นและตายอยู่ภายใต้ธรรมะบรรทัดฐานแห่งองค์สมเด็จพระสมณโคดม
และความไพศาลอันรุ่งเรืองด้วยความศรัทธาในพระศาสนาของพระองค์
ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาจารย์แต่โบราณกาล
ณ กาลทุกวันนี้ ก็กำลังเจริญอยู่ในแว่นแคว้นเนปาล
เกาะลังกา ทั่วทุกคาบสมุทรแห่งภาคบุรพทิศ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน
ทวีปอาเซียภาคกลาง ประเทศไซบีเรีย และตลอดจนกระทั่งแม้แต่ที่ลาโปเนียของสวีเด็น
ส่วนในประเทศอินเดียที่เป็นประเทศซึ่งแต่เดิมก็นับเนื่องอยู่ในพระราช
อาณาจักรอันรุ่งเรือง ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งพระพุทธศาสนา แต่บัดนี้
พระพุทธศาสนาแทบจะเสื่อมความนิยมนับถือเสียสิ้นแล้วก็ดี
แต่โดยเหตุที่พระพุทธศาสนานี้ ประกอบด้วยพระคุณธรรมอันจะลบล้างล้มเลิกเสียมิได้
พระโอวาทของสมเด็จพระสมณโคดมยังจารึกอยู่จึงสามารถแทรกแซงอยู่เหนือลัทธิ
ประเพณีพราหมณ์สมัยใหม่ได้
บรรดาความนิยมและความเชื่อถือของชาวฮินดูซึ่งปรากฏเด่นชัดยิ่ง
ก็นอบน้อมอย่างละมุนละม่อมไปข้างลัทธิของพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า
มีมหาชนมากกว่าเศษหนึ่งส่วนสามของจำนวนมนุษย์ทั้งโลก
ต้องนับถือเคารพในพระจรรยานุวัตร และพระศาสนาของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงไว้ซึ่งบารมีพระองค์นี้ ซึ่งแม้แต่เรื่องราวของพระองค์จะมีความบกพร่อง
โดยเหตุที่จำลองให้แจ้งแสดงให้ปรากฏไม่ได้บริบูรณ์สืบๆ กันมาก็ดี
ก็ยังกระทำให้น่าเชื่อว่า พระองค์เป็นเอกอัครมหาบุรุษในตำนานแห่งความคิดทางใจ
เป็นองค์ที่ควรได้รับความรัก ความเคารพอย่างเอก เป็นองค์ผู้ทรงบริสุทธิ์
มีธรรมเมตตากรุณาเอ็นดูแก่สัตว์โลกทั้งปวงอย่างยิ่ง
จนหาผู้ใดในประวัติแห่งผู้ทรงไว้ซึ่งความคิด
ความวิจารณ์ทางใจมาเสมอเหมือนพระองค์เสียมิได้
ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์ทั้งปวง
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธศาสนา มีแตกต่างกันบ้างเฉพาะในพลความบางข้อ
จนกระทั่งถึงบางข้อบางเรื่อง กระทำให้เป็นมลทินมัวหมองแก่พระศาสนา
โดยเกิดจากการประดิษฐ์ต่อเติมด้วยความหวังอันผิดและความบกพร่องในการตกแต่งคัดลอกก็ดี
ก็ไม่มีข้อใด คำใดที่อาจทำให้ความบริสุทธิ์อันสดใสยิ่งลดน้อยลง
โดยพระบารมีของพระบรมศาสดาจารย์ของชาวอินเดีย
ผู้มีพระปัญญาอันทรงพระคุณธรรมวิเศษอย่างล้ำเลิศและเคร่งครัดยิ่ง ในการที่ทรงทรมาน
(ซึ่งแม้พระองค์เป็นถึงลูกกษัตริย์ก็ดี) เพื่อประโยชน์แก่มนุษยโลกทั่วไป
อนึ่ง ถึงแม้ว่ามองสิเออร์บาร์เทเลอมี-แซงต์อีแลร์
ได้มีอรรถาธิบายในเรื่องพระพุทธศาสนาผิดถนัดไปบางข้อก็ดี ศาสตราจารย์ มักซ์มุลเลช์
ก็ยังรับรองว่าถูกต้อง ในตอนที่มองสิเออร์บาร์เทเลอมี-แซงต์อีแลร์
กล่าวถึงพระสิทธัตถะว่า "พระจรรยาของพระองค์หามลทินมิได้เลย
พระวิริยภาพของพระองค์กับความมั่นของพระองค์มีน้ำหนักเทียบเท่ากัน
หากว่าตำหรับที่มีอยู่นั้นคลาดเคลื่อนก็ดี
แต่อาการที่พระองค์ทรงประพฤติด้วยพระวรกายของพระองค์เองให้เป็นตัวอย่างทั้งปวง
ก็ล้วนแต่เป็นแบบ ซึ่งไม่มีที่ตำหนิติเตียนได้ทั้งสิ้น"
พระองค์เป็นผู้สำเร็จแล้วในตัวอย่างทั้งปวง
ซึ่งพระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้
การสละเสียซึ่งความสุขในส่วนพระองค์กับความเมตตาของพระองค์
กับทั้งพระอริยคุณสมบัติอันบริสุทธิ์ของพระองค์ไม่มีที่วิปริตไปเลย
จนแม้แต่ในขณะใดทั้งสิ้น
ก่อนที่พระองค์จะแสดงลัทธิของพระองค์ให้ปรากฏแก่สัตว์โลกทั้งปวงนั้น
พระองค์ได้เสด็จออกทรงบรรพชา ทำทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี
เพื่อพิจารณาค้นหาความจริงแห่งโลก
"ครั้นตรัสรู้แล้วก็ได้เผยแผ่ศาสนาของพระองค์
โดยพระอาการสงบเงียบในทางวาจา คือ การเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์โลกทั้งปวงเท่านั้น
เป็นเวลาถึง 45 ปีเศษ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่ปรินิพพาน
อยู่ในระหว่างหัตถ์แห่งสาวกทั้งปวงของพระองค์
ก็ทรงประกอบพร้อมด้วยพระลักษณะอันบริสุทธิ์เป็นเอกอัครมหาบุรุษ
ผู้ซึ่งได้ทรงกระทำความดีมาแล้วตลอดพระชนมชีพของพระองค์ และแสดงว่า
คือพระองค์นั่นแหละ ซึ่งเป็นองค์ผู้ทรงพบแล้วซึ่งความจริงทั้งปวงแห่งโลก"
ดังนี้จึงเป็นอันว่า
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงบรรลุแล้วซึ่งผลสำเร็จในมรรคผลแห่งธรรมวิเศษ
อันน่าพิศวงสำหรับมนุษย์
และถึงแม้ว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นพ้องด้วยกับจารีตบางอย่างและพระองค์ตรัสว่า
พระองค์เป็นผู้ซึ่งทรงได้บรรลุแล้วซึ่งนิพพาน แต่พระองค์ก็ยังได้ตรัสเหมือนกันว่า
"ผู้อื่นก็อาจสามารถสร้างกุศลให้บรรลุถึงซึ่งนิพพานได้เหมือนกัน"
วันแล้ววันเล่ากองบุปผชาติก็มีแต่เดียรดาษเหนือปูชนียสถานแห่งพระองค์ และทุกๆ
วันมนุษยโลกอันอักโขก็มีแต่ภาวนาออกจากปากของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยประโยคอันนี้ว่า
"ข้าพเจ้าขอพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง"
พระพุทธเจ้าซึ่งออกพระนามในกาพย์คดีนี้ต้องมีจริงโดยไม่ต้องสงสัย
พระองค์ทรงสมภพในแดนเนปาล (เชิงเขาหิมพานต์) ก่อนพระเยซูเกิดราว 623 ปี
และเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในราว 543 ปี ก่อนคริสตกาล
ที่เมืองโกสินาราในเขตแขวงมณฑลอุทธะ
ดังนี้เมื่อนำศาสนาอื่นมาเปรียบเทียบกับพระศาสนาอันน่าเคารพ
กอปรด้วยความนับถือของหมู่ชนทั่วโลก และชั่วนิรันดรนี้แล้ว
จักบังเกิดความรักและความนับถืออของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด
อันคุณสมบัติที่กระทำให้เชื่อถือในผลแห่ง
ความดีซึ่งไม่มีอะไรที่จะทำลายลงได้ อีกทั้งความมั่นคงในข้อที่ว่า มนุษย์ทั้งหลาย
ยอมมีธรรมะแห่งความอิสระของตน ซึ่งไม่เคยมีสอนมาแต่ไหนแต่ไรเลยนี้แล้ว
พึงเห็นว่าศาสนาอื่นล้วนแต่พึ่งอุบัติขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง
แต่ความวิปริตแปลกประหลาดทั้งปวง ซึ่งกระทำให้ประวัติ
และลัทธิแห่งพระพุทธศาสนาบกพร่องไปนั้น
ต้องเกิดจากความเสื่อมอันไม่สามารถจะหลีกให้พ้นได้
โดยเหล่าภิกษุสงฆ์มักแก้ไขไปตามความคิดความเห็นที่ใหญ่โตต่อๆ กันมาเสมอนั้น
พระบารมีและพระธรรมรสแห่งลัทธิเดิมของพระพุทธเจ้าต้องถูกดัดแปลงแก้ไข
โดยความคิดความเห็นของเหล่าภิกษุสงฆ์ หาใช่เป็นโดยผู้แปลคำสั่งสอนของพระองค์
หรือธรรมเทศนาของพระองค์อันหามลทินมิได้นั้นไม่ และเมื่อคราวมีการสังคายนา
คงเลินเล่อ และนึกตกแต่งให้ไพเราะเสียมาก
การที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงสิริลิขิตเล่มนี้
ต้องเรียบเรียงตามปากคำของพุทธศาสนิกชนผู้หนึ่ง
เพราะว่าเพื่อจะได้อนุโลมให้เห็นความคิด การวิจารณ์แห่งชนชาวอาเซีย
ก็ต้องอาศัยความเพ่งเล็งดูความเห็นของชาวชนเบื้องบุรพทิศ และถึงแม้ว่าในที่นี้
มีเรื่องราวกล่าวถึงความอัศจรรย์ หรืออัธยาตมวิทยาปรากฏอยู่ด้วยก็ดี
ก็คงจะไม่กระทำให้บังเกิดความเข้าใจผิดไปอย่างอื่นได้ นอกจากจะกระทำให้เข้าใจว่า
เป็นธรรมดาลัทธิอันว่าด้วยการเวียนเกิดเวียนตายแห่งวิญญาณเป็นต้น ถึงหากว่า
ไม่ต้องด้วยความเชื่อถือของบุคคลสมัยใหม่ก็ดี แต่ลัทธิความเชื่ออันนี้
ก็ได้มีรกรากและได้รับความเคารพรับถือจากชาวฮินดูมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ซึ่งขณะนั้นเมืองนินิฟกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเมเด้ส
และพวกโฟเซียนสร้างเมืองมาร์ไซร์ (ในประเทศฝรั่งเศส)
เรื่องนี้เป็นเรื่องโบราณคดี เพราะฉะนั้น
ตามที่ข้าพเจ้าบรรยายในที่นี้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีความไม่บริบูรณ์อยู่เอง
และถ้ายิ่งไปคิดถึงกฎของการประพันธ์สิริลิขิตด้วยแล้ว
จะเป็นข้อความซึ่งเกี่ยวกับอัธยาตมวิทยาก็ดี
หรือจะเป็นข้อความซึ่งเกี่ยวกับเวลาอันยืดยาว
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจของพระองค์นั้นก็ดี ข้าพเจ้าต้องออกตัวว่า
ข้าพเจ้าคงได้ข้ามเรื่องตอนสำคัญๆ มากมายเป็นแน่
แม้แต่กระนั้นก็ดี
หากว่าเท่าที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์นี้พอที่จะกระทำให้ท่านทั้งหลายสามารถทราบพระธรรมจริยานุวัตร
อีกทั้งพระลัทธิของพระพุทธเจ้าได้พอสมควรแล้ว
ก็ต้องนับว่าข้าพเจ้าสามารถทำการได้ผลสมความมุ่งหมายแล้วเหมือนกัน
อนึ่งเฉพาะพระลัทธิของพระพุทธเจ้านั้น
มีนักปราชญ์มากหลายได้เยินยอเป็นปุจฉาวิสัชนามามากแล้ว
สำหรับข้าพเจ้า จึงขอกล่าวว่า
ข้าพเจ้าเองก็ได้ความรู้มาจากทางอื่น
ซึ่งกล่าวถึงเรื่องพระพุทธศาสนานี้ไม่บริบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกัน
มีจากข้อความซึ่งปรากฏในหนังสือของสเป็นซ์ ฮาร์ดี เป็นต้น
และการดัดแปลงเรื่องราวให้เป็น "การเล่าเรื่องธรรมดา" นั้น
ข้าพเจ้าเองก็ไม่ปฏิเสธว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำมาแล้วมากมายเหมือนกัน
แต่อย่างไรก็ดี
คำอธิบายของข้าพเจ้าสำหรับเรื่องซึ่งเกี่ยวกับ นิพพาน, ธรรม และ กรรม,
กับเรื่องอื่นอันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา
ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาอธิบายในหนังสือเล่มนี้
อย่างน้อยก็คงจะเป็นประโยชน์แก่การศึกษามากมายอยู่กับทั้งอาจเป็นประโยชน์แก่การพิจารรา
ความเชื่อถืออันมั่นคงของมนุษยโลกตั้งหนึ่งในสามส่วนของโลก ซึ่งอย่างไรก็ดี
คงจะไม่มีอะไรที่อาจกระทำให้เขาเชื่อว่า วิญญาณ
เป็นของดับสูญในชั่วกำเนิดครั้งเดียวเป็นแน่.
ในที่สุดนี้
โดยความเคารพต่อพระอิสสริยบารมีแห่งพระองค์ในเรื่อง "ประทีปอาเซีย" นี้
อีกทั้งโดยความนับถือแก่บรรดาท่านนักปราชญ์ทั้งหลาย
ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ประพันธ์เรื่องราวอันควรเคารพของพระองค์และเป็นผู้ทรงไว้
ซึ่งปัญญาความเฉลียวฉลาดเปรื่องปราชญ์ปรีชายิ่งกว่าข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอได้รับอภัยในความบกพร่องอันพึงมี
ในความรู้อันเป็นเครื่องกระทำให้ข้าพเจ้าประพันธ์กาพย์คดี อันอุปมาเหมือนหนึ่งว่า
ข้าพเจ้าเร่งทำอย่าง "สุกก่อนห่าม" นี้ด้วย
ที่ข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ก็เพราะเวลาของข้าพเจ้าจำกัดที่สุด
แต่ที่ทำสำเร็จลงไปได้ ก็โดยได้ อาศัยความเจตนาที่จะให้ความรู้ของทวีปอาเซีย
ได้รู้ไปถึงยุโรป เป็นเครื่องดลใจ
และเร่งเร้าความอุตสาหะของข้าพเจ้าเสมอเท่านั้นเอง เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว
คงจะเป็นการพอที่จะกระทำให้ข้าพเจ้าอาจภูมิใจได้แล้วว่า
หนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นชิ้นเอกของเรื่องอินเดียเรื่องหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ร้อยกรองขึ้นดังประหนึ่งเป็น
"วิหาระดุริยางค์แห่งดุริยางค์ของอินเดีย" ของข้าพเจ้า หวังว่า (หนังสือเล่มนี้)
คงอาจสามารถที่จะช่วยเชิดชูสติปัญญาของผู้ที่รักประเทศอินเดีย
และทวยนิกรชนชาวอินเดียได้เป็นแน่.
เอดวิน อาร์นอลด์
ปริเฉทที่ 1 ชาติกถา
ปริเฉทที่ 2 อาวาหมงคลกถา
ปริเฉทที่ 3 เทวทูตทัสนกถา
ปริเฉทที่ 4 ปัพพัชชกถา
ปริเฉทที่ 5 ทุกรกิริยากถา
ปริเฉทที่ 6 มารวิชัย อภิสัมโพธิกถา
ปริเฉทที่ 7 พุทธกิจ
ปริเฉทที่ 8 พุทธกิจบรรยาย