สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ลักษณะเด่นของประวัติศาสตร์สังคมปัจจุบันอยู่ตรงที่การประสานวิชาการข้ามสาขาหรือสหวิทยาการเข้ามา
ในทางปฏิบัติคือการประสานวิชาการด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยาและจิตวิทยา
ไปถึงวรรณคดีและปรัชญาภาษาศาสตร์เป็นต้น เข้ากับวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์
ความสำเร็จของนักประวัติศาสตร์สังคมในการใช้ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถก้าวพ้นออกมาจากวังวนเก่าๆซ้ำซากและน่าเบื่อหน่ายของ
การเล่าเรื่องราวเหมือนกับว่ามันได้เกิดขึ้นอย่างนั้น
(ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีใครในปัจจุบันรู้อย่างแน่นอนว่า เรื่องราวนั้น มัน
เกิดอย่างนั้น จริงๆหรือ)
ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่า วิธีการและเนื้อหาทางมานุษยวิทยา
สังคมวิทยา รัฐศาสตร์และฯลฯ จะเอามาแทนที่ทรรศนะทางประวัติศาสตร์ได้
ทำนองเดียวกับการเอาตัวเลขสถิติหรือวิธีการทางคณิตศาสตร์มาเป็นคำอธิบายและคำตอบในประวัติศาสตร์
ซึ่งหากขาดความระมัดระวังผลก็คือ
เป็นการเขียนและสร้างประวัติศาสตร์ที่เลวอีกแบบหนึ่งขึ้นมานั่นเอง ดังที่อานันท์
กาญจนพันธ์ นักมานุษยวิทยาชื่อดังได้กล่าวเตือนไว้ว่า
การนำเอาทฤษฏีทางสังคมศาสตร์มาใช้โดยตรงในการเขียนประวัติศาสตร์หรือในลักษณะสหวิทยาก็ตาม
เป็นเพียงการใช้ ลัทธิความชำนาญพิเศษ ของสาขาวิชาต่างๆเท่านั้น
ซึ่งไม่อาจแก้ไขปัญหาที่ประวัติศาสตร์มีมิติของปัจเจกชนครอบงำลงไปได้ (อานันท์,
2530)
สิ่งที่ประวัติศาสตร์สังคมต้องการคือ
เนื้อหาและภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหลาย ไม่ใช่แค่เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด
หากต้องลงไปหาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ทั้งหลายออกมาให้ได้
นักประวัติศาสตร์จะทำอย่างนั้นได้ จะต้อง
สร้างจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เหนือการแบ่งแยกการศึกษาออกเป็นสาขา
และหันมามองสังคมจากภาพวิถีชีวิตทั้งหมดอย่างเป็นเอกภาพ (อานันท์, 2530)
แต่สิ่งที่อานันท์ไม่ได้พูดถึงในกระบวนการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์สังคมอีกประการหนึ่ง
ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการ
มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และการมองสังคมทั้งสังคมอย่างเป็นเอกภาพ
ก็ได้แก่การซึมซับอารมณ์
ความรู้สึกและความใฝ่ฝันของผู้คนและยุคสมัยในประวัติศาสตร์นั้นๆออกมาให้ได้ด้วย
เพราะสิ่งที่เรียกว่า ภาพรวมของทั้งสังคม
นั้นกระทำได้ยากมากในวิธีการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ
นอกจากต้องอาศัยแว่นขยายของทฤษฎีทางสังคมเข้าช่วยด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจทำให้นักประวัติศาสตร์เผลอหยิบเอาจุดยืนทางทฤษฎีมาเป็นเป้าหมายและวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปได้
ซึ่งก็คือการทำให้ประวัติศาสตร์ขาดมิติของชีวิตแห่งปุถุชนที่เราอาจสัมผัสและรู้สึกได้ลงไปอย่างน่าเสียดาย
นักประวัติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิและรู้จักกันดีในวงการประวัติศาสตร์อเมริกาท่านหนึ่ง
เคยให้ข้อคิดที่น่าฟังมากว่า
นักประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถเข้าใจโศกนาฏกรรมที่แฝงเร้นของประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจบอกเราได้มากนักถึงเรื่องราวในอดีต
ปัจจุบันหรือในอนาคต (Genovese, 1984)
แนวทางศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จากมิติของชีวิตและความเป็นมนุษย์ดังทีกล่าวมาแล้วจะดูได้จากผลงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งของนิธิ
เอียวศรีวงศ์ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)
ซึ่งอาจจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเล่มแรกที่ดึงให้ประวัติศาสตร์ไทยเดินเข้าสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่มันควรอยู่
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของคนใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวในสังคม
หากแต่เน้นประวัติร่วมกันของชีวิต
และชะตากรรมของคนไทยในยุคสมัยหนึ่งท่ามกลางบริบทของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมที่เราอาจเข้าใจ
รู้สึกและมีความสะเทือนใจได้ด้วยได้ ดังคำกล่าวของนิธิเองที่ว่า
เวลาที่ใช้ในการค้นคว้าศึกษาหลักฐานและครุ่นคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์เป็นเวลานานกว่า
5 ปี ทำให้ทัศนคติของข้าพเจ้าต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเปลี่ยนแปลงไป
ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม แต่เป็นไปในทางที่ลึกขึ้น จนมองเห็น(หรือคิดว่ามองเห็น)
ทั้งความอ่อนแอและความเข้มแข็งของพระองค์
มีความสามารถที่จะชื่นชมพระองค์ในฐานะมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่ใช่ทวยเทพที่จุติมาดับยุคเข็ญแก่มวลมนุษย์
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นมนุษย์ที่มีทั้งกิเลสตัณหาและความสง่างามของการเสียสละอันรุ่งโรจน์
คละเคล้าปะปนกันในการกระทำเหมือนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ
ภาพที่แจ่มชัดขึ้นของพระเจ้ากรุงธนบุรีจากการศึกษาทำให้เกิดปิติที่ได้สัมผัสทิพยวิมานของนักประวัติศาสตร์นั่นก็คือ
ได้เห็นคนเป็นคน (นิธิ, 2529)