สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ทันทีที่นักประวัติศาสตร์สนใจและต้องการเขียนประวัติศาสตร์สังคม
เราจะต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงเลือกประวัติศาสตร์สังคม
เป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์สังคมสามารถให้ความเป็นจริงของสังคมที่เราต้องการศึกษาได้ดีกว่าประวัติศาสตร์ด้านอื่นกระนั้นหรือ
นักวิจารณ์ด้านสังคมศาสตร์อื่นๆได้ติงนักประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า
การที่นักประวัติศาสตร์ตกลงใจเขียนถึงเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งนั้น
ก็เท่ากับเราตัดสินใจละเว้นไม่เขียนถึงเรื่องอื่นที่อาจมีความหมายสำคัญและควรจะเขียนถึงเหมือนเรื่องที่เราได้เลือกเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้นัยสำคัญประการสำคัญของการเริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า
"ประวัติศาสตร์สังคม" จึงเท่ากับว่าเราได้ปฏิเสธ (แม้จะโดยไม่ได้ตั้งใจก็ตาม)
ประวัติศาสตร์เฉพาะด้านอื่นๆและประวัติศาสตร์สถาบันอีกมากมายลงไป เช่น
ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมาย
ประวัติศาสตร์ครอบครัว ประวัติศาสตร์ศาสนาและประวัติศาสตร์สตรีเป็นต้น
ถ้าเป็นเช่นนี้
นักประวัติศาสตร์ผู้ต้องการเขียนหรือศึกษาประวัติศาสตร์สังคมจะให้คำตอบต่อผู้สงสัยอื่นๆ
และต่อตัวเองอย่างไร
อาจจะมีนักประวัติศาสตร์บางท่านตอบว่า
ในความเป็นจริงแล้วการพูดถึง"ประวัติศาสตร์สังคม"
นั้นก็คือการพูดรวมเอาประวัติศาสตร์เฉพาะด้านต่างๆเหล่านั้นเข้ามาไว้ด้วยกัน
จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร กลับจะเป็นคุณูปการต่อวิชาการประวัติศาสตร์เสียอีก
แต่ในทางปฏิบัติประวัติศาสตร์สังคมที่แพร่หลายอย่างมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่
2 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆมาโดยตลอด
ฝ่ายซ้ายก็ต่อว่าว่าประวัติศาสตร์สังคมโดยทั่วไปมักบิดเบือนการต่อสู้ทางชนชั้น
แทนที่จะเน้นให้เห็นการกดขี่ขูดรีดที่นายทุนกระทำต่อกรรมกร
กลับมัวไปศึกษาเรื่องครอบครัว การใช้ชีวิตยามว่างของกรรมกร
ที่ร้ายกว่านี้คือนักประวัติศาสตร์สังคมกลับเอาเรื่องราวด้านลบของกรรมกรและคนชั้นล่าง
เช่น
การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างผัวเมียระหว่างคนต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาเป็นต้นออกมาตีแผ่
สร้างความเสื่อมเสียต่อการต่อสู้ของประชาชนและภาพลักษณ์ของชนชั้นกรรมาชีพ
ฝ่ายอนุรักษ์หรือฝ่ายขวาก็โจมตีประวัติศาสตร์สังคมที่เอียงซ้าย
กล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายซ้าย เรื่องดีๆตั้งเยอะแยะของผู้นำประเทศไม่ไปค้นคว้า
กลับไปหลงคารมของพวกสังคมนิยม
ศึกษาเรื่องชาวบ้านเพื่อให้พวกคัดค้านรัฐบาลและสังคมเพื่อเอาไปปลุกระดมเท่านั้นเอง
ฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายเป็นกลางก็โจมตีงานประวัติศาสตร์สังคมที่เอียงไปทั้งซ้ายและขวา
ว่าไม่มีหลักการและวิธีการทางประวัติศาสตร์อันเป็นธรรมหรือเที่ยงตรง (objective)
นั่นคือลักษณะทางสังคมของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในตะวันตก
นับแต่ประวัติศาสตร์มีฐานะเป็นวิชาโดยตัวของมันเองเช่นวิชาปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแล้ว
มันไม่เคยตั้งตัวอยู่โดดๆโดยไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคมเลย ตรงกันข้าม
ไม่ว่านักประวัติศาสตร์จะเขียนหรือศึกษาประวัติศาสตร์อะไรล้วนแล้วแต่มีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยที่เป็นอยู่ทางการเมือง
เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น
จนมีคนกล่าวว่าสองศตวรรษของประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้น ศตวรรษแรกคือศตวรรษที่ 19
ประวัติศาสตร์ถูกครอบงำด้วยความคิดเรื่องข้อเท็จจริง (facts)
และบรรยากาศของการเมืองชาตินิยมและการสร้างรัฐชนชั้นนายทุน ส่วนในศตวรรษที่ 20
ก็ถูกครอบงำด้วยแนวคิดสำนักปฏิบัตินิยมและปัญหาของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม
เมื่อม่านหมอกของอุดมการณ์ทางการเมืองจางหายไป
เราจะเห็นว่าลักษณะและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่นักประวัติศาสตร์และระหว่างนักประวัติศาสตร์สังคมกับนักประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆนั้นได้แก่การโต้แย้งว่าอะไรคือความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์
และนักประวัติศาสตร์ควรวางตัวอยู่ตรงไหนของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม
ปัญหาเหล่านี้จะครอบงำวงการประวัติศาสตร์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้เนื่องมาจากการก่อรูปของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เรารู้จักกันนี้
พัฒนาขึ้นมาจากแนวความคิดประจักษ์นิยม(empiricism)ที่เชื่อว่าความรู้และความจริงล้วนมาจากประสบการณ์หรือการปฏิบัติ
ทำให้วิธีการทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ไปด้วย
ผลในทางปฏิบัติคือนำไปสู่การเขียนและตีความประวัติศาสตร์จากประสบการณ์ในปัจจุบันของนักประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ
ลักษณะสำคัญดังกล่าวนี้ของประวัติศาสตรสมัยใหม่ได้กระจายเป็นยาดำแทรกไปทั่วในการศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์
ความขัดแย้งระหว่างข้อเท็จจริงกับการตีความ
และระหว่างความเป็นภววิสัยกับสัมพัทธ์
จึงเป็นปัญหาทางความรู้โดยพื้นฐานของประวัติศาสตร์สมัยใหม่(นิธิ 2527ค)