ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

การจัดสวน

การจัดสวนญี่ปุ่น (Japan)

สวนของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากจีน ในระยะแรกการจัดสวนมีลักษณะค่อนข้างหยาบ มีบ่อน้ำกับก้อนหินเป็นตัวสื่อความหมายทางความคิดที่แปลมาจากพุทธปรัชญาของลัทธิ เต๋าและเซน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น ในที่สุดสวนญี่ปุ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนกลายเป็นประเภทหนึ่งของการจัดสวนมาจนถึงทุกวันนี้

การจัดสวนของญี่ปุ่นเป็นงานศิลปะที่คำนึงถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ในการเป็นตัวแทน ดังนั้นการใช้ต้นไม้ ก้อนหิน และน้ำ จึงมีความหมายทั้งสิ้นและเป็นความหมายที่มากกว่าสภาพของตัวเอง การใช้ต้นไม้หรือก้อนหินจะต้องระบุได้ว่าสิ่งนั้น ๆ จะแสดงออกถึงอะไร มีความหมายอย่างไร หินที่นำมาใช้อาจจะหมายถึงเกาะที่มีรูปร่างเหมือนเต่าหรือนกกระเรียน อันเป็นอมตะญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเต่าและนกกระเรียนนั้นมีอายุยืนถึง 1000 ถึง 10000 ปี การจัดกลุ่มก้อนหินก็มีความหมายทั้งสิ้นในเรื่องการใช้พรรณไม้ ญี่ปุนจะเลือกใช้ไม้ที่ไม่ผลัดใบ (evergreen) เพราะให้ความสงบ สดชื่นตลอดปี และมีความหมายถึงการมีอายุยืนยาว อาจใช้ไม้ดอกและไม้พุ่มบ้าง แต่ไม้ดอกจะไม่นิยมใช้มากนัก เพราะการจัดสวนของญี่ปุ่นจะคำนึงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียว พรรณไม้ที่เลือกใช้ จะมีต้นสน ต้นไผ่ และต้นพลัม นอกจากนี้ยังมีการตัดแต่งต้นไม้เป็นรูปร่างต่าง ๆ โดยตัดแต่งเลียนแบบธรรมชาติ เพียงแต่มีขนาดเล็กลง (bonsai)

การจัดสวนของญี่ปุ่น เป็นการจัดสวนแบบแบน (flat garden) และแบบสวนแห้ง (dry landscape garden) การจัดสวนแห้งอาจจะเรียกว่าสวนกรวดก็ได้ เพราะองค์ประกอบในการจัดจะใช้หินและกรวดเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ เช่น ใช้หินแสดงเป็นเกาะเป็นภูเขา กรวดจะเป็นตัวแทนของผืนน้ำของแผ่นดิน หินเกล็ดจะใช้เรียงกันแทนลำธารสายน้ำ เป็นต้น



การจัดสวนของญี่ปุ่น มีการพัฒนารูปแบบให้ก้าวหน้าขึ้น โดยเฉพาะจักรพรรดิ และพระ เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมาก สวนในพระราชวังจะมีความสวยงามประณีต มีเนื้อที่กว้างขวาง มีทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม ทะเลสาบ หิน กรวด ผสมผสานกับทางเดิน สะพานให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้มากขึ้น ส่วนสวนในวัดจะเน้นที่ความสมถะสงบ การจัดจะไม่เน้นความสวยงาม แต่ต้องการความหมายที่แสดงออกถึงจักรวาล ธรรมชาติโดยเฉพาะแผ่นดิน ผืนผ้า และภูเขา สวนประเภทนี้จะใช้ก้อนหินเป็นตัวแทนของภูเขา กรวดเป็นแผ่นดินผืนน้ำ การสร้างลวดลายบนผืนกรวดที่ดาดเต็มพื้นที่ก็เพื่อก่อให้เกิดสมาธิ สร้างเรื่องให้เกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อจะหล่อหลอมจิตใจของผู้ดูให้สงบ นิ่งและมองเห็นถึงความเป็นไปของชีวิต

สวนญี่ปุ่นรุ่งเรืองที่สุดในสมัยจักรพรรดิมูโรมาชิ ซึ่งเน้นที่ความบริสุทธิ์ สัจจะของสรรพสิ่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดสวนจำลองขนาดเล็กลงในถาดที่เรียกกันว่า "บอนเซกิ" กับการจัดกระถางจัดดอกไม้ที่เรียกว่า "อิเคบะนะ" สำหรับบอนเซกินั้นต่อมาได้กลายเป็นการจัดบอนไซในปัจจุบัน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะการจัดสวนรุ่งเรือง มีการทำหนังสือเกี่ยวกับการจัดสวน มีการนำเอาวัสดุก่อสร้าง วัสดุธรรมชาติต่าง ๆ มาใช้ในการจัดสวนมากขึ้นโดยเฉพาะฟาง ไม้ไผ่ ที่นำมาทำรั้วประดับต่าง ๆ และนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการผสมผสานแนวความคิดทางศิลปะต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดสวนมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสวนบ้านจะเน้นความเป็นธรรมชาติมากกว่าเน้นเรื่องสัญลักษณ์ ดังนั้นสวนญี่ปุ่นในยุคต่อ ๆ มา จึงดูแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีการจัดกลุ่มของหินและต้นไม้ เช่น กลุ่มของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามโขดหินอยู่ริมลำธาร มีสะพานข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ในปัจจุบันการจัดสวนของญี่ปุ่นอาจจะมีแนวคิดของยุโรปสอดแทรกเข้ามาบ้าง เช่น ลักษณะทางเดินริมสระ การใช้วัสดุก่อสร้างทำขอบทางเดิน เป็นต้น

ลักษณะการจัดสวนที่เด่นอีกประการหนึ่งของญี่ปุ่น คือ การจัดสวนน้ำชา (tea garden) เพื่อให้เป็นอาหารตา เป็นมุมมองจากห้องดื่มน้ำชา ซึ่งการดื่มน้ำชานี้ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากจีน การจัดสวนน้ำชาจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย เช่น เตรียมสถานที่สำหรับพักคอยของแขกก่อนเข้าไปในห้องน้ำชา มีที่วางกาน้ำอุ่นสำหรับล้างมือ มีตะเกียงหินให้แสงสว่าง มีทางเดินปูด้วยหินแผ่นเพื่อนำไปสู่ห้องดื่มน้ำชา

ความงามของสวนญี่ปุ่น อยู่ที่ความเป็นเอกภาพของสีสัน แต่มีความหลากหลายในรูปทรง เน้นความเป็นธรรมชาติของหิน น้ำ ต้นไม้ มีความประณีต เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยที่ไม่ได้ทำลายชีวิตและวิญญาณของธรรมชาติ จุดเด่นของการจัดสวนญี่ปุ่นอยู่ที่การใช้วัสดุและต้นไม้น้อยชนิด ซึ่งมีรูปร่างรูปทรงสวยงามตามธรรมชาติ มีความเป็นเอกภาพที่สามารถดึงดูดสายตาและความรู้สึกของผู้พบเห็นมาจนถึงปัจจุบันนี้

อิยิปต์ (Egypt)
เปอร์เซีย (Persia)
กรีก (Greek)
โรมัน (Roman)
การจัดสวนยุคกลาง
อังกฤษ (England)
จีน (China)
ญี่ปุ่น (Japan)
ไทย (Thai)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย