เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

ความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนกับระบบโรงเรียน

ศาสตราจารย์ ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์ ได้เสนอบทความเรื่องการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา และกล่าวถึงลักษณะบางประการของสื่อมวลชน ที่มีลักษณะแตกต่าง หรือขัดแย้งกับสภาพการศึกษาในระบบโรงเรียน 6 ประการ โดยสรุปดังนี้ (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ 2534)

1. ความสนุก

ความรู้ข่าวสารของสื่อมวลชนมักเป็นเรื่องเบาสมอง ไม่มีความลึกซึ้งในเนื้อหา จะพยายามทำให้ผู้รับเกิดความสนุกหรือขบขัน มุ่งให้ผู้รับเกิดอารมณ์ ยิ่งสามารถทำให้ผู้รับเกิดอารมณ์ได้รุนแรงเท่าใด ก็ยิ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของผู้นำเสนอได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะวิทยุ โทรทัศน์ ในบางครั้งการกระทำเพื่อกระตุ้นอารมณ์ เรียกร้องความสนใจมีลักษณะที่บางคนเห็นว่าเกินขอบเขต เช่น การแต่งกายประหลาดๆ การเปิดเผยร่างกาย การนำเสนอเรื่องหรือภาพน่าสะเทือนใจ เป็นต้น ครูและผู้ปกครองที่เห็นรายการประเภทนี้ก็จะต้องกล่าวโจมตีสื่อมวลชน และไม่ต้องการให้ยอมรับคุณค่าทางการศึกษาของสื่อมวลชน

ในโรงเรียน แม้จะส่งเสริมให้ครูกระตุ้นความสนใจนักเรียน แต่ครูส่วนใหญ่จะไม่ปล่อย ให้มีการเล่นสนุกสนานจากการเรียน ถือว่าการเรียนเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างเป็นงานเป็นการ นักเรียนจะต้องเรียนด้วยความเอาใจใส่ เคร่งเครียด บางครั้งก็เกิดความทรมาน แม้ว่าปัจจุบันจะผ่อนคลายความเครียดลงไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่าห้องเรียนไม่ใช่สถานที่สำหรับแสวงหาความสนุกสนาน กิจกรรมด้านการบันเทิง นันทนาการในโรงเรียน เช่น การร้องเพลง การแสดงละคร นาฏศิลป์ต่างๆ ครูจะคอยระมัดระวัง มิให้มีการแต่งกายหรือแสดงออกในลักษณะที่ครูเห็นว่าน่ารังเกียจ ความขัดแย้งเกี่ยวกับความสนุก เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนและการศึกษาในโรงเรียนยากที่จะประนีประนอมกันได้ เพราะสื่อมวลชนเอง ย่อมหวงแหน สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของตนเอง

2. ความทันสมัย

หลักสูตรของโรงเรียน ประกอบด้วยเนื้อหาซึ่งเป็นของเก่าเสียส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าโรงเรียนจำเป็นต้องจัดสอนในหลักวิชา ที่ได้ผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าเป็นความรู้ที่เชื่อถือได้ ก่อนที่จะบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตร ต้องผ่านการทดสอบมาระยะเวลาหนึ่งเสียก่อน ส่วนรายการของสื่อมวลชนนั้นมักเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในบางกรณีก็นำเอาเรื่องที่เกิดจากจินตนาการมาเผยแพร่ด้วย จึงเป็นเนื้อหาที่ทันสมัย แต่ในบางกรณีสื่อมวลชนก็นำเสนอเนื้อหาที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง ความขัดแย้งในเรื่องความทันสมัย ซึ่งต่างฝ่ายก็มองคุณค่าของเนื้อหาแตกต่างกัน ฝ่ายโรงเรียนต้องการความถูกต้อง แต่สื่อมวลชนต้องการความทันสมัย จึงเป็นความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายยากจะยอมรับกันได้เช่นกัน

3. ความเป็นแก่นสารของเนื้อหา

เนื้อหาวิชาที่สอนในโรงเรียน ย่อมนำเอาหลักสูตรที่ได้จัดไว้เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งนักเรียนจะเรียนไห้สำเร็จได้ ต้องมีความตั้งใจเป็นพิเศษ การจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งมีเนื้อหามาก และต้องใช้เวลานานพอสมควร ครูมักจะทำการสอน ทำแบบฝึกหัดทบทวนเป็นระยะๆ ให้มีทักษะแน่นแฟ้น การสอนตามเนื้อหาที่เป็นแก่นสารนี้ โรงเรียนจำเป็นต้องจัดให้นักเรียนมาเรียนต่อหน้าครู ในห้องเรียนแคบๆ ที่ ครูสามารถดูแลควบคุมความประพฤติของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ ส่วนการเผยแพร่ความรู้ข่าวสารของสื่อมวลชน ไม่มีใครคอยควบคุมดูแล แต่จะสร้างความสนใจของผู้รับด้วยการแบ่งเนื้อหาความรู้ออกเป็นส่วนย่อยๆ นำเสนอทีละน้อย ใช้เวลานำเสนอเพียงสั้น ๆ เพราะหากใช้เวลานำเสนอนาน ผู้ฟังจะขาดความสนใจ การนำเสนอความรู้แบบนี้โรงเรียนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ฉาบฉวย ความรู้ที่เสนอไปไม่มีแก่นสารและขาดหลักวิชา แต่สื่อมวลชนกลับถือว่า วิธีการเช่นนี้ทำให้ประชาชนได้รับความรู้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว

4. ประโยชน์ใช้สอย

วิชาความรู้ที่ถ่ายทอดให้ผู้เรียนในโรงเรียนนั้น บางคนเห็นว่าเป็นวิชาที่คัดเลือกแล้วว่ามีประโยชน์อย่างสูง นำไปใช้เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต และการศึกษาต่อระดับสูงได้เป็นอย่างดี แต่บางคนกลับเห็นว่าวิชาความรู้ในโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นความรู้สำหรับการเพิ่มพูนความรู้ อาจมีประโยชน์ในวันข้างหน้า ส่วนใหญ่นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันไม่ได้ ส่วนความรู้ที่นำเสนอทางสื่อมวลชนนั้น แม้ว่าจะเป็นความรู้ชิ้นเล็กๆ และอาจไม่ต่อเนื่องกัน แต่ก็เป็นความรู้ที่ทันสมัย สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที เด็กๆ ที่รับข่าวสารจากสื่อมวลชน มักจะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองประหลาดใจเกี่ยวกับการใช้ภาษา และการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ ของเด็ก

5. ภาษาที่ใช้

สื่อมวลชน มักใช้ภาษาที่ทำให้เกิดอารมณ์ เกิดความสนใจ บางครั้งจึงอาจใช้คำ เรียบเรียงถ้อยคำ และออกเสียงผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้อง โดยเชื่อว่าจะสามารถเรียกร้องความสนใจ และสื่อความหมายได้อย่างรวดเร็วกว่า ส่วนการใช้ภาษาในโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งยึดถือมาว่า ครูและนักเรียนจะต้องใช้ภาษามาตราฐาน ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แม้จะไม่สามารถ เรียกร้องความสนใจได้เหมือนกับภาษาที่สื่อมวลชนชอบใช้ก็ตาม หากนักเรียนนำภาษาแบบที่ใช้ในสื่อมวลชนมาใช้ในโรงเรียนก็จะถูกตำหนิ ห้ามปรามและถือว่าเป็นความผิด

6. ค่านิยม

การนำเสนอของสื่อมวลชน ที่มุ่งเน้นด้านความบันเทิงและโฆษณา สินค้า มักถูกกล่าวหาจากผู้คนอยู่เสมอว่า ละเมิดค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมอันดีของสังคมเกี่ยวกับ การแต่งกาย การพูดจา ตลอดจนการแสดงท่าทางต่างๆ บางคนเห็นว่าสื่อมวลชนทำให้เกิดลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) จากการโฆษณาสินค้าต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ยุยงส่งเสริมให้คนบริโภคสินค้าเกินความจำเป็น ในขณะที่โรงเรียนสอนให้นักเรียนประหยัดและอดออม ครูหรือผู้ปกครองนักเรียนมักปฏิเสธที่จะให้นักเรียนรับข่าวสารสื่อมวลชนด้วยเหตุผลนี้เป็นจำนวนมาก

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน
นวัตกรรมการศึกษามวลชน
ความจำเป็นในการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
สื่อมวลชนกับการศึกษาในระบบโรงเรียน
ความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนกับระบบโรงเรียน
สื่อมวลชนกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน
สื่อมวลชนกับการศึกษาตามปกติวิสัย
เนื้อหาทางการศึกษาของสื่อมวลชน
ปัจจัยสนับสนุนการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
สื่อมวลชนศึกษา (Media Education)
แนวทางในการจัดหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา
นวัตกรรมการศึกษารายบุคคล
การใช้เทคโนโลยีในการจัดการฐานข้อมูลขององค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารองค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารองค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างคุณภาพองค์การทางการศึกษา
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรฯ
การพัฒนาบุคลากรด้วยการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาโดยการสัมมนา
การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาโดยการศึกษาดูงาน
รูปแบบการแพร่นวัตกรรมและกระบวนการตัดสินใจ
ลักษณะที่สำคัญบางประการของการแพร่กระจายนวัตกรรม
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
กระบวนการตัดสินใจนวัตกรรม (Innovation decision process)
การยอมรับนวัตกรรม
ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของนวัตกรรม
ปัจจัยเกี่ยวกับผู้รับนวัตกรรม
ปัจจัยทางด้านระบบสังคม (social system)
การปฏิเสธและการยอมรับนวัตกรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย