ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถาน

ความเป็นมาของคำว่า “Museum” และ “พิพิธภัณฑสถาน”
ประวัติพิพิธภัณฑสถานของไทย
หน้าที่ของพิพิธภัณฑสถาน

ความเป็นมาของคำว่า “Museum” และ “พิพิธภัณฑสถาน”

ภาษาอังกฤษ เรียก พิพิธภัณฑสถานว่า Museum มาจากคำภาษากรีกว่า Mouseione เป็นชื่อที่ใช้เรียกวิหารของกลุ่มเทพธิดาพี่น้อง ทั้ง 9 ซึ่งเรียกรวมกันว่า Muses เทพธิดามิวส์เหล่านี้เป็นพระธิดาของเทพเจ้าสูงสุดของกรีก คือ ซีอุส (Zeus) และเทพธิดาแห่งความจำชื่อ มเนมโมซีน (Mnemosyne) เทพธิดามิวส์ทั้งเก้านี้แต่ละองค์เป็นเทพธิดาแห่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนประเภทต่างๆ บ้างก็เป็นเทพธิดาแห่งวิชาการ เช่น ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งนับรวมว่าเป็นเทพธิดาแห่งศิลปะและวิทยาการ มีหน้าที่ขับขานบทเพลงในพิธีบูชาเทพเจ้า และวีรบุรุษ

คำว่า มิวซีโอน (Mousione) นำมาใช้เรียกสถาบันที่เก็บรักษาวัตถุต่างๆ เป็นครั้งแรกตามที่ปรากฏหลักฐานเมื่อประมาณ 2,300 ปีมาแล้ว โดย ปโตเลมี ซอเตอร์ (Ptolamy Soter) นายทหารรักษาพระองค์พระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ (Alexander the Great) มหาราชของอาณาจักรกรีก เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล (300 B.C.) ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอิยิปต์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Museum of Alexandria ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งเอล็กซานเดรียนี้เป็นเสมือนมหาวิทยาลัย มีส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ห้องสมุด สถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุ และสถานที่เก็บและจัดแสดงเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงละครและอื่นๆไว้ให้นักปราชญ์ และนักคิดได้เข้ามาศึกษาหาความรู้

การที่ปโตเลมี ซอเตอร์ ใช้ชื่อวิหารของเทพธิดาแห่งศิลปะวิทยาการมาตั้งเป็นชื่อสถาบัน ที่ตั้งขึ้นเป็นที่ระลึกแด่จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุต่างๆ และเปิดแสดงเพื่อการศึกษา เช่นนี้คงจะด้วยต้องการให้มีความหมายว่า สถาบันแห่งนั้นเป็นที่รวมแห่งศิลปะวิทยาการนั้นเอง และพิพิธภัณฑสถานแห่งอเล็กซานเดรีย นับว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย