สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางปรัชญาและทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์และให้คำอธิบายต่อความจริงทางสังคมเกิดใหม่ๆมากขึ้น
ส่วนใหญ่เป็นการต่อเนื่องของการวิพากษ์และปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์เหนือทฤษฎีใหญ่ๆทั้งหลาย
หากระยะต้นศตวรรษที่ 20 นำมาสู่การเกิดขึ้นของความจริงที่มาจากหลายศูนย์และหลายมิติ
ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่ปรัชญาแสงสว่างของยุโรปเพียงสำนักเดียว
และปรัชญาวิธีการของสำนักปฏิฐานนิยม (Positivism) ก็ถูกวิพากษ์ลงไปด้วย(สุนัย 2533
;Kolakowski, 1972)
ช่วงปลายศตวรรษที่แล้ววิกฤตของทฤษฎีและการปฏิบัติของระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์
สร้างวิกฤตศรัทธาอย่างแรงแก่ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ
ในขณะที่ความล้มเหลวในการพัฒนาประเทศโลกที่สามที่เป็นอดีตอาณานิคมของตะวันตก
ยิ่งขยายให้เห็นมายาคติของทฤษฎีเสรีนิยมและการพัฒนาภายใต้การนำของระบบทุนนิยมแบบตะวันตก
ทั้งหมดทำให้ระบบความรู้และทฤษฎีสมัยใหม่ทั้งหลายตกอยู่ในภาวะวิกฤตและงงงันต่อการชี้นำอนาคตของสังคมโลกต่อไป
ท่ามกลางภาวะการณ์ดังกล่าว
แนวความคิดและทฤษฎีที่ได้รับการกล่าวขวัญและนำมาใช้ในการวิพากษ์สภาพการณ์ที่ดำรงอยู่ก็คือบรรดาทฤษฎีและแนวคิดเชิงวิพากษ์ทั้งหลาย
เช่นสำนัก "หลังโครงสร้างนิยม" (poststructuralism) สำนัก "ถอดโครงสร้าง"
(deconstructionists) ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆกันว่าเป็นสำนัก หลังสมัยใหม่
(Post-modern)
การเกิดขึ้นของแนวคิดหลังสมัยใหม่จึงเป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อทฤษฎีความรู้ของลัทธิสมัยใหม่
ต่อปรัชญาปฏิฐานนิยมและต่อลัทธิเหตุผลนิยม
ความคิดหลังสมัยใหม่บอกว่าเรื่องภววิสัยที่นักประวัติศาสตร์เคยเชื่อและเรียกร้องกันอยู่นั้นเป็นมายาภาพ(illusion)
และการคิดว่าสัจธรรมเกี่ยวกับโลกสังคมและฟิสิคซ์มีเพียงหนึ่งเดียวที่คนเราสามารถเข้าถึงได้นั้นก็เป็นเพียงเรื่องตลกเช่นเดียวกัน
นักคิดสำคัญที่ช่วยในการวิพากษ์ได้แก่โธมัส คุน(Thomas Kuhn) ผู้กล่าวว่า
"การเคลื่อนไหวที่จับคู่กันพอดีระหว่างความรู้ในทฤษฎีและโลกที่เป็นจริงของมันในธรรมชาติ
บัดนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าดูเหมือนจะเป็นภาพลวงตาในทางหลักการเสียแล้ว"(Kuhn 1970)
คนที่ดังมากในหมู่ปัญญาชนไทยคือมิเชล
ฟูโกต์ก็ช่วยถอดโครงกระดูกในตู้ของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ออกมาด้วยการตีแผ่ให้เห็นพันธมิตรอย่างแน่นแฟ้นระหว่าง"อำนาจ"
กับ "ระบบหรือทฤษฎีความรู้"(Michel Foucault 1994) จ๊าค แดริดา (Jacques
Derrida1984).) วิพากษ์จากแง่มุมของตัวบทหรือ text ในขณะที่ Clifford Geertz
เปิดการตีความใหม่ทางด้านวัฒนธรรมที่เขาได้รับจากประสบการณ์ในภาคสนามในแอฟริกาและอุษาคเนย์(ในอินโดนีเซียเป็นหลัก)
Paul Ricoer(1965) และ Charles Taylor ทางด้านวัฒนธรรม ปรัชญาและภาษาศาสตร์
ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงกระแสจิตวิเคราะห์ที่มาจากงานของฟรอยด์ซึ่งมีส่วนทำให้การวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เจาะลึกลงไปในเรื่องของความรู้สึกที่ไม่ใช่เหตุผลได้
ทั้งหมดนี้ล้วนบ่อนทำลายแนวคิดปฏิฐานนิยมที่วางอยู่บนการรับรู้จากประสบการณ์ลงไปอย่างถึงแก่น
ในวงการประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ไทยก็มีงานวิพากษ์แนวใหม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ดังตัวอย่างจากผลงานที่ผ่านมาของนิธิ เอียวศรีวงศ์(2527ก), ของกลุ่ม
"เศรษฐศาสตร์การเมือง" ภายใต้การนำของฉัตรทิพย์ นาถสุภา(2528)
จากนักรัฐศาสตร์ของสมบัติ จันทรวงศ์(2533) สมเกียรติ วันทะนะ(2527, 2530) และเกษียร
เตชะพีระ(2532.)และล่าสุดที่สั่นสะเทือนการตีความประวัติศาสตร์ไทยแบบเก่าอย่างแรงได้แก่งานของธงชัย
วินิจจะกูล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ของการวิพากษ์แบบ"ถอดโครงสร้าง" และ
หลังสมัยใหม่ เป็นต้น(2533 และ Thongchai Winichakul1994)
ในบรรดากลุ่มและบุคคลที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยเดิมนั้น
สำนักถอดโครงสร้าง/หลังสมัยใหม่ ดูจะมาแรงกว่าเพื่อน
ทั้งนี้เพราะสิ่งที่พวกนี้สงสัยและวิพากษ์ล้วนแต่เป็นความเชื่อและวิธีการพื้นฐานที่นักประวัติศาสตร์ไทยเดิมใช้กันมาโดยตลอด
ถ้าเลิกความเชื่อทางประวัติศาสตร์และวิธีการอันนี้แล้วก็ไม่รู้จะเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยเดิมอยู่ได้อย่างไร
ดังนั้นการดำรงฐานะของนักประวัติศาสตร์อีกต่อไปนั้นจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องถกเถียงกันถึงปัญหาที่ดูยุ่งเหยิงเหล่านี้
อาจจะทำให้ชีวิตของนักประวัติศาสตร์ไทยที่สับสนอยู่แล้ว
จะต้องสับสนวุ่นวายกันอีกมากขึ้น
ล่าสุดธงชัย วินิจจะกูลใน ประวัติศาสตร์แบบโพสต์โมเดิร์น (ธงชัย
2544)
เสนอข้อคิดของคนทำงานประวัติศาสตร์ไทยที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสำนักหลังสมัยใหม่ได้อย่างไร
เขากล่าวว่าโพสต์โมเดิร์นเกิดขึ้นเพื่อท้าทายวิพากษ์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์
ความเป็นเหตุเป็นผล และสัจธรรมหนึ่งเดียวที่มนุษย์สามารถรู้ได้
ว่าทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างหรือแต่งขึ้นของนักวิชาการทั้งหลายในรองสองศตวรรษที่ผ่านมา
แต่นักโพสต์โมเดิร์นก็ไม่ได้ปฏิเสธวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลนิยม
จริงๆแล้วถือว่าเป็นเพียง ความรู้ความเข้าใจสังคมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง
สัจจะที่ค้นพบก็เป็นแค่หนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะไม่มีสัจจะแบบแน่นอนจริงแท้แต่ประการเดียว
สัจจะที่พิสูจน์แล้วทั้งหลายต่างก็สัมพัทธ์ทั้งนั้น
กล่าวในหลักการแล้ว
โพสต์โมเดิร์นปฏิเสธรากฐานหรือหัวใจของภูมิปัญญาสมัยใหม่ แต่
มิใช่ด้วยการล้มล้างหรือโยนทิ้งความรู้ความคิดเหล่านั้น
แต่ทว่าด้วยการท้าทายว่าการรับรู้และเข้าใจโลกแบบนั้นๆ
ไม่ควรมีอำนาจหรือถือว่าเป็นหัวใจ
หรือเป็นรากฐานตัดสินความถูกผิดแต่ผู้เดียวอีกต่อไป
ไม่ควรมีอำนาจเบียดขับหรือทำลายความรู้ประเภทอื่น
ท่าทีและจุดยืนในการตีความและใช้โพสต์โมเดิร์นจึงแตกต่างหนักเบากันไปตามความเข้าใจของนักวิชาการแต่ละคนด้วย
แนวคิดและวิธีการของธงชัย ต่างจากคนอื่นๆในสังคมไทย
ตรงที่ว่าเขาทำงานรูปธรรมคืองานศึกษาค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์
และเป็นประวัติศาสตร์ไทย แต่อยู่และนำเสนอในโลกตะวันตก
จึงทำให้มีความละเอียดอ่อนต่อการรับ(ของนอก)โดยที่ตนเองเป็นคนใน
แต่ทำในเรื่องของนอก(ตะวันตก)
นอกจากนั้นการที่เขาต้องนำเสนองานประวัติศาสตร์ที่เป็นงานรูปธรรมตลอดเวลา
ทำให้การวิพากษ์ ท้าทาย ปฏิเสธอย่างสุดขั้วเป็นการมัดมือตนเอง กล่าวคือทำไม่ได้
แม้จะรู้สึกเห็นด้วย
แต่งานหลักเขาคือการนำเสนอวาทกรรมที่กำเนิดและโตมากับวาทกรรมและทฤษฎีเก่าๆทั้งหลายทั้งนั้น
ธงชัยจึงสรุปว่าโพสต์โมเดิร์นมีอิทธิพลแต่ไม่ใช่ทางด้านทฤษฎี
ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติหรือการวิเคราะห์สังคมอย่างทะลุปรุโปร่ง
แต่สิ่งที่มีอิทธิพลของมันอยู่ที่การ ท้าทายรากฐานวิธีคิด รับรู้สังคมมนุษย์ใน 2-3
ศตวรรษที่ผ่านมา นี่เองที่ทำให้มันมีผลกระทบกว้างขวางมาก
ในแทบทุกสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.....โดยที่ตัวมันเองมิได้เสนอทฤษฎีหรืออุดมการณ์ข้อเสนอรูปธรรมใดๆเลย
ประวัติศาสตร์สังคมไทยยังรอการสร้างและวิพากษ์วิจารณ์อยู่อีกมาก
อนาคตของการเขียนและการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมจึงยังท้าทายนักประวัติศาสตร์ไทยอยู่
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยขณะนี้กำลังมุ่งไปสู่การสลายโครงสร้างและระเบียบแบบแผนเก่าในสังคมไทย
แม้กระทั่งความคิดและการรับรู้ก็จะขยับจากฐานเดิมที่เคยมีสัจธรรมหรือความจริงอันเดียว
มาสู่ความรับรู้ใหม่ที่หลากหลายที่มีหลายมิติ ไม่ใช่ความจริงเพียงอันเดียว
ดังที่ธงชัย วินิจจะกูลพูดไว้ว่า เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น "คนเราจะอธิบายแบบไหน
จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่
ลองดูว่าเขาอธิบายอย่างไรจึงสื่อสารมาถึงความทรงจำของเราได้"
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่สมมติฐานเดิมที่ประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพสร้างไว้นั้นอาจคลายพลังยึดเหนี่ยวความคิดทางประวัติศาสตร์ไทยลงไป
ประวัติศาสตร์ไทย"หลังสมัยใหม่" ก็จะแตกหน่อเติบโตกันได้
ผู้เขียนเชื่อว่าประวัติศาสตร์สังคมไทยจะสามารถพัฒนายกระดับเป็น"ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมด"ได้
ดังตัวอย่างผลงานจำนวนหนึ่งที่ปรากฏออกมาแล้ว เช่น ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมฯ
และนางงามตู้กระจก (ศุลีมาน 2537)เป็นต้น
ภารกิจในระยะยาวคือประวัติศาสตร์สังคมที่เป็นของทั้งสังคมนี้
จะสามารถเข้ามาช่วยอธิบายและตีความอดีตมาถึงปัจจุบันของรัฐและสังคมไทยต่อคนรุ่นใหม่ๆโดยเฉพาะในปริมณฑลทางการเมืองได้มากน้อยเพียงไร
นี่เป็นอนาคตที่น่าติดตาม
เพราะหมายความว่าเราอาจมีสำนักประวัติศาสตร์แห่งชาติใหม่ๆและหลากหลายเกิดมากขึ้นด้วย