สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม
ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
กล่าวในด้านของประวัติศาสตร์นิพนธ์(historiography)
หรือว่าด้วยวิธีวิทยาและปรัชญาของการเขียนประวัติศาสตร์
ประเด็นและข้อถกเถียงในเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์บุคคลกับประวัติศาสตร์ของส่วนรวม
เป็นประเด็นและมีการอภิปรายถกเถียงกันมากในทศวรรษปีค.ศ. 1930
ในโลกวิชาการตะวันตกเป็นต้นมา ในขณะที่การเขียนประวัติศาสตร์ทางสังคม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลหรือเรื่องของส่วนรวม
ที่เรียกรวมๆว่าประวัติศาสตร์สังคม(social history)
ยังไม่เป็นปัญหาถกเถียงโต้แย้งกัน
ไม่ว่าจะในด้านไหนของสังคมไทยที่ผ่านมาจนปัจจุบันนี้
เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่แสดงถึงความต้องการและใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์สังคมมากเท่าไรนัก
ในทำนองเดียวกันนักประวัติศาสตร์ไทยจึงยังไม่ได้ก้าวลงมาทำงานด้านนี้กันอย่างจริงจัง
ลองพิจารณาเนื้อหาทางสังคมในหนังไทยและในวรรณกรรม
จะพบว่าการสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกับเป็นอดีตจริงๆนั้น
เป็นเรื่องยากในการทำด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นอันดับแรก
และเหตุผลทางองค์ความรู้และวิธีวิทยาในการศึกษาจัดการกับความจริงทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นอันดับสอง
ดังนั้นหนังและละครประวัติศาสตร์ของสังคมไทย
จึงมีอยู่สายเดี่ยวคืออดีตในพระราชพงศาวดาร
ซึ่งเป็นความจริงที่เป็นความเชื่อทางอุดมการณ์การเมืองของรัฐ
กล่าวให้ถึงที่สุดการไม่พัฒนาของประวัติศาสตร์สังคมก็คือผลต่อเนื่องทางการเมืองของรัฐและชนชั้นต่างๆในสังคมไทย
ที่ยังไม่อาจยอมรับและให้ความจริงและการตีความอันหลากหลายในอดีตของสังคมดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความหมายนัย
เพราะกลัวว่ามันจะมีน้ำหนักต่อการผลักดันและเปลี่ยนแปลงทิศทางและโลกทรรศน์ไปถึงความเข้าใจและรับรู้ของคนไทยทั้งหลายอย่างจริงจัง
การที่นักประวัติศาสตร์จะเลือกศึกษาอดีตในลักษณะไหนจึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงถึงสภาพการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆที่มีผลต่อการสร้างความรู้และความต้องการหรือไม่ต้องการความรู้อะไรด้วย
การที่ประวัติศาสตร์สังคมยังไม่มี"ตลาด" หรือผู้ผลิตในเรื่องนี้
ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยที่เราศึกษาและเขียนกันอยู่จนปัจจุบันนี้ยังคงเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีกระแสเดียวนับแต่วันแรกมาถึงปัจจุบัน
ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ประวัติศาสตร์ชาติ หรือ national history (ชาญวิทย์
เกษตรศิริและสุชาติ สวัสดิ์ศรี 2519; นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2521)
นักประวัติศาสตร์บางท่านตั้งชื่อให้ด้วยว่าเป็นประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ
(กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร 2519)
ล่าสุดมีการขยายความให้คมชัดขึ้นอีกโดยเรียกว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม
(ธงชัย วินิจจะกูล 2544)
การที่ประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมไทยยังครองตลาดอยู่ได้อย่างแข็งขัน
สะท้อนว่าความรู้และความจริงในอดีตแบบพระราชพงศาวดารนั้นยังสามารถสนองความต้องการของคนในสังคมได้(ส่วนความต้องการดังว่านี้จะดีหรือถูกต้องหรือไม่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง)
แม้ว่าจะมีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์สกุลนี้บ้างก็ตาม
แต่ยังมีผลกระทบในวงการศึกษาและการสร้างประวัติศาสตร์แนวใหม่อื่นๆค่อนข้างน้อย
ที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ด้วยการพิจารณาลักษณะเด่นของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักหรือสกุลดำรงราชานุภาพตามที่นิธิ
เอียวศรีวงศ์ได้วิเคราะห์
ว่าเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่สามารถนำเอาพงศาวดารมาใช้"ประโยชน์"
ได้อย่างเต็มที่
ได้แก่การใช้ประวัติศาสตร์ในการสร้างสยามให้เป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่
โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปได้เป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐประชาชาติที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การก้าวขึ้นมาของชนชั้นนายทุนและความคิดว่าด้วยความก้าวหน้าและความศิวิไลซ์ของสังคมมาก่อนแล้ว
นับจากนั้นมาภารกิจและปรัชญาอันรวมถึงวิธีการทางประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพัฒนาการและรวมถึงความมั่นคงทางการเมืองของรัฐไทยสมัยใหม่มากระทั่งปัจจุบัน
มองจากจุดนี้จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของการเขียนประวัติศาสตร์เฉพาะด้านอื่นๆ
ที่จะมีความหมายต่อพัฒนาการของประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากแม้ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว
(นิธิ 2523ก)