สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ความสนใจต่อการเขียนประวัติศาสตร์สังคมในตะวันตกในต้นศตวรรษที่ 20
เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานของสังคม
วิทยาการสมัยใหม่ผลักดันให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ก้าวกระโดดอันมีผลต่อชีวิตทางสังคมของประชาชน
ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดซึ่งมีผลต่อความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วย
กล่าวได้ว่านักประวัติศาสตร์เริ่มนิยามสิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" กันใหม่อีก
หลังจากที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของแนวคิดปรัชญาสำนักปฏิฐานนิยม(Positivism)
ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 มา(สุนัย 2533)
ที่สำคัญคือการขยายวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ใช้กันในศตวรรษก่อนให้สามารถครอบคลุมความจริงที่มีหลายมิติ
จุดหมายอันสูงส่งของนักประวัติศาสตร์ยุคดังกล่าวนี้ จึงได้แก่การเข้าใจสังคม
"ทั้งหมด" (total history)
ไม่ใช่เล่าแต่ประวัติและวีรกรรมของกษัตริย์และขุนพลนักรบผู้กล้าแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป
แต่ในทางปฏิบัตินักประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่จำต้องแบ่งงานและสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องขึ้นมาเพราะพฤติกรรมของมนุษย์และสังคมทวีความซับซ้อนหลากหลายตามทฤษฎีความรู้สมัยใหม่ของเราด้วย
ในแง่นี้นักประวัติศาสตร์สังคมจึงมักตอกย้ำเสมอๆว่าประวัติศาสตร์สังคมไม่ได้มีจุดหมายเพียงแค่การศึกษาเข้าใจเรื่องเฉพาะส่วนของสังคมเท่านั้น
หากที่สำคัญต้องมุ่งไปที่ความเข้าใจ "ประวัติศาสตร์ทั้งหมด" หรือพูดในภาษาของอีริค
ฮอบสบอม(Eric Hobsbawm) คือ ต้องทำให้เป็น "ประวัติศาสตร์ของสังคม" ไม่ใช่
"ประวัติศาสตร์สังคม" ที่เพียงแต่เล่าถึงประวัติอาหารหรือมารยาทในสังคมเท่านั้น(
Hobsbawm, 1971)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษปีค.ศ. 1960
ประวัติศาสตร์สังคมหมายความถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีจุดศูนย์กลางของการเขียนและการศึกษาค้นคว้าอยู่ที่ชนชั้นสูงเช่น
กษัตริย์ ขุนนาง นายทุน หรือวีรบุรุษ
และสภาพสังคมหรือชีวิตความเป็นอยู่ด้านต่างๆของผู้คนเหล่านั้นเป็นสำคัญ
ดังที่เราพบเห็นอยู่เนืองๆในหน้าหนังสือทางประวัติศาสตร์ หาก
ประวัติศาสตร์สังคมจะให้ความสนใจค่อนข้างมากแก่ "ประชาชน"
และชีวิตความเป็นอยู่กับสภาพทางสังคม
เศรษฐกิจและการเมืองตลอดจนความคิดและวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับคนชั้นล่างและชั้นกลาง
เหตุหนึ่งที่ประวัติศาสตร์สังคมได้รับความนิยมมากเนื่องมาจากกระแสการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายก้าวหน้าขึ้นมายึดพื้นที่ในแวดวงวิชาการได้ค่อนข้างมาก
แต่การเฟ้อของ ประวัติศาสตร์สังคมทำให้งานด้านนี้ขาดมิติทางการเมืองลงไป
คือลดจุดหมายจากการเป็น"ประวัติศาสตร์ของสังคม"ลงมาเป็นเพียง"ประวัติศาสตร์สังคม"ธรรมดา(ธเนศ
2531)
เมื่อพูดถึงเรื่องของ ประวัติศาสตร์สังคม
ที่แพร่หลายนิยมกันอยู่ในยุโรปและอเมริกา
จะพบว่าในอดีตก็เคยมีการเขียนประวัติศาสตร์ในเชิงสังคมดังกล่าวมาก่อนบ้างแล้ว
เพียงแต่ยังไม่มีการให้สำนักและยี่ห้อ กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์สังคม
ในความหมายกว้างๆ ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว
แม้มันจะกลับมามีอิทธิพลและความนิยมเอาในศตวรรษที่ 20 นี้ก็ตาม
ความจริงประวัติศาสตร์สังคมนั้นมีมาแต่สมัยของเฮโรโดตัสก็ว่าได้
แต่ที่โด่งดังในปัจจุบันเพราะผู้คนยกย่อง ฐานะ ของมันขึ้นเด่นกว่าสาขาอื่นๆ
โดยเฉพาะนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ท่ามกลางกระแสของการวิพากษ์และการค้นหาตัวเองของประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์สังคมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ตั้งแต่สำนัก Annales
ของฝรั่งเศส มาถึงกลุ่มซ้ายใหม่ในทศวรรษที่ 1970
ใช้เป็นรูปแบบในการลงไปค้นหาคำตอบต่อคำถามว่าประวัติศาสตร์คืออะไร
ข้อเท็จจริงกับการตีความสัมพันธ์กันอย่างไร และความรู้ควรรับใช้การปฏิบัติอย่างไร
แต่ประวัติศาสตร์สังคมให้ความสนใจต่อปัญหาพื้นฐานของประวัติศาสตร์นิพนธ์น้อยเกินไปหรือแทบไม่ให้ความสำคัญเลย
เพราะสิ่งที่ประวัติศาสตร์สังคมนำเสนอกลายเป็นการอุดช่องโหว่ของประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ในหลายกรณีเป็นการประนีประนอมไม่เอนเอียงไปทางสำนักประวัติศาสตร์นิยมหรือสำนักสัมพัทธ์นิยมแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ประวัติศาสตร์สังคมในตอนแรกๆดูจะสนุกกับการขุดค้นข้อมูลเก่าๆที่ไม่เคยมีใครสนใจเช่นเรื่องมารยาทในสังคม
อาหารการกินการนอนไปจนถึงชีวิตทางประเพณีของชาวบ้านในยุคสมัยต่างๆ
การนำเสนอข้อมูลใหม่ในรูปแบบที่น่าสนใจกว่าประวัติศาสตร์แบบเก่าบางครั้งนำไปสู่การตีความใหม่ของประวัติศาสตร์ได้เหมือนกัน
แต่น้ำหนักของประวัติศาสตร์สังคมในการหักล้างการตีความแบบเก่าดูจะไม่หนักแน่นนัก
เพราะโดยตัวมันเองประวัติศาสตร์สังคมไม่พยายามสร้างทฤษฎีขึ้นมาชุดหนึ่ง
สำหรับเป็นอาวุธในการต่อสู้คัดง้างกับสำนักคิดอื่น
และใช้ในการสร้างการตีความประวัติศาสตร์แบบใหม่อันเป็นลักษณะเฉพาะของตนขึ้นมา
ประการหลังนี้กลุ่มประวัติศาสตร์สังคมไม่สนใจทำเลย
งานด้านนี้ที่ผ่านมาจึงมักเป็นความสำเร็จเฉพาะตัวของนักประวัติศาสตร์สังคมรายบุคคลไป
เช่น Norbert Elias(1978,1983), Marc Bloch (1964), Christopher Hill(1972), Rudè
(1959), Emmanuel Le Roy Ladurie(1980), Fernand Braudel(1973), เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่างานประวัติศาสตร์สังคมไม่มีผลกระทบหรือความหมายอันสำคัญต่อวงการประวัติศาสตร์
ตรงกันข้ามงานเขียนของบรรดานักประวัติศาสตร์สังคมที่เราเอ่ยถึงข้างบนนี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์คลาสสิกที่นักเรียนประวัติศาสตร์ในยุโรปอเมริกาต้องอ่านทั้งนั้น
ดังที่กล่าวแล้วแต่ต้นว่า
วงการประวัติศาสตร์ไทยยังมีคนลงไปทำเรื่องประวัติศาสตร์สังคมอย่างเอาจริงเอาจังน้อยมาก
ที่ผ่านมาเห็นจะได้แก่งานหลายชิ้นของนิธิ
เอียวศรีวงศ์ที่พยายามสร้างภาพของสังคมไทยในอดีตขึ้นมาในงานประวัติศาสตร์ของเขา
ที่สำคัญเช่น "สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพีไทย"(2527 ก), และ"นางนพมาศ" เป็นต้น(2527
ข), ในขณะที่ สังคมไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น 23252411 ของ ม.ร.ว. อคิน
รพีพัฒน์ก็เป็นงานบุกเบิกอีกด้านในการเสนอทฤษฎีระบบอุปถัมภ์สำหรับอธิบายลักษณะและความสัมพันธ์ในสังคมไทย
โดยที่ไม่ได้วิพากษ์หรือตั้งคำถามต่อความคิดพื้นฐานของประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ
แม้ว่าศูนย์กลางของงานเหล่านี้จะยังอยู่ในรัศมีของชนชั้นสูงแต่งานเหล่านี้ควรถือเอาเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้สนใจการเขียนประวัติศาสตร์สังคมของไทยได้
ในขณะเดียวกันมีความพยายามของนักประวัติศาสตร์บางท่านในการสร้างประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในทุกๆด้านขึ้นมา
เช่นงานประวัติศาสตร์ของชัย เรืองศิลป์ที่ใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพ.ศ.
2352-2453 ด้านสังคม (2519)
แต่วิธีการเขียนและตีความตลอดจนถึงการใช้ข้อมูลยังถือว่าอยู่ในแบบประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก
เพียงแต่มีการเพิ่มด้านสังคมเข้าไป
ซึ่งก็ยังกว้างๆไม่ได้มีคำนิยามว่า"สังคม"ในที่นี้หมายถึงอะไร
หลักฐานและการตีความอย่างแคบและจำกัดจะทำให้เข้าใจสังคมไทยสมัยนั้นดีขึ้นอย่างไร
ตัวอย่างอีกเล่มที่น่าพูดถึงคือ ประวัติศาสตร์สังคมไทย (2520)ของเฉลิม
จันปฐมพงศ์และคณะ ผู้เขียน(ที่จริงเรียบเรียง)ชี้แจงแต่แรกเลยว่า
"โครงเรื่องจะให้เน้นหนักโครงสร้างและเอกลักษณ์สังคมไทยซึ่งจะแสดงความสำคัญของสถาบันชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้ปรากฏ" เป็นไปได้อย่างไร ที่สถาบันชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ที่เพิ่งก่อรูปและถูกสร้างให้เป็นสถาบันแห่ง ชาติ
ไปเมื่อไม่เกินร้อยปีมานี้
จะเอาไปอธิบายประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาได้
นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาในการนิยามคำว่าประวัติศาสตร์สังคมในอดีตของไทย
เล่มล่าสุดได้แก่ผลงานของ มนฤทัย ไชยวิเศษเรื่อง ประวัติศาสตร์สังคม
ว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย (2545)
ซึ่งเน้นศึกษาในหัวข้อที่ทุกคนรู้จักกันดี
แต่ไม่เคยมีใครนำมาเขียนเป็นงานวิชาการที่จริงจัง
นี่เป็นตัวอย่างของการที่สภาพแวดล้อมทางสังคมและความคิดสังคมในแต่ละยุคที่แตกต่างกัน
ก็มีผลต่อการสร้างประวัติศาสตร์เรื่องอะไรด้วย
ภายใต้บรรยากาศของแนวคิดโพสต์โมเดิร์น
สภาพสังคมแบบโลกาภิวัตน์และระบบการเมืองที่ดำเนินไปบนหลักการรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป(2540)
ประกอบกับการเพิ่มความสำคัญของภาคสังคมลงไปถึงการยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ
ทั้งหมดนี้ทำให้งานศึกษาในเรื่องชีวิตประจำวันที่ง่ายๆเช่นเรื่องส้วมและพัฒนาการของมันเป็นสิ่งที่มีความหมายและน่าเรียนรู้ได้เหมือนกัน
ผู้เขียนได้เปิดมิติใหม่และวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทย
โดยศึกษาจากตัวแบบเรื่องส้วมเป็นสำคัญ
หนังสือเล่มนี้ไม่มีจุดอ่อนของประวัติศาสตร์สังคมที่ได้อธิบายมาแต่ต้น
นั่นคือการละเลยมิติและปัจจัยด้านอื่นๆเช่นการเมือง
เศรษฐกิจและสังคมส่วนอื่นๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวพันออกไป
ตรงกันข้ามผู้เขียนสามารถเชื่อมโยงมิติและปัจจัยทั้งหลายเข้ามาช่วยอธิบายและสร้างภาพของส้วมและความเป็นมาในสังคมไทยให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางโลกทรรศน์ของคนและสังคมไทยจากยุคก่อนสมัยใหม่มาถึงยุคสมัยใหม่
ยุคพัฒนาและยุคโลกาภิวัตน์
ได้เห็นบทบาทของรัฐและกฎหมายในการนำเข้าและรับสิ่งใหม่จากภายนอก
นำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ของรัฐว่าด้วยการพัฒนา
ได้เห็นระบบการศึกษาที่รับลูกจากรัฐในการอบรมบ่มเพาะความเชื่อและการปฏิบัติในอารยธรรมหรือ
ความศิวิไลซ์ ในเยาวชนของสังคม
ไปถึงการสร้างความต้องการในการใช้ส้วมสมัยใหม่ของบริษัทผู้ผลิตและการโฆษณา
ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นประวัติศาสตร์สังคมของส้วมอย่างสวยงามและมีความรู้
ประวัติศาสตร์สังคมค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นที่ยอมรับกัน
เมื่อมันสามารถให้คำอธิบายที่ผู้อ่านกำลังต้องการอยู่
นั่นคือสภาพสังคมและการเมืองยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ที่ท่วงทำนองการเขียนและอธิบายแบบ ประวัติศาสตร์การเมือง ก่อนหน้านี้
ไม่เป็นที่พอใจของสังคมอีกต่อไปกลุ่มที่เป็นหัวหอกของการนำเสนอวิธีการประวัติศาสตร์สังคมได้แก่สำนัก
Annales แห่งฝรั่งเศส ผลงานของกลุ่มนี้
ถือว่าเป็นการบุกเบิกและกลายมาเป็นคลาสสิคของสำนักประวัติศาสตร์สังคม
นักประวัติศาสตร์สำคัญสองท่านคือ Lucien Febvre และ Marc Bloch
ซึ่งเป็นบรรณาธิการวารสาร Annales dhistoire èconomique et sociale
ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1929
วารสารเล่มนี้เป็นกุญแจหลักในการก่อรูปของประวัติศาสตร์ใหม่
ที่ตรงข้ามกับประวัติศาสตร์สถาบันการศึกษาที่ยึดแนวประวัติศาสตร์การเมืองอยู่
กลุ่มนี้ปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่เขาเรียกว่า เหตุการณ์กำกับ (event-oriented
history) จุดอ่อนของประวัติศาสตร์แนวเก่าคือ
มันไม่สามารถเก็บรับความสมบูรณ์ของความจริงในมนุษย์
และกระทั่งเป็นอันตรายต่อสถานะของประวัติศาสตร์เองอีกด้วย Febvre กล่าวว่า
ประวัติศาสตร์จะต้องยุติการปรากฏออกมาในรูปของสุสานอันหลับใหลที่หลอนโดยแผนการณ์อันเปรียบเสมือนเงาของมัน
นักประวัติศาสตร์จะต้องแทรกแซงเข้าไปในพระราชวังอันเงียบสงัดที่เจ้าชายยังง่วงนอนอยู่
แล้วเปิดหน้าต่างประตูให้เกิดความสว่างและให้โลกของเสียงเข้ามาในห้อง
ดังนั้นจึงจะทำให้เจ้าชายตื่นจากการหลับใหลขึ้นมาได้ (Febvre 1953)
แนวการศึกษาสำคัญที่นักประวัติศาสตร์สังคมทั้งสองท่านเสนอก็คือ
การดึงเอาเนื้อหาทางสังคมและวัฒนธรรมของยุคสมัยออกมา เรียกว่า total mentalitè
ด้วยวิธีการและความรู้สึกอันละเอียดอ่อนดังปรากฏในหนังสือของบล๊อค
ซึ่งกลายเป็นงานคลาสสิกไปแล้วคือเรื่อง Feudal Society (Bloch 1964)
อีกมุมหนึ่ง
ประวัติศาสตร์สังคมก็มีพื้นฐานการพัฒนามาจากผลงานของมาร์กซและเองเกลส์ด้วยเช่นกัน
แต่ความหมายของคำว่า สังคม ในที่นี้มีนัยถึง สังคมนิยม
หรือไม่ก็อย่างน้อยต่อต้านการเมืองของระบบทุนนิยมหรือกระฎุมพี นอกจากนี้ สังคม
ยังไม่ใช่หมายถึงเพียงสังคมทั้งประเทศเท่านั้น
หากมุ่งถึงชนชั้นที่ต่อสู้เพื่ออำนาจการเมืองมากกว่า
โดยเฉพาะคือกรรมกรและชนผู้ใข้แรงงานทั้งมวล
ดังนั้นแนวการเขียนประวัติศาสตร์สังคมของสำนักมาร์กซิสต์ในยุคแรกๆ
จึงมักออกมาในรูปของประวัติผู้ใช้แรงงานหรือ labor history
งานสำคัญของมาร์กซในการเขียนแบบประวัติศาสตร์สังคมได้แก่ Eighteenth Brumaire Of
Louis Bonaparte (Marx 1967)
ในแง่นี้ประวัติศาสตร์สังคมของฝ่ายซ้ายก็คล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์สังคมของฝ่ายเสรีนิยม
ในแง่ที่เลือกพรรณาถึงประวัติราชวงศ์
กษัตริย์และพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนเป็นต้น
แต่ความพยายามที่เอาความรู้สึกแบบสังคมนิยมเพียงอย่างเดียวมาแทนที่วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเก่านั้น
ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในการพัฒนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคมและทฤษฎีลัทธิมาร์กซเองด้วย