ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>
การจัดสวนไทย (Thai)
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งป่าเขาลำเนาไพร ต้นน้ำลำธาร จึงไม่มีรูปแบบในการจัดสวนเป็นของตนเองโดยเฉพาะ
ส่วนใหญ่จะใช้ทำเลทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเป็นเครื่องประกอบเสริมความงามและบรรยา-กาศเท่านั้น
การจัดสวนของไทยในสมัยโบราณเห็นได้จากหลักฐานในศิลาจารึก สมัยสุโขทัย
เป็นราชธานี "สร้างป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าว
ก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้
หมากขามก็หลายในเมืองนี้"
จะเห็นได้ว่าสมัยสุโขทัยรู้จักการทำสวนผลไม้ปลูกผลไม้ไว้เป็นอาหารและให้ประโยชน์ในการให้ร่มเงา
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งบริเวณพระราชวัง
และตามบ้านเรือนต่าง ๆ มีทั้งไม้ใบไม้ดอก รวมทั้งไม้ดัด มีทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม
ไม้เลื้อยทำรั้ว ขึ้นซุ้ม
ให้ดอกผลและให้ร่มเงาดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายร้อยปีมาแล้ว
ซึ่งกล่าวถึงภาพบ้านขุนช้างตอนขุนแผนขึ้นไปหานางวันทอง
"โจนลงกลางชานร้านดอกไม้
ของขุนช้างปลูกไว้ดาษดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน
ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม
ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดอกไสว
สมอรัดตัดทรงสมละไม
ตะขบข่อยดัดไว้จังหวะกัน
ตะโกนาทิ้งกิ่งประดับยอด
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการปลูกพรรณไม้ในลักษณะที่เป็นไม้กระถาง ไม้ดัด
และยกร่องทำแปลง ไม้ดัดซึ่งตัดแต่งรูปทรงต่าง ๆ เป็นแม่แบบไม้ดัดไทยมาจนปัจจุบันนี้
สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และให้ปลูกไม้ดัดไว้ในพระบรมมหาราชวัง ดังปราฏก
อยู่รอบสนามของพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยจนทุกวันนี้ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นมา
ได้มีการจัดสวนไม้ประดับตกแต่งบริเวณพระที่นั่ง พระอุโบสถ
โดยจัดสวนในลักษณะประดิษฐ์และสวนแบบจินตนาการ มีภูเขา สระน้ำ
รูปปั้นสลักเป็นรูปสัตว์ รูปตุ๊กตาจีน รูปปั้นในวรรณคดี
ส่วนพรรณไม้จะเป็นไม้พุ่มทรงต่าง ๆ รวมทั้งไม้ดัด เช่น ข่อย มะขาม ตะโก เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างพระราชวังสราญรมย์
ซึ่งเป็นสวนสราญรมย์ในปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์สนพระทัยในเรื่องต้นไม้อย่างยิ่ง
ทั้งนี้เพราะพระองค์เสด็จประพาสต่างประเทศทั้งเอเชียและยุโรป
ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าภูมิประเทศบ้านเมืองต่าง ๆ
โดยเฉพาะยุโรปเต็มไปด้วยสวนไม้ดอกที่ปลูกตกแต่งอย่างมีระเบียบงดงาม
ถนนหนทางก็ร่มรื่น
ด้วยเหตุดังกล่าวพระองค์จึงโปรดเกล้าให้ปลูกต้นไม้สองข้างถนนอย่างในต่างประเทศ เช่น
ปลูกมะขามรอบ ๆ สนามหลวงและถนนราชดำเนิน เป็นต้น ในรัชสมัยของสมเด็นพระปิยะมหาราช
ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศ ศิลปะและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ได้แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย
การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และสถานที่ราชการ ได้รับอิทธิพลตะวันตกมาผสมผสาน เช่น
หัวเสา ประตู หน้าต่าง รูปปั้น เป็นต้น การจัดสวนบริเวณต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน
การปลูกพรรณไม้จะตกแต่งอย่างมีระเบียบปลูกเป็นแถว ตัดแต่งเป็นรูปทรงเดียวกัน ไม้ดอก
ไม้คลุมดิน จะปลูกลงในแปลงรูปทรงเรขาคณิต
ซึ่งมักจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับด้วยไม้พุ่มเตี้ยตัดแต่งเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม
สนามจะปลูกหญ้าเป็นลานกว้างและบริเวณสนามหญ้าจะมีรูปปั้นแบบโรมันประดับริมทางเดิน
หรือหน้าอาคาร สนามหญ้าที่กว้างนี้จะใช้เพื่อต้อนรับแขกเมือง และการแสดงดนตรี
ทางเดินปูด้วยแผ่นหิน มีซุ้มไม้เลื้อย สระน้ำ น้ำพุ รูปปั้นสลัก และศาลาพักร้อน
จะเห็นได้ว่าการจัดสวนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะสวนแบบประดิษฐ์
และเนื่องจากไม้ดัดจะมีความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมไทย ดังนั้นไม้ดัด การก่อเขามอ.
การปลูกบัว
และไม้น้ำในภาชนะที่มีรูปทรงสวยงามจึงถูกนำมาตกแต่งเสริมเพิ่มให้สภาพสวนสวยงามยิ่งขึ้น
จากประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการเกี่ยวกับการจัดสวน จนถึงปัจจุบันนี้
รูปแบบการจัดสวนต่าง ๆ ยังถูกนำมาใช้ ทั้งลักษณะการจัดสวนแบบประดิษฐ์
แบบธรรมชาติและแบบจินตนาการโดยมีการดัดแปลงผสมผสานให้เกิดความสวยงาม
รวมทั้งอำนวยประโยชน์ในเรื่องการใช้สอยเพิ่มขึ้นจนถึงทุกวันนี้
อิยิปต์ (Egypt)
เปอร์เซีย (Persia)
กรีก (Greek)
โรมัน (Roman)
การจัดสวนยุคกลาง
อังกฤษ (England)
จีน (China)
ญี่ปุ่น (Japan)
ไทย (Thai)