สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ประวัติศาสตร์สังคม
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
Lord Herbert of Cherbury
เขียนเล่าถึงประวัติชีวิตวัยหนุ่มของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในปีค.ศ. 1619
เมื่อเขาเข้าไปถวายสาส์นเป็นทูตประจำกรุงปารีสความตอนหนึ่งดังนี้
พระองค์ตรัสได้ไม่มากนัก เนื่องจากทรงเป็นโรคติดอ่างอย่างแรง
บางครั้งกว่าจะตรัสออกมาได้สักคำหนึ่ง
พระองค์จะต้องยื่นลิ้นออกจากพระโอษฐ์สักพักหนึ่งก่อน
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระทนต์ที่เป็นแถวคู่หนึ่ง
พระองค์ไม่ค่อยหรือไม่เคยทรงบ้วนน้ำลายหรือสั่งน้ำมูกออกมาหรือออกเหงื่อให้เห็นเลย
ทั้งๆที่ทรงออกกำลังอย่างมาก และแทบจะไม่เหนื่อยเลยในการออกไปล่าสัตว์และยิงนก
อันเป็นกีฬาที่ทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง( Marvick, 1987)
ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นหลักฐานชั้นต้นของขุนนางอังกฤษในราชสำนักฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่
17 เรื่องส่วนตัวประหลาดๆและตลกแบบนี้ ที่คนภายนอกยากจะมีโอกาสรู้เห็น
คงมีอยู่มากมายก่ายกองในแทบทุกราชสำนักในโลกนี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องราวและคำนินทาในพฤติการณ์หรือบุคลิกของเจ้านายชั้นสูง
ก็คงค่อยๆหดหายไปตามกาล
คงเหลือไว้เป็นตัวอย่างเพียงเรื่องหรือสองเรื่องในแต่ละรัชสมัยหรือราชวงศ์
ความเชื่อและเข้าใจแบบนี้เป็นจริงมากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
เมื่อการเขียนประวัติศาสตร์เริ่มหันเหทิศทางไปสู่การเป็นประวัติศาสตร์ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นสามัญชนมากขึ้น
หรือไม่ก็เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งสังคมหรือทั้งประเทศ
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของผู้นำเพียงคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป
อันเป็นผลและเป็นการสะท้อนความผันผวนและเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก
หากไม่มีนักประวัติศาสตร์ไปขุดค้นเอาข้อมูลจากบันทึกของคนร่วมสมัยในอดีตออกมา
เราคงไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องแปลกๆที่แสนจะส่วนตัวอย่างนี้ของคนที่เป็นถึงกษัตริย์ของประเทศที่เกรียงไกรเช่นฝรั่งเศสได้
คนทั่วไปรวมถึงนักศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนมากคงไม่มีโอกาสและช่องทางไปเจอบันทึกของ
Lord Herbert of Cherbury
ที่รวบรวมเกร็ดและข้อเท็จจริงของกษัตริย์ฝรั่งเศสสมัยโน้นไว้อย่างน่าสนใจ
ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าไม่รู้จะไปค้นหาได้ที่ไหน และค้นไปทำไม ยังไม่ต้องถามว่า
ทำไมถึงรู้ว่าอีตาลอร์ดแห่งเชอร์บุรีนี้แกมีบันทึกดังกล่าวนี้อยู่ด้วย
หากรู้ว่ามีหลักฐานดังกล่าว คำถามต่อไปคือแล้วจะหาอ่านที่ไหน
เป็นอันว่ามีปัญหาร้อยแปดนานาประการที่ทำให้นักศึกษาประวัติศาสตร์เองจำนวนมากก็จะไม่เสียเวลาและเงินทองเพื่อไปทำการตามหาเกร็ดและเรื่องประหลาดในราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ออกมาแน่ๆ
ยังไม่ต้องถามว่าแล้วจะรู้หรือหาข้อมูลเหล่านี้ไปเพื่ออะไร
ข้อมูลข้างต้นนี้ปรากฏออกมาเมื่อนักประวัติศาสตร์คืออาจารย์ Elizabeth
W. Marvick ตีพิมพ์ประวัติพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ออกมาในหนังสือ Louis XIII: The
Making of a King (Yale University Press, 1987)
เสียงวิจารณ์และมีปฏิกิริยาจากนักประวัติศาสตร์อื่นๆ ได้แก่คำถามทำนองว่า
มีความจำเป็นอะไรที่นักประวัติศาสตร์สมัยนี้
จะต้องไปค้นหาและนำข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ที่อาจจริงหรือเป็นเพียงคำนินทากันในราชสำนักก็ได้ออกมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีก
พ้นจากเรื่องของรสนิยมและเกร็ดประวัติศาสตร์แล้ว ที่สำคัญตามมาคือการตีความ
คำถามเชิงวิพากษ์คือ
การเล่าถึงการโปรดปรานกีฬายิงนกและล่าสัตว์ของกษัตริย์อาจมีความสำคัญทางการเมืองก็ได้
พอๆกับการที่ทรงเป็นโรคติดอ่าง
แต่การสั่งน้ำมูกหรือไม่ก็ตามของกษัตริย์มีความหมายหรือความสำคัญอะไรทางการเมือง
นั่นคือการรู้หรือไม่รู้เรื่องการสั่งน้ำมูกหรือถ่มน้ำลายของพระเจ้าหลุยส์ไม่น่าจะมีความหมายอะไรในการเขียนประวัติศาสตร์รัชสมัยของพระองค์
ถึงจุดนี้เราก็เผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญยิ่งประการหนึ่งของการเขียนหรือสร้างประวัติศาสตร์
นั่นคือการตีความ (interpretation) หรือการทำให้บรรดาหลักฐานข้อมูลทั้งหลายกลายเป็น
เรื่อง ขึ้นมา
กล่าวได้ว่าคุณลักษณะที่แยกประวัติศาสตร์ออกจากวรรณกรรมการเขียนประเภทอื่นๆทั้งหลายออกมา
ก็คือการตีความอันได้แก่การเข้าแทรกแซงของนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อหลักฐานข้อมูลและไปจนถึงการนำเสนอตัวประวัติศาสตร์นั้นต่อผู้อ่านและสังคมภายนอก
ลองฟังความเห็นของอาจารย์มาร์วิกต่อคำวิจารณ์ข้างต้นนี้
ว่าเธอจะมีความเห็นต่างจากคำวิจารณ์ข้างบนนี้อย่างไร
เธอตอบว่าการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กๆมีผลและอิทธิพลต่อการสร้างบุคลิกของพระเจ้าหลุยส์อย่างมาก
ในหนังสือเล่มนั้นเธอจึงค้นหาข้อมูลส่วนตัวทั้งหลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหมอหลวงประจำราชสำนัก Jean Heroard
ผู้ดูแลพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ติดตามควบคุมตั้งแต่เรื่องการกินเข้าไป
จนถึงของที่ถ่ายออกมา ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหมอ Heroard ทั้งสิ้น
วิธีการใช้หลักฐานและการตีความย่อมแสดงออกถึงสมมติฐานและความคิดของนักประวัติศาสตร์ด้วย
ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน มาร์วิกมีความเชื่อว่าคนเช่นหมอ Heroard
นั้นต่างหากที่เป็นผู้สร้างกษัตริย์พระองค์นี้ขึ้นมา
แน่นอนความเชื่อเช่นนี้ย่อมแยกไม่ออกจากการที่วิทยาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะวงการแพทย์
ที่ก้าวขึ้นมาครอบงำเหนือโลกทรรศน์ชาวยุโรปสมัยนั้น
การให้ความสำคัญต่อโรคประจำตัวเช่นโรคติดอ่าง ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 13
ทรงมีความเด็ดเดี่ยวในเรื่องอื่น เพื่อทดแทนปมด้อยนี้
พระองค์จึงถือการออกไปทำสงครามเป็นความสุขและความสำเร็จอันใหญ่หลวง
และยิ่งมีความหมายมากเพราะมันทำให้ฐานะของความเป็นกษัตริย์ก็มีความสูงส่งขึ้นด้วยการอ้างว่าเป็นการกระทำในหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์
(ธเนศ 2531)
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม