ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

นิยามและสาขาของปรัชญา

     กล่าวกันว่า Pythagorus เป็นคนแรกที่ใช้ศัพท์ Philosophy มีคนเรียก พิธาโกรัสว่า คนมีปัญญา แต่เขาปฏิเสธ โดยกล่าวว่า “ ปัญญา ” เป็นของพระเจ้า ส่วนมนุษย์เป็นได้แค่รักในปัญญาเท่านั้น ( อ้างในรุ่งเรือง บุญโญรส , 2512 : 23) ความหมายของปรัชญาที่หมายถึงรักในปัญญา รักในความรู้ดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันอยู่ทั่วไป

คำว่า philosophy ภาษาไทยใช้คำว่า ปรัชญา คำว่า philosophy นี้เป็นภาษากรีกซึ่งประกอบด้วยคำ 2 คำคือ Philos กับ Sophia คำว่า Philos หมายถึง ความรัก ความเลื่อมใส ส่วนคำว่า Sophia หมายถึง ความรู้ ปัญญา ดังนั้นคำว่า philosophy ในด้านนิรุกติศาสตร์จึงมีความหมายว่า ความรักในความรู้ หรือความรักในปัญญา ( Gerald,1988:2) ในพจนานุกรม Webster คำว่า philosophy หมายถึง Love of Wisdom or Love of Knowledge ซึ่งหมายถึงความรักในปัญญาหรือความรักในความรู้ ( Webster’s New World Dictionary of American Language , 1962 : 1099 )

ดิวแรนท์ ( Durant,1944 :2-3 ) กล่าวว่า Philosophy คือ การแปลความหมายของเรื่องที่ไม่รู้ เช่น วิชาอภิปรัชญา และการแปลความหมายของสิ่งที่ทราบเหมือนกัน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง เช่น วิชาจริยศาสตร์เป็นเสมือนสนามเพลาะแนวหน้า ในอันที่จะโอบล้อมความจริง ศาสตร์ต่างๆเป็นเสมือนอาณาเขตหรือพื้นที่ที่ยึดได้แล้ว และเบื้องหลังของศาสตร์ต่างๆ นั้น ก็คือเขตแดนที่ปลอดความรู้และศิลปะจะใช้สร้างโลกอันไม่สมบูรณ์ และมหัศจรรย์ของเราขึ้นมา

อิมรอน มะลูลีม(2539 :7-8)ได้สรุปคำนิยามของคำว่าปรัชญาในทัศนะของนักคิดบางท่านดังต่อไปนี้
เพลโตมีทัศนะว่าปรัชญานั้นมุ่งหมายให้มีความรู้ในสิ่งอันเป็นนิรันดร์ในลักษณะอันเป็นแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ
อริสโตเติลมีทัศนะว่าปรัชญาคือวิทยาการที่สืบสวนค้นคว้าหาลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ ดังที่เป็นอยู่ในตัวของมันเอง และคุณลักษณะซึ่งเป็นของมันตามลักษณะของมันเอง
เคร็ดมีทัศนะว่าไม่มีประสบการณ์อันใดของมนุษย์ไม่มีสิ่งใดในอาณาเขตทั้งหมดแห่งความจริงจะอยู่นอกเหนือขอบเขตแห่งปรัชญา

บรอดมีทัศนะว่าความมุ่งหมายของปรัชญาก็คือเพื่อนำเอาผลของวิทยาการต่างๆ เข้าไปรวมกับผลของประสบการณ์ด้านศาสนาและจริยธรรมของมนุษยชาติ แล้วก็มาใคร่ครวญถึงผลทั้งหมดนั้นด้วย ความคิดที่จะไปให้ถึงข้อสรุปทั่วไป อันหนึ่งที่เกี่ยวกับลักษณะของสากลจักรวาลและสถานภาพกับอนาคตของเรา

คานท์มีทัศนะว่าปรัชญาคือวิทยาการและข้อวิจารณ์ในเรื่องปัญญา
ฟิตเช่มีทัศนะว่าปรัชญาคือวิชาเกี่ยวกับความรู้
คอมเต้มีทัศนะว่าปรัชญาคือวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาการทั้งมวล
สเปนเซอร์มีทัศนะว่าปรัชญาคือความรู้ที่รวมกันอย่างสมบูรณ์ เป็นข้อสรุปทั่วไปของความเข้าใจในปรัชญาและการรวมกันของข้อสรุปทั่วไปทั้งหลายของวิทยาศาสตร์
เบอร์แทรนด์ รัสเซลมีทัศนะว่าปรัชญาคือดินแดนอันไม่จำกัดเจ้าของ ซึ่งมีอยู่ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา (ศาสนวิทยา)

ในอิสลามคำที่มักใช้แทนคำว่า philosophy คือ คำว่า หิกมะฮ ซึ่งหมายถึงวิทยปัญญา คำว่าหิกมะฮจะถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานบ่อยครั้ง เช่น ในโองการที่ 269 ของสูเราะฮอัล บะเกาะเราะฮว่า

ความว่า พระองค์ทรงประทานหิกมะฮให้แก่ผู้ที่ประองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดได้รับหิกมะฮ แน่นอนเขาก็ได้รับความดีอันมากมาย (2 : 269)

ปรัชญา และศาสนา

ปรัชญาตะวันตกโดยทั่วไป เป็นปรัชญาที่มุ่งหาคำตอบของคำถามทั่วไป โดยใช้กระบวนการคิดผ่านสติปัญญาและเหตุผล โดยไม่ยอมรับวะหยู เว้นแต่วะหยูนั้นจะสอดคล้องกับปัญหาและเหตุผลของพวกเขา ส่วนในอิสลามกลับถือว่าวะหยู คือ ที่มาของความจริงแท้ และวะหยู (วิวรณ์) คือสัจธรรมที่เป็นนิรันดร์ที่ไม่มีปัญญาหรือเหตุผลใดที่จะมาหักล้างได้

อย่างไรก็ตามมีบางสำนักคิดที่มีทัศนะว่า ความรู้หรือสัจธรรมนั้นได้มาโดยการใช้เหตุผลและสติปัญญา สำนักคิดดังกล่าวได้แก่สำนักคิดมุอตาซิละฮ ด้วยเหตุผลดังกล่าวกลุ่ม ของอัลอัชอารีจึงถือว่าคำสอนของกลุ่มมุอตาซิละฮผิด เพราะกลุ่มของอัลอัชอารีมีทัศนะว่า คำสอนของอิสลามนั้นจะต้องยอมรับโดยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับปัญญาและไม่ต้องมีคำถามว่าทำไมและเหตุใด

อย่างไรก็ตามผู้ที่ค้นพบความจริงด้วยหลักของเหตุผลหรือสติปัญญาก็มีจำนวนไม่น้อย กระทั่งพวกเขาค้นพบและยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า ดังนั้นอิสลามจึงไม่ได้ปฏิเสธการใช้สติปัญญาโดยสิ้นเชิง แต่สติปัญญานั้นต้องอยู่ในกรอบทางนำ(ฮิดายะฮ์)จากพระเจ้า เพราะปัญญาที่ไร้ทางนำจะพาเขาไปสู่หนทางที่ผิดที่ไร้จุดมุ่งหมายและสูญเปล่า แท้จริงลำพังความรู้หรือสัจธรรมที่เกิดจากสติปัญญาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จได้



ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงมีมุสลิมบางกลุ่มจะใช้คำว่าหิกมะฮ แทนคำว่าปรัชญาหรือ philosophy เพื่อหลีกเลี่ยงจากการใช้หลักของเหตุผลหรือสติปัญญาที่ไร้ขอบเขตอย่างไรก็ตามอิสลามมิได้ปฏิเสธปัญญาและเหตุผลของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง เพราะปัญญาและเหตุผลของมนุษย์ก็เป็นเนียอมัตที่พระองค์อัลลอฮทรงมอบและประทานให้ แต่ปัญญาและเหตุผลของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัด ตราบใดที่ข้อค้นพบของปัญญาและเหตุผลไม่ขัดกับหลักการของศาสนา ข้อค้นพบดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับ

นักปรัชญามุสลิมหลายท่านที่มีทัศนะว่าปรัชญาและศาสนาเป็นเรื่องเดียวกันเสมือนกับเหรียญเดียวกันที่ปรัชญาอยู่ด้านหนึ่งและศาสนาอยู่อีกด้านหนึ่ง ปรัชญาจะไม่ขัดกับศาสนา เช่นเดียวกันศาสนาก็จะไม่ขัดกับปรัชญา ( Rizavi: 1986:77) ปรัชญามุ่งที่จะตอบคำถามต่างๆ โดยอาศัยความช่วยเหลือของสติปัญญาและเหตุผล แต่ศาสนามุ่งจะตอบคำถามต่างๆ โดยอาศัยความศรัทธาและหลักยึดมั่นที่มีต่อศาสนา แต่มิได้หมายความว่าศาสนานั้นจะปฏิเสธกระบวนการใช้สติปัญญา และเหตุผล เพราะศาสนาสนับสนุนกระบวนการใช้สติปัญญาและเหตุผล มีหลายโองการในอัล-กุรอานและมีหะดีษหลายบทที่ชี้นำและสนับสนุนให้ใช้สติปัญญาคิดพิจารณาในสรรพสิ่งที่อัลลอฮทรงสร้างเช่นโองการ

ความว่า “พวกเขาไม่พิจารณาดูอูฐดอกหรือว่ามันถูก(บังเกิด)สร้างมาอย่างไร และท้องฟ้ามันถูกยกให้สูงอย่างไร และภูเขามันถูกปักตั้งไว้อย่างไร และแผ่นดินมันถูกแผ่ลาดไว้อย่างไร” (88 :17-20)

จากโองการดังกล่าวเป็นการเตือนสติแก่ผู้ปฏิเสธเพื่อให้พวกเขาได้ดูสรรพสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงสร้างพร้อมกับใช้สติปัญญาคิดพิจารณาใคร่คราญหาความจริงว่าเบื้องหลังของสรรพสิ่งเหล่านั้นมันคืออะไร ท่านเราะสูลได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ศรัทธาใช้สติปัญญาคิดพิจารณาใคร่คราญในสรรพสิ่งที่อัลลอฮทรงสร้าง แต่ท่านห้ามใช้สติปัญญาคิดพิจารณาต่อ(ษาต)ตัวตนของอัลลอฮ ดั่งที่ท่านได้วจนะว่า

ความว่า “พวกท่านจงคิดพิจารณาใคร่คราญในสรรพสิ่งที่อัลลอฮทรงสร้าง แต่พวกท่านจงอย่าคิดพิจารณาต่อ(ษาต)ตัวตนของอัลลอฮ”

การใช้สติปัญญาคิดพิจารณาหาเหตุผลเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงแห่งความรู้ หรือที่เรียกว่าสัจธรรม ในทัศนะของอิสลามการรักในความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่ความรักในความรู้ต้องควบคู่กับการปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่อง คือการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติการนั่นเอง

สาขาของปรัชญา

ปรัชญาตะวันตกจะมี 3 สาขาสำคัญคือ 1.อภิปรัชญา 2. ญาณวิทยา 3. คุณวิทยา

อภิปรัชญา ( Metaphysic )

เป็นสาขาที่กล่าวถึงปัญหาทั่วๆไปที่เกี่ยวกับความเป็นจริงของมนุษย์ ธรรมชาติ และพระผู้เป็นเจ้า เป็นการศึกษาถึงเรื่องความจริงแท้หรือความจริงอันสูงสุด( Ultimate reality ) ในส่วนนี้จะมุ่งเน้นถึงความจริงสูงสุด โดยเฉพาะในเรื่องพระเจ้า (Muslehuddin ,1982:33) อภิปรัชญาที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า อิสลามได้สอนไว้ว่าอัลลอฮมีจริง ทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ทรงเป็นอยู่ตลอดกาล ไม่มีการเริ่มต้นและไม่มีการสลายไป ทรงดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง ไม่กำเนิดและไม่ถูกกำเนิด มีความยุติธรรมยิ่งและมีพระเมตตายิ่ง

ญาณวิทยา ( Epistemology )

เป็นสาขาที่กล่าวถึงทฤษฎีที่ว่าด้วยความรู้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในวงการการศึกษา สาขานี้จะกล่าวถึงที่มา ธรรมชาติ บ่อเกิดขอบเขตของความรู้ เป็นต้น ในเรื่องญาณวิทยา หรือทฤษฎีความรู้ อิสลามเชื่อว่า ความรู้จริงเกิดขึ้นโดย 2 ทาง คือ ความรู้ที่ได้จากการประทาน (Perennial Knowledge) ได้แก่ วะหยู ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ที่แท้จริง และเป็นความรู้ที่มีสถานภาพสูงที่สุด ความรู้ใดๆที่ขัดแย้งกับความรู้ประเภทนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่เป็นเท็จและโมฆะ ผู้ที่จะได้รับความรู้ประเภทนี้ได้แก่บรรดาเราะสูลและนบี และความรู้ประเภทที่สองคือ ความรู้ที่ได้จากการแสวงหา (Acquired Knowledge) เช่นความรู้ที่มาจากประสาทสัมผัส ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ความรู้ที่ได้จากการทดลอง เป็นต้น (อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต, 2546)

คุณวิทยา ( Axiology )

เป็นสาขาที่เกี่ยวกับความดี ความงาม ที่พยายามอธิบายถึงสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ดีและไม่ดี ในด้านจริยศาสตร์สิ่งดังกล่าวจะเป็นหลักการที่เกี่ยวกับความประพฤติมีมารยาทดี และมีคุณธรรมทางจิตใจที่ดีงามที่เรียกว่า “อิหสาน” คุณวิทยาจะแยกออกเป็นสาขาย่อยๆ อีก 3 สาขากล่าวคือ ตรรกศาสตร์ จริยศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย