ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
การพูด
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกพร ปิมแปง
การสื่อสารมีความสำคัญกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด
เนื่องจากมนุษย์ต้องอยู่ในสังคมและใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการบอกความต้องการของตนเองต่อผู้อื่น
การสื่อสารจึงเป็นสื่อกลางที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างราบรื่น
นอกจากนี้การสื่อสารยังเป็นความสามารถหรือทักษะที่ทุกคนมีมาตั้งแต่กำเนิดเช่นกัน
ได้แก่ การพูด การอ่าน การเขียน การฟัง ส่วนใครจะมีความเชี่ยวชาญด้านใดมากกว่านั้น
ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ และฝึกฝน ซึ่งการสื่อสารมีหลายระดับ
หลายรูปแบบและหลายประเภทขึ้นอยู่กับการนำเกณฑ์ใดมาจัดแบ่ง เช่น
การนำจำนวนการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมาเป็นเกณฑ์จะสามารถแบ่งได้เป็น
การสื่อสารในบุคคล เช่น การพูดกับตนเอง การสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น
การพูดคุยกับเพื่อนกับอาจารย์ และการสื่อสารสาธารณะ เช่น
การพูดในห้องประชุมซึ่งมีผู้ฟังมากมาย การสื่อสารมวลชน
เป็นการสื่อสารถึงคนพร้อมๆกันในจำนวนมาก
ดังนั้น การสื่อสารจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกเพศ
ทุกวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ การใช้ชีวิตตลอดทั้งวัน
ทั้งการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมในทุกระดับ
การสื่อสารมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น เพื่อให้ข้อมูล เพื่อโน้มน้าวใจ
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
เพื่อให้เกิดการยอมรับและได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การพูด การอ่าน การเขียน และการฟัง
ล้วนเป็นทักษะการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา
โดยเฉพาะต้องปรับตัวเมื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา
ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการฟังอย่างเข้าใจและจับใจความสำคัญ
การเขียนโน้ตในขณะฟังบรรยาย การอ่านหนังสือและเอกสารประกอบการสอน และที่สำคัญ คือ
การพูด เพื่อนำเสนอในโอกาสต่างๆ การพูดเพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดี
น่าประทับใจต่อผู้พบเห็นจะช่วยให้นักศึกษามีเสน่ห์และน่าชื่นชม ทั้งในสายตาเพื่อน
และอาจารย์ผู้สอน
ด้วยเหตุนี้ จึงควรฝึกพูดและสื่อสารให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
สามารถเลือกใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาในการสื่อความหมายให้ชัดเจน
เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคมยิ่งขึ้น
ทักษะการพูดที่ดี
- การพูดเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ดังนั้นควรพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟัง ในเนื้อหาที่ผู้ฟังอยากฟัง
- การพูดเป็นการแลกเปลี่ยนอารมณ์ ดังนั้นควรพูดในอารมณ์ที่ดี ความรู้สึกที่ดีกับผู้ฟัง
- การพูดเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นควรเลือกภาษาและอารมณ์ในการพูดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ฟังเสมอ
องค์ประกอบการพูด
- วัจนภาษา คือ ภาษาพูดที่เปล่งออกมาเป็นเนื้อหา
- อวัจนภาษา คือ ภาษากาย กิริยา ท่าทาง สีหน้า ดวงตา น้ำเสียง การแต่งกาย
การสื่อความหมาย
- ภาษากาย 55%
- น้ำเสียง 38%
- ภาษาพูด 7%
พูดอย่างไรให้สร้างมิตร
- พูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง ในอารมณ์ที่เราอยากพูด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
- ฝึกที่จะชมผู้อื่นให้สมจริง คือ การให้สติแก่ผู้อื่น
- เตือนตนเองเสมอเมื่อต้องติผู้อื่นต้องติอย่างสร้างสรรค์
- ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
การฟัง
- ฟังอย่างเต็มใจ แสดงความสนใจ
- พูดตอบด้วยหน้าและท่าทาง
- จับใจความโดยการแยกประเด็น ทัศนคติ และ ความรู้สึก
หัวใจของการสื่อสาร
- มองเห็นความดีของคนอื่น
- ให้เกียรติคนอื่น
- มุ่งประโยชน์ของผู้อื่น
- รู้กาลเทศะ
ถามตนเองทุกครั้งที่พูด
- ได้ยินเสียงตนเองหรือไม่
- พูดในสิ่งที่ผู้อื่นอยากฟัง หรือไม่
- ไวต่อความรู้สึกคนอื่นหรือไม่ เขารู้สึกอย่างไร
- ใช้อวัจนภาษาประกอบแล้วหรือไม่
การพูดเพื่อนำเสนอ
- รู้เรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี
- เตรียมสื่อที่จะช่วยในการสื่อความหมายมาให้พร้อม เช่น Power point เอกสาร ภาพประกอบ อุปกรณ์สาธิตที่จำเป็น
- ใช้ทักษะการพูดที่ครบถ้วนเหมาะสม
- รักษาเวลาในการพูด
- ขณะนำเสนอ มีการกล่าวทักทาย กล่าวเข้าสู่เรื่องและแบ่งประเด็นการพูดชัดเจน รวมทั้งกล่าวสรุปอย่างเข้าใจ ไม่วกวน
- หลังนำเสนอ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม แสดงความคิดเห็น ยอมรับคำติชมอย่างเต็มใจ และนำไปพิจารณาปรับปรุงอยู่เสมอ
ที่มา
:
www.dpu.ac.th/artsciences/ge139/office/attach/1180409051.doc