วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

การเขียนเรื่องเล่า

        ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักคิดค้นตัวอักษรหรือตัวหนังสือขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร และเป็นหลักฐานบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้น มนุษย์ใช้ การเล่าเรื่อง เป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงประสบการณ์ที่พบเจอจากคนผู้หนึ่ง ไปสู่อีกผู้หนึ่ง จนเมื่อมนุษย์มีการ พัฒนาภาษาเขียน ขึ้นเป็นของตนเอง เรื่องเล่าต่างๆเหล่านี้ ก็ได้ถูกบันทึกลงในสื่อต่างๆ แบ่งแยกกันไปตามประเภท เรื่องเล่า หมายถึง เรื่องราวหรือเนื้อหาสาร(Message) ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ความคิด หรือจินตนาการของบุคคล แล้วถูกนำมาถ่ายทอด หรือเผยผ่านช่องสาร(Channel) ไปสู่ผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพูด การเขียน โดยเรื่องเล่าแต่ละเรื่องนั้นมักแฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ผู้เล่า (Sender) ต้องการจะถ่ายทอดไปสู่ผู้อ่าน หรือ ผู้ฟัง (Receiver)

ความสำคัญของเรื่องเล่า

1. เรื่องเล่าทำหน้าที่ ถ่ายทอดจินตนาการ และความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียดให้แก่ผู้คนในสังคม ตัวอย่างเช่นการเล่าเรื่องใน นวนิยาย วรรณคดี นิทาน รวมถึง เรื่องสั้น ต่างๆ

2. เรื่องเล่าทำหน้าที่ค้นหา เปิดเผย รวมถึงนำเสนอเหตุการณ์ เรื่องราว ประสบการณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร หรือเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งในปัจจุบัน และในทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน อาทิ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ๆ เรื่องเล่าจากการผจญภัย เป็นต้น

3. เรื่องเล่าทำหน้าที่ในการโน้มน้าวใจ และจรรโลงจิตใจ โดยเรื่องเล่าต่างๆ มักแฝงคติสอนใจที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เรื่องเล่าประเภทนี้ได้แก่ เรื่องเล่าเชิงชีวประวัติ และอัตชีวประวัติ

4. เรื่องเล่าทำหน้าที่ในการชี้แจง หรือบอกกล่าวข้อเท็จจริง บ่อยครั้งที่ในสังคมเกิดความขัดแย้งกันทางความคิด หรือ ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล หรือในระดับมวลชน การเขียนเล่าเรื่อง โดยมีวัตถุเพื่อชี้แจง นำเสนอความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันงานเขียนเรื่องเล่าตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานี้ ก็ได้แก่ บันทึก รายงาน หรือจดหมายร้องทุกข์ ขออุทธรณ์ รวมถึงประกาศ และแถลงการณ์ต่างๆ เป็นต้น

5. เรื่องเล่าทำหน้าที่ในการให้การศึกษา อบรม ในกระบวนการเรียนการสอนทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึง อุดมศึกษา มีการประยุกต์ใช้เรื่องเล่าเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากร ตัวอย่างเช่น เรื่องเล่าเร้าพลัง กับการจัดการความรู้

องค์ประกอบของเรื่องเล่า

1. เหตุการณ์ (Event) ประกอบด้วยเหตุการณ์หลัก (Kernel) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ส่วน เหตุการณ์รอง (Satellites) เป็นผลจากเหตุการณ์หลัก เหตุการณ์รองนี้มีหน้าที่ให้การเติมเต็มเรื่อง ตกแต่งเรื่องเท่านั้น

2. ตัวละคร หรือบุคคล (Character) เป็นองค์ประกอบที่เน้นไปที่ตัวบุคคล รูปร่าง หรือสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งอื่นๆซึ่งมีหน้าที่คิดและเป็นผู้สื่อสารในเรื่อง สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงเกี่ยวกับตัวละคร คือ ตัวละครมี บุคลิกลักษณะ อย่างไร

3. ฉาก หรือสถานที่ ( Setting) ฉากมีผลต่อบรรยากาศของเรื่อง รวมถึงเกี่ยวข้องกับโครงเรื่องและตัวละครด้วย

4. ความสัมพันธ์ในแง่เวลา (Temporal Relations) ในแต่ละเรื่องราว ผู้เขียนจะต้องวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือยาวนานข้ามปี รวมถึงแต่ละเหตุการณ์ที่เกิด จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันหรือไม่ อย่างไร

5. ความสัมพันธ์ในแง่ของเหตุและผล (Causal Relations) เป็นเรื่องที่โยงจากเหตุมาหาผล หรือ โยงจากผลมาหาเหตุ

6. ความคิดหลัก (Theme) คือประเด็นหรือแง่คิดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องทั้งหมด

7. ผู้เล่าเรื่อง หรือผู้ส่งสาร (Narrator) คือบุคคลผู้ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องให้ผู้อ่านรับรู้

8. ผู้อ่าน หรือผู้รับสาร (Audience) คือ ผู้ที่รับฟัง หรือ อ่านเรื่องเล่า ซึ่งอาจเป็นคนๆเดียว หรือเป็นกลุ่ม หรือเป็นมวลชน (Mass)

ประเภทของเรื่องเล่า

  1. เรื่องเล่าจากจากประสบการณ์ ที่ไม่เป็นทางการ หรือ เรื่องเล่าเชิงปกิณกะทั่วไป

  2. เรื่องเล่าจากประสบการณ์ ที่เป็นทางการ หรือ การเขียนเพื่อบอกเล่าชี้แจงข้อเท็จจริง

  3. เรื่องเล่าเชิงชีวประวัติ และอัตชีวประวัติ

  4. เรื่องเล่าจากจินตนาการ

 

เรื่องเล่าจากจากประสบการณ์ ที่ไม่เป็นทางการ หรือ เรื่องเล่าเชิงปกิณกะทั่วไป
คำว่าประสบการณ์ หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการที่บุคคลได้กระทำหรือได้พบเห็นบางสิ่งบางอย่างมาในช่วงชีวิต โดยประสบการณ์นั้นสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภทคือประสบการณ์ทางตรง ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่บุคคล ได้ไปพบ หรือประสบมาด้วยตนเอง ส่วนอีกประเภทได้แก่ ประสบการณ์ทางอ้อม หรือก็คือเรื่องราวที่บุคคล ได้ฟัง อ่าน หรือ พบเห็นมาจากผู้อื่น จากแหล่งข้อมูลข่าวสารอื่นๆอีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การเขียนประเภทนี้ส่วนมากใช้บรรยายโวหาร และมีอธิบายโวหารประกอบ ซึ่งมักเป็นการเขียนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ในรูปแบบเรียงความก็สามารถทำได้ ดังตัวอย่าง

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ ที่เป็นทางการ หรือ การเขียนเพื่อบอกเล่าชี้แจงข้อเท็จจริง
เรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่เป็นทางการ มักจะเป็นเรื่องราวจาก ประสบการณ์ตรง ของผู้เขียน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง หรือร้องเรียน โดยการเขียนเรื่องเพื่อบอกเล่าชี้แจงข้อเท็จจริงนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว มีวัตถุประสงค์ ในประเด็นดังต่อไปนี้

  • เพื่อชี้แจงความจริง และป้องกันการเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น การแก้ข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ซึ่งปรากฏทางสื่อมวลชน ดังตัวอย่าง

  • เพื่ออธิบายทำความเข้าใจ และสร้างแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง วัตถุประสงค์ในข้อนี้ หมายถึง การอธิบายเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องราว หรือเหตุการณ์ โดยมุ่งไปที่ผลที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง เช่น ในสถานการณ์ปกติ ก็มักจะเป็นคำชี้แจงในการใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่างๆ คำชี้แจงในการออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำชี้แจงให้บุคลากรขององค์กรหนึ่งองค์กรใด ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของผู้บริหาร ส่วนในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น เกิดปฏิวัติ รัฐประหาร หรือการชุมนุมก่อความไม่สงบ ก็จะเป็นการเขียนในลักษณะแถลงการณ์ของภาครัฐ เป็นต้น

  • เพื่อชี้แจงคลี่คลายปัญหาข้อข้องใจ หรือ ร้องเรียนในเรื่องหนึ่งเรื่องใด

ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย หรือปัญหาที่ประชาชน หรือบุคคลได้รับจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ หากเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมต้องมีการชี้แจง หรือร้องเรียนไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เร่งลงมาให้ความช่วยเหลือ หรือสะสางปัญหา ให้ลุล่วงหรือบรรเทาเบาบางลง ตัวอย่างได้แก่การเขียนหนังสือร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานภาครัฐเป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการเขียนเรื่องเล่าเพื่อชึ้แจงข้อเท็จจริง ที่สามารถทำให้ผู้เขียนบรรลุผลสมความมุ่งหมายได้นั้น มักมีหลักและวิธีการเขียนที่เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้

  • มีการตั้งวัตถุประสงค์ในการเขียนที่ชัดเจน โดยกำหนดให้ชัดว่า เขียนเพื่อชี้แจง อธิบาย หรือ ร้องเรียน

  • มีการอ้างอิงถึงประเด็น หรือปัญหาที่จะชี้แจง อ้างอิงถึงประเด็นก่อนว่าคือเรื่องอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร

  • มีการ ให้ข้อเท็จจริง หรือข้อชี้แจงที่ควรปฏิบัติ คือการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดๆกันต่อไป

  • การเขียนเพื่อบอกเล่า หรือชี้แจง มีความยาวของเนื้อหาที่พอเหมาะ

  • เขียนให้ถูกต้องตามรูปแบบของการชี้แจง แบบฟอร์ม หรือ Format ที่ถูกต้อง ของแต่ละที่เป็นอย่างไรต้องพิจารณา

  • การเขียนควรชี้แจง และนำเสนอให้เหมาะสมกับช่วงเวลา และเหตุการณ์ ควรรีบดำเนินการชี้แจงทันทีโดยไม่ชักช้า

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย