ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถาน

ความเป็นมาของคำว่า “Museum” และ “พิพิธภัณฑสถาน”
ประวัติพิพิธภัณฑสถานของไทย
หน้าที่ของพิพิธภัณฑสถาน

ประวัติพิพิธภัณฑสถานของไทย

ในประเทศไทย คำว่า พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งหมายถึง Museum ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากคำว่า พิพิธภัณฑ์ ซึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงบัญญัติขึ้นเป็นนามพระที่นั่งที่ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งแสดงวัตถุสะสมส่วนพระองค์ ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องราชบรรณาการจากราชสำนักต่างประเทศ และเครื่องบรรณาการที่ราชทูตและชาวต่างประเทศนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระที่นั่งที่ทรงสร้างนั้นพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” (ประพาส แปลว่า เที่ยวเล่น พิพิธภัณฑ์ แปลว่า สิ่งของต่างๆ) บางครั้งทรงใช้พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์นี้เป็นที่รับราชอาคันตุกะเป็นการส่วนพระองค์ เช่น เซอร์จอห์น บาวริ่ง ก็เคยเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งองค์นี้ และได้บันทึกไว้ว่าได้เข้าชมสิ่งของต่างๆ ที่ทรงสะสมและตั้งใจแสดงในพระที่นั่งนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่าในสมัยแรกบัญญัติ คำว่า พิพิธภัณฑ์ แปลว่า สิ่งของต่างๆ ยังไม่ได้ใช้เรียกสถาบันซึ่งเก็บรวบรวม และจัดแสดงสิ่งของให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองปัตตาเวีย เมืองหลวงของชวา (สมัยนั้นเรียกประเทศอินโดนีเซีย ว่า ชวา ตามชื่อเกาะที่ใหญ่ที่สุด และเป็นเกาะที่ตั้งเมืองหลวง ปัจจุบันปัตตาเวีย อยู่ใน กรุงจาร์กาตา) ได้ทออดพระเนตรเห็นอาคารอันเป็นที่ทำการทหารมหาดเล็กของเมืองปัตตาเวีย ชื่อว่า หอคองคอเดีย จึงโปรดให้นำแบบอาคารดังกล่าวมาสร้างไว้ใน พระบรมมหาราชวัง และเรียกชื่ออาคารในปัตตาเวียว่า หอคองคาเวีย (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม ตั้งอยู่ตรงทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก)

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวานั้นได้เสด็จฯ เยือนสถานที่เก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชวา และทรงเรียกสถานที่นั้นทับศัพท์ว่า มิวเซียม (Museum)

ในปีพุทธศักราช 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุ 21 พรรษา และเป็นการครบรอบ 1 ปี แห่งการครองราชย์สมบัติหลังจากทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์จึงโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่เก็บไว้ในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดง ณ หอคองคอเดีย ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2417 เรียกการจัดแสดงนั้นว่า เอกษบิชัน (Exhibition) และได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการจัดแสดงเป็นการเปิดการจัดแสดงในตอนค่ำวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417

การจัดแสดงครั้งนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงมีลักษณะครบตามคำจำกัดความ คำว่า พิพิธภัณฑสถานคือ มีการเก็บรวบรวมวัตถุและมีการจัดแสดง เพื่อความรู้และความเพลินใจ) ด้วยเหตุนี้กิจการพิพิธภัณฑสถานของไทยจึงถือเอาวันที่ 19 กันยายน เป็นวันพิพิธภัณฑสถานไทย ซึ่งได้มีการฉลองครบรอบ 100 ปี กิจการพิพิธภัณฑสถานของไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2517

ในสมัยรัชกาลที่ 5 การจัดแสดง เอกษบิชัน ในระยะแรกๆ เป็นการจัดแสดงชั่วคราวโดยนำเอาวัตถุที่เก็บไว้ ณ พรพะที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดที่หอคองคอเดีย และเรียกว่า ห้องมิวเซียม หรือ หอมิวเซียม จัดแสดงเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เนื่องในเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล หรือ เมื่อมีพระราชอาคันตุกะมาเข้าเฝ้า จนถึงปีพุทธศักราช 2430 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร หรือตำแหน่งวังหน้า ซึ่งมีหน้าที่เสมือนเป็นรองจากพระมหากษัตริย์ และตั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้นมาเป็นตำแหน่งสำหรับผู้ที่จะสืบราชสันติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปขึ้นมาแทน ด้วยเหตุนี้พระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรจึงว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่นั่งส่วนหน้าในพระราชวังบวรสถานมงคล คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่งอิสราวินิจฉัยให้เป็นพิพิธภัณฑสถาน เรียกกันว่า มิวเซียมวังหน้า เก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุไว้เป็นการถาวร แต่เปิดให้ประชาชนทั่วไปดูเป็นครั้งคราว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล และอื่นๆ รวมทั้งเปิดให้ชมตามที่มีผู้ขอเข้าชม

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้คำว่า สถานพิพิธภัณฑ์ เรียกแทนคำว่า มิวเซียมวังหน้าบ้าง คำว่า พิพิธภัณฑสถาน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งได้พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าทั้งหมดให้พิพิธภัณฑสถาน โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงอาคาร และการจัดแสดง และประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2469 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ปัจจุบันประชาชนทั่วไป เรียกสถาบันที่มีการเก็บอนุรักษ์วัตถุและจัดแสดงให้ประชาชนชมว่า “พิพิธภัณฑ์” แท้จริงแล้วคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ควรใช้เรียกสิ่งของต่างๆ ตามที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Collection” และ “Museum” ควรใช้ภาษาไทยว่า “พิพิธภัณฑสถาน” หากจะเรียกย่อๆว่า “พิพิธภัณฑ์” ก็ได้ แต่หากเวลาเขียนควรจะเขียนเต็มคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” และเขียนย่อว่า “พิพิธภัณฑ์ฯ” (มีไปยาลน้อยกำกับข้างท้าย) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ระบุว่าให้ใช้ได้ทั้งสองคำคือ พิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งหมายความถึงสิ่งเดียวกัน

ในทางสากลคำว่า พิพิธภัณฑสถาน หรือ museum ตามคำจำกัดความของสภาพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ มีลักษณะดังนี้ คือ

“พิพิธภัณฑสถาน คือ สถาบันที่ตั้งขึ้นเป็นการถาวรไม่แสวงหาผลกำไร เปิดสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อบริการชุมชน และเพื่อพัฒนาชุมชน โดยเก็บรวบรวม อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้า สื่อสาร และจัดแสดงวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อจุดประสงค์ในการค้นคว้า การเรียนรู้ และความเพลิดเพลิน”

ดังนั้นสถาบันที่จัดว่าเป็นพิพิธภัณฑสถาน จึงต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการควบคู่กัน คือ มีการเก็บรวบรวมวัตถุ และจัดแสดงวัตถุที่รวบรวมไว้นั้นให้ประชาชนชม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและเพื่อความบันเทิงใจ สถานที่เก็บรวบรวมวัตถุเพียงบางประการเดียว หรือมีการจัดแสดงให้คนเข้าชมเพียงเพื่อนฝูงสนิทชิดเชื้อ ไม่เปิดให้คนทั่วไปชม อย่างกว้างขวาง จึงไม่ถือเป็นพิพิธภัณฑสถาน เช่น ตามร้านค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ที่มีการเก็บรวบรวมวัตถุ และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม แต่เก็บรวบรวมและจัดแสดงเพื่อจำหน่ายอย่างนี้ก็ไม่จัดเข้าเป็นพิพิธภัณฑสถาน จากคำจำกัดความนี้จึงรวมสถาบันและสถานที่หลายหลากที่จัดว่าเป็นพิพิธภัณฑสถาน คือ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ หอศิลป์ อุทยานประวัติศาสตร์ วนอุทยาน สวนสัตว์ พิพิธภัณฑฯสัตว์น้ำ เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย