ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความหมายของสารคดี
ลักษณะของสารคดี
ประเภทของสารคดี
องค์ประกอบของสารคดี
สารคดีชีวประวัติ
กรอบการวิเคราะห์
สารคดีชีวประวัติ
สารคดีชีวประวัติ คือ การเขียนนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคุคลในแง่มุมต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ ความรู้ ความคิดเห็น ตลอดจนผลงานที่น่าสนใจ
1. ความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติ การเขียนสารคดีชีวประวัติ
คือ การเขียนนำเสนอเรื่องราวชีวิตของบุคคลในแง่มุมต่างๆ
นักวิชาการได้อธิบายความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติไว้ต่างๆกันดังนี้
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546, หน้า 366)
ได้ให้ความหมายของคำว่าชีวประวัติไว้ว่า ชีวประวัติ น. ประวัติบุคคล
วนิดา บำรุงไทย (2545, หน้า 102) อธิบายว่า ชีวประวัติ คือ
เรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ผู้อื่นเป็นผู้เรียนเรียงขึ้น
ชลอ รอดลอย (2551, หน้า 52) กล่าวว่า สารคดีชีวประวัติ (biography)
เป็นงานประพันธ์ที่มีรูปแบบของประวัติศาสตร์ประยุกต์
แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ กล่าวถึงเฉพาะบุคคลหนึ่ง
เมื่อบุคคลเขียนถึงตนเองผลงานที่เขียนเรียกว่าอัตชีวประวัติ
ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548, หน้า124) กล่าวว่า สารคดีแบบชีวประวัติ
เป็นเรื่องที่ผู้แต่งเขียนถึงประวัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เห็นว่าน่าสนใจ
ปราณี สุรสิทธิ์ (2541, หน้า 343) อธิบายว่า สารคดีบุคคล
คือเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่น่าสนใจ ถ้าผู้เขียน เขียนถึงประวัติของตนเองเรียกว่า
อัตชีวประวัติ ถ้าเขียนถึงประวัติของผู้อื่น เรียกว่า ชีวประวัติ
ซึ่งอาจเป็นจุดเด่นของบุคคลนั้น หรือทัศนะในการดำรงชีวิต หรืออุดมการณ์ในการทำงาน
จากคำจำกัดความข้างต้นสามารถสรุปความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติได้ว่า
สารคดีชีวประวัติ (biography) คือการเขียนนำเสนอประวัติของบุคคล
ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรม ความรู้ ความคิดเห็น ผลงาน หรือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ
เพื่อนำมาศึกษาในแง่มุมต่างๆ
โดยสารคดีชีวประวัตินั้นมีลักษณะเด่นคือเป็นการเขียนประวัติโดยที่เจ้าของประวัตินั้นไม่ได้เป็นผู้เขียนขึ้นเอง
แต่มีผู้อื่นเป็นคนเขียนขึ้น
2. ประเภทของสารคดีชีวประวัติ สารคดีชีวประวัติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
(สารคดี, 2553, ย่อหน้า 6) ดังนี้
- ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (portrait) เป็นการเขียนแบบถ่ายภาพให้เหมือนตัวจริงของเจ้าของประวัติ การเขียนจึงเป็นการอธิบายรูปร่าง ความคิด รสนิยม และอุปนิสัยอย่างตรงไปตรงมา
- ชีวประวัติแบบสดุดีหรือชื่นชม (appreciation) มุงเน้นการเขียนชีวประวัติบุคคลแบบสรรเสริญ จึงเน้นด้านความสำเร็จ
- ชีวประวัติแบบรอบวง (profile) เป็นการเขียนโดยให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของชีวประวัติเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
3. กลวิธี และแนวทางการเขียนสารคดีชีวประวัติ การเขียนสารคดีชีวประวัติให้ได้ดีนั้นมีกลวิธี และแนวทางการเขียน (ชลอ รอดลอย, 2551, หน้า 57; ธัญญา สังขพันธานนท์, 2548, หน้า 126) ดังนี้
- การเขียนสารคดีชีวประวัติต้องกำหนดแนวคิดให้ชัดเจนว่าบุคคลที่เลือกเขียนนั้นมีความน่าสนใจด้านใด เช่น บุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ทั้งที่เป็นแบบอย่างที่ดี และไม่ดี
- การเขียนสารคดีชีวประวัตินั้นต้องกำหนดจุดเน้นว่าต้องการเน้น หรือนำเสนอในเรื่องใด ไม่มุ่งที่จะบอกเพียงแต่ว่าเขาเป็นใคร แต่มุ่งชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นอย่างไร และทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
- การเขียนสารคดีนั้นต้องเขียนเฉพาะเรื่องของบุคคลจริง ไม่ใช่เรื่องสมมุติ
- การเก็บข้อมูลต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดรอบด้าน ทั้งการสัมภาษณ์ และเอกสาร
- การเขียนสารคดีชีวประวัตินั้นต้องเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่อคติ และไม่ปรุงแต่งสำนวน เนื้อหาให้วิเศษเกินจริงหรือเกินงาม
การเขียนสารคดีชีวประวัติให้ดีนั้น ควรศึกษา รูปแบบของสารคดี แนวทางในการเขียน และกลวิธีในการเขียนให้ชัดเจน