ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารคดี

ความหมายของสารคดี
ลักษณะของสารคดี
ประเภทของสารคดี
องค์ประกอบของสารคดี
สารคดีชีวประวัติ
กรอบการวิเคราะห์

องค์ประกอบของสารคดี

การเขียนสารคดีนั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้

1. ส่วนนำเรื่อง ในการเขียนส่วนนำเรื่อง หรือความนำนั้นสามารถเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้

  1. ความนำแบบสรุปประเด็น คือ การสรุปสาระสำคัญทั้งหมด โดยมีหลักการทั่วไปมักประกอบด้วยคำหลัก คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
  2. ความนำประเภทพรรณนา หรืออธิบาย คือ การพรรณนาถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มองเห็นคุณลักษณะของสิ่งนั้นๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจเป็นสถานที่ บุคคล หรือวัสดุสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องต่อประเด็นเรื่องที่เขียน
  3. ความนำแบบกระทบความรู้สึก คือ การใช้โวหาร เนื้อความที่เร้าอารมณ์ หรือภาษาที่รุนแรงกระทบความรู้สึกของผู้อ่านทันที ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างความรู้สึกบางอย่างต่อเหตุการณ์นั้นๆ
  4. ความนำที่เป็นสุภาษิต คำกลอน หรือบทกวี คือ การยกเอาคำกลอน สุภาษิต หรือบทกวีที่มีเนื้อความเข้ากันมาขึ้นต้น แทนการอธิบายหรือพรรณนา
  5. ความนำประเภทคำถาม คือ การตั้งคำถามหรือประเด็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมีลักษณะกระชับ และประเด็นที่เด่นชัด
  6. ความนำด้วยเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ คือ การนำเรื่องด้วยเรื่องเล่าสั้นๆอาจเป็นเกร็ดที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง หรือการนำเหตุการณ์ เรื่องราวมาเกริ่นนำ
  7. ความนำประเภทบรรยาย คือ การให้รายละเอียดของเหตุการณ์ โดยการบรรยายแต่ละฉากอย่างละเอียดตามด้วยการแสดงความต่อเนื่องของเหตุการณ์
  8. ความนำที่เป็นข่าว คือ การใช้ข่าว หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นการนำเรื่อง
  9. ความนำแบบคุยกับผู้อ่านโดยตรง คือ การที่ผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตัวเองกับผู้อ่าน นิยมใช้คำว่า “ผม” “คุณ”
  10. ความนำประเภทหยอกล้อ คือ ความนำที่เขียนโดยไม่เจตนาให้ผู้อ่านทราบเรื่องราวในทันที มีลักษณะผ่อนคลาย ยั่วเย้าใครบางคน ใช้ภาษาเบาๆไม่เคร่งเครียด
  11. ความนำที่ตรงกันข้าม คือ การนำด้วยเหตุการณ์ บุคคล หรือสถานที่ที่ตรงกันข้ามกับสาระ หรือประเด็นของเรื่อง
  12. ความนำที่อ้างถึงภูมิหลัง คือ การนำเรื่องด้วยความเดิมหรือประวัติความเป็นมาของเรื่อง

2. เนื้อเรื่อง คือ การลำดับเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆในลักษณะ (วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 106; สุภิตร อนุศาสน์, ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์, และมานิตา ศรีสาคร, 2552, หน้า 5) ดังนี้

  1. เสนอตามลำดับเวลา คือ ลำดับไปตามอายุ หรือการเผชิญเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆของเจ้าของประวัติ
  2. เสนอตามการลำดับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ คือ การจัดเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่สำคัญ หรือน่าสนใจมาขึ้นต้นก่อน หรืออาจจัดเป็นกลุ่มประสบการณ์ เหมาะที่จะเขียนเล่าเรื่องหรืออธิบายเรื่องประเภทให้ความรู้
  3. เสนอเนื้อหาโดยโครงสร้างประเด็น การลำดับเนื้อหาแบบนี้มักใช้กับเนื้อเรื่องที่มีการแสดงเหตุผลหรือเสนอความคิดเห็น อาจเรียกอีกอย่างว่าเป็นการเสนอโดยจัดประเด็นหรือกำหนดกลุ่มเรื่อง กลุ่มความคิด
  4. เสนอตามการจัดลำดับสถานที่ คือการจัดระเบียบความคิดโดยลำดับตามสถานที่ ผู้เขียนจะเขียนลำดับจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ
  5. เสนอตามการจัดลำดับความสัมพันธ์ คือ การจัดลำดับความคิดตามขั้นตอนที่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน

3. ส่วนท้าย ส่วนท้ายหรือความจบนั้นผู้เขียนสามารถเลือกเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้

  1. จบแบบสรุปความ คือ การจบด้วยการสรุปประเด็นสำคัญอีกครั้งโดยโยงถึงความนำในตอนต้นด้วย
  2. จบแบบคาดไม่ถึง คือ การจบอย่างพลิกความคาดหมาย มักนิยมใช้ในสารคดีเชิงข่าว หรือสารคดีประเภทอารมณ์
  3. จบแบบคลี่คลายประเด็น คือการจบโดยทำให้ประเด็นนั้นกระจ่างชัดเจน ผู้อ่านไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย
  4. จบแบบให้คิดต่อ คือ การจบแบบเน้นประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยทิ้งปริศนาให้ผู้อ่านขบคิด

สารคดีมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนนำเรื่อง
  2. เนื้อหา
  3. ส่วนท้าย

ในการเขียนผู้เขียนสามารถเลือกใช้วิธีการนำเรื่อง การลำดับเนื้อเรื่อง และการจบเรื่องได้หลายแบบตามความเหมาะสม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย