ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

ประติมากรรม
(Sculpture)

ประเภทของงานประติมากรรม
คำจำกัดความของประติมากรรม
ประติมากรรมไทย

ประติมากรรมไทย

ผลงานประติมากรรมไทยที่สร้างขึ้นในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อศาสนา ความเชื่อถือศรัทธาในพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ จึงมีการสร้างผลงานประติมากรรมรูปลักษณะต่างๆ ดังปรากฏให้เห็นดังนี้

  • ประติมากรรมที่เป็นพระพุทธรูป สร้างขึ้นแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ
  • ประติมากรรมรูปบุคคล ช่างจะสร้างขึ้นให้มีลักษณะเหมือนกัน โดยการสื่อความหมายด้วยกิริยาท่าทาง ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญที่ใบหน้า
  • ประติมากรรมที่เป็นลวดลาย เกิดขึ้นจากการคิดประดิษฐ์ โดยมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติ สร้างขึ้นเพื่อตกแต่งสถาปัตยกรรมและประดับตกแต่งพระพุทธรูป
  • ประติมากรรมรูปสัตว์ สร้างขึ้นเพื่อตกแต่งสถาปัตยกรรม อาทิ ปราสาท วัด พระราชวังหรือสถานที่ราชการ เป็นภาพสัตว์ในอุดมคติ

ความงามของประติมากรรมไทยนั้น เกิดจากช่างไทยได้ทุ่มเทชีวิต จิตใจ สร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ลวดลายหรือรูปสัตว์ต่างๆ โดยมีโครงสร้างของรูปร่าง รูปทรง เส้น ที่อ่อนหวานงดงามแต่เกินความเป็นจริง

หลักองค์ประกอบของศิลปะ

การที่จะดูงานศิลปะให้เข้าใจในสิ่งที่ตัวศิลปินถ่ายทอดออกมาในผลงานชิ้นนั้น ๆ จะดูอย่างไร หรือตัวผู้ชมเข้าใจอย่างไรตรงตามที่ศิลปินต้องการแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือความงาม ก็จะเห็นได้ว่า ศิลปะนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ส่วนที่ตัวศิลปินสร้างขึ้น ได้แก่ โครงสร้างทางวัตถุที่มองเห็นได้ หรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เรียกองค์ประกอบ รูปทรง (Form) หรือองค์ประกอบทางรูปธรรม
  • ส่วนที่ 2 ส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุ เรียกว่า เนื้อหา (Content) หรือองค์ประกอบทางนามธรรม

ถ้าทำความเข้าใจในสองส่วนนี้แล้ว จะทำให้ดูผลงานและรับรู้ถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดและนำเสนอ

รูปทรง
รูปทรง คือ สิ่งที่มองเห็นได้ทางทัศนศิลป์ เป็นส่วนที่ศิลปินสร้างขึ้นด้วยการประสานกันอย่างมีเอกภาพทางทัศนธาตุ (Visual Elements) ได้แก่ เส้นน้ำหนักอ่อนแก่ของขาวดำ ที่ว่าง สี และลักษณะพื้นผิว รูปทรงให้ความพอใจต่อความรู้สึกสัมผัส เป็นความสุขทางตา พร้อมกันนั้นก็สร้างเนื้อหาให้กับตัวรูปทรงเอง และเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ อารมณ์ ความรู้สึก หรือปัญหาความคิดที่เกิดขึ้นในจิตด้วย ถ้าจะเปรียบกับชีวิต รูปทรงคือส่วนที่เป็นกาย เนื้อหาคือส่วนที่เป็นใจ รูปทรงกับเนื้อหาจึงไม่แยกจากกันได้ ในงานศิลปะที่ดีทั้งสองส่วนนี้จะรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าแยกกันความเป็นเอกภาพก็ถูกทำลาย

รูปทรงมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่เป็นโครงสร้างทางวัตถุ ได้แก่ วัสดุที่ใช้ในการสร้างรูป เช่น ดินเหนียว หิน ไม้ กระดาษ ผ้า โลหะ ฯลฯ และเทคนิคที่ใช้กับวัสดุเหล่านั้น เช่น การระบาย การปั้น การสลัก การแกะ การตัดปะ การทอ การเชื่อมต่อ ฯลฯ
  2. ส่วนที่เป็นโครงสร้างทางรูป ได้แก่ ทัศนธาตุที่รวมตัวกันได้อย่างมีเอกภาพนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะเท่ากับเป็นกายของงานศิลปะ ถ้าศิลปินสร้างรูปทรงให้มีเอกภาพไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์ รูปทรงนั้นก็ขาดชีวิต ขาดเนื้อหา ไม่สามารถจะแปลหรือสื่อความหมายใด ๆ ได้

เนื้อหา
เนื้อหา คือ องค์ประกอบที่เป็นนามธรรม หรือโครงสร้างทางจิต ตรงกันข้ามกับส่วนที่เป็นรูปทรง หมายถึง ผลที่ได้รับจากงานศิลปะ ส่วนที่เป็นนามธรรมนี้นอกจากเนื้อหาแล้ว ยังมีเรื่อง (Subject) และแนวเรื่อง (Theme) รวมอยู่ด้วย ทั้ง 3 ส่วนนี้ต่างก็มีความเชื่อมโยงและซ้อนทับกันอยู่ เรื่องกับเนื้อหาในงานบางประเภทเกือบแยกจากกันไม่ออก แต่ในงานบางประเภทเกือบไม่เกี่ยวข้องกันเลย แนวเรื่องคือแนวทางของเรื่อง และเป็นต้นทางที่จะนำไปสู่เนื้อหาซึ่งเป็นผลขั้นสุดท้าย เรื่องกับแนวเรื่องบางแห่งมีความหมายต่างกันไม่มากนัก โดยทั่วไปอาจใช้แทนกันได้

เรื่อง
เรื่อง หมายถึง สิ่งที่ศิลปินสรรหามาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างงานศิลปะแบบรูปธรรม เช่น คน สัตว์ ทิวทัศน์ สิ่งของ ศาสนา สงคราม ฯลฯ หรือหมายถึง “ภาพนี้เกี่ยวกับอะไร” “ศิลปินต้องการเขียนหรือปั้นอะไร”

ศิลปะบางแบบไม่มีเรื่อง เราเรียกศิลปะแบบนี้ว่า ศิลปะแบบนอนออบเจคตีฟ (Nonobjective Art) หมายถึง งานศิลปะที่ไม่แสดง หรือเป็นตัวแทนของสิ่งใด ไม่อ้างถึงหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดในธรรมชาติ ทัศนศิลป์บางประเภท เช่น ศิลปะแบบนามธรรม ไม่มีเรื่อง

งานจิตรกรรม ประติมากรรม แบบรูปธรรม ตามปกติจะมีเรื่อง เราดูรู้ว่างานชิ้นนั้นเป็นม้า เป็นคน เป็นทิวทัศน์ นอกจากนั้น เรายังแบ่งประเภทของงานจิตรกรรม ประติมากรรม ออกตามเรื่องด้วย เช่น จิตรกรรมทิวทัศน์ จิตรกรรมหุ่นนิ่ง จิตรกรรมรูปคน ประติมากรรมรูปเหมือน ประติมากรรมกลุ่มคน ฯลฯ

แต่ก็มีจิตรกรรม ประติมากรรมจำนวนมากที่ไม่มีเรื่อง ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานแบบนามธรรม หรือแบบนอนออบเจคตีฟ ที่ศิลปินแสดงออกโดยใช้การประสานกันของรูปทรงที่มิได้อ้างอิงความจริงในธรรมชาติเป็นสำคัญ บางครั้งศิลปินอาจตั้งชื่องานของเขาเหมือนกับว่างานชิ้นนั้นมีเรื่อง แต่เรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ได้คลี่คลายเปลี่ยนแปรไปจนไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่เลยแล้วก็มี

ชื่อของงาน (Title) เป็นคนละส่วนกับเรื่อง แต่โดยทั่วไปแล้วจะตั้งขึ้นตามเรื่อง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่อง ชื่อของงานศิลปะแบบนามธรรม หรือแบบนอนออบเจคตีฟ ซึ่งส่วนมากจะไม่มีเรื่อง จึงอาจเป็นลำดับหมายเลข หรือข้อความที่ไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกับงานเลย หรือเป็นชื่อที่บอกถึงวิธีการสร้างสรรค์ก็ได้

แนวเรื่อง
แนวเรื่องเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางนามธรรมของงานศิลปะที่เน้นแนวความคิด (Concept) ของศิลปินที่มีต่อเรื่องหรือรูปทรง เป็นสาระหรือแนวทางของการสร้างสรรค์มากกว่าเรื่อง

  • แนวเรื่องในงานแบบรูปธรรม มักจะเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก หรือความหมายที่ศิลปินต้องการแสดงออกในรูปของสัญลักษณ์หรือนามธรรม เช่น แนวเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม ความงาม ความหนักแน่น มีอำนาจของธรรมชาติ ความเป็นอนัตตา ความประสานกันของสี ส่วนเรื่องจะเป็นลักษณะภายนอก เกี่ยวกับวัตถุ เหตุการณ์ เช่น หญิงเปลือย ทิวทัศน์ สงคราม ศาสนา และมลพิษ
  • แนวเรื่องในงานแบบนามธรรม คือ ส่วนที่เกี่ยวกับแนวความคิดของเรื่องที่ศิลปินหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานเช่นเดียวกับในงานแบบรูปธรรม แต่ศิลปินได้พัฒนารูปทรงห่างจากความจริงในธรรมชาติไปมาก จนในที่สุดเมื่องานสำเร็จลงจะไม่เหลือเค้าของเรื่องนั้นอยู่เลย

ในงานแบบนอนออบเจคตีฟ แนวเรื่องจะมาจากความคิดหรือรูปทรงต่าง ๆ ในธรรมชาติ หรืออาจมาจากร่องรอยที่ศิลปินขีด-ขูดด้วยดินสอ เครื่องมือ หรือสลัดสีลงไปอย่างไม่ตั้งใจ เป็นความคิดและรูปทรงที่ให้ความบันดาลใจแก่ศิลปินที่จะสร้างและพัฒนาต่อไปจนเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์

แนวเรื่องเป็นองค์ประกอบทางด้านนามธรรมที่สำคัญที่สุดของงานศิลปะ เมื่อมองจากด้านการสร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ เพราะเป็นแนวความคิดที่เป็นโครงสร้างเบื้องต้นของงาน ถ้าแนวความคิดหรือโครงสร้างของความคิดไม่ดีเสียแล้ว จะพัฒนาอย่างไร จะเพิ่มเติมตกแต่งอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้ผลหรือเนื้อหาที่ดีได้



ในงานศิลปะที่ดี ทั้งเรื่อง แนวเรื่อง และรูปทรง จะต้องประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพเสมอ

เนื้อหา
เนื้อหา คือ ความหมายของงานศิลปะที่แสดงออกผ่านรูปทรงทางศิลปะ (Artistic Form) เนื้อหาของงานศิลปะแบบรูปธรรม เกิดจากการประสานกันอย่างมีเอกภาพของเรื่อง แนวเรื่อง และรูปทรง เนื้อหาของงานแบบนามธรรมหรือแบบนอนออบเจคตีฟ เกิดจากการประสานกันอย่างมีเอกภาพของรูปทรง เนื้อหาเป็นคุณลักษณะฝ่ายนามธรรมของงานศิลปะที่มองจากด้านการชื่นชมหรือจากผู้ดู

รูปทรงที่แสดงเนื้อหาหรือความหมายของงานศิลปะได้ จะต้องเป็นรูปทรงที่เป็นศิลปะเท่านั้น หมายถึง เป็นรูปทรงที่ศิลปินได้สร้างขึ้นจากทัศนธาตุต่าง ๆ อย่างมีเอกภาพ รูปทรงที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ จะให้เนื้อหาที่ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางสุนทรียภาพ และอารมณ์ อื่น ๆ ตามเรื่องที่ศิลปินได้รับความบันดาลใจมา รูปทรงธรรมดาจากธรรมชาติหรือรูปถ่าย ถึงแม้จะมีเรื่องหรือเนื้อเรื่อง (Subject Matter) ก็เป็นเพียงข้อมูลหรือข่าวสารธรรมดาที่อาจทำให้ผู้ดูสร้างจินตนาการขึ้นเองตามเนื้อเรื่องนั้น แต่ไม่มีเนื้อหา เนื้อหาจะมีอยู่ในงานศิลปะเท่านั้น เนื้อหาอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

เนื้อหาภายนอก หรือเนื้อหาทางเรื่องราวหรือทางสัญลักษณ์ ซึ่งมีอยู่เฉพาะในศิลปะแบบรูปธรรมที่มีเรื่อง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ หรือเหตุการณ์นั้น เป็นเนื้อหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อหาภายใน เป็นความหมายของเรื่องและแนวเรื่องที่แปลออกมาโดยรูปทรง เมื่อเราดูงานศิลปะแบบรูปธรรมชิ้นหนึ่ง สิ่งแรกที่เราได้รับรู้ ก็คือ เนื้อหาภายในของงาน เนื้อหาภายในนี้จะให้ความรู้สึกทางสุนทรียภาพหรือทางศิลปะแก่เรา ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจและพร้อมที่จะรับอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ ที่จะตามมา ซึ่งจะเป็นอารมณ์สะเทือนใจที่เป็นไปตามแนวทางของเรื่องและแนวเรื่อง เช่น ความรัก ความเศร้า ความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ความรักชาติมาตุภูมิ เป็นต้น ดังนั้น ในงานแบบรูปธรรมจะมีเนื้อหาทั้งภายในและภายนอก ให้อารมณ์ทั้งทางศิลปะและอารมณ์อื่น ๆ ควบคู่กันไป แต่ในงานแบบนามธรรมจะมีเนื้อหาภายในเพียงอย่างเดียว ให้อารมณ์ทางศิลปะที่บริสุทธิ์ โดยไม่มีอารมณ์ที่มนุษย์รู้จักมาก่อนเจือปน มีแต่ความเอิบอาบ ปีติ บริสุทธิ์ และสูงส่ง

ความสำคัญของเรื่องที่มีต่อเนื้อหา
ในทัศนศิลป์ เนื้อหากับเรื่องจะมีความสัมพันธ์กันมากหรือน้อย หรือไม่สัมพันธ์กันเลย หรือไม่มีเรื่องเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและเจตนาในการแสดงออกของศิลปินเอง ซึ่งอาจแยกออกได้ดังต่อไปนี้

  1. การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง ได้แก่ การใช้เรื่องที่ตรงกับเนื้อหา และเป็นตัวแสดงเนื้อหาของงานโดยตรง ตัวอย่างเช่น เมื่อศิลปินต้องการให้ความงามทางเนื้อหนังเป็นเนื้อหาของงาน เขาจะหาผู้หญิงเปลือยที่สวยมากมาเป็นเรื่อง รูปร่างหน้าตาของผู้หญิงสวยนั้นจะช่วยให้เกิดความงาม ความน่ารักขึ้นในภาพ เป็นความงามที่มีอยู่แล้วในเรื่อง ในกรณีเช่นนี้ ถ้าศิลปินมุ่งเน้นไปที่รูปลักษณะของเรื่อง หรือให้เรื่องเป็นตัวแสดงมากขึ้นเท่าไร คุณค่าทางรูปทรงและคุณค่าทางศิลปะจะกลับยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น ในที่สุดจะเป็นงานที่มีแต่เรื่อง ไม่มีรูปทรง หมดสภาพของศิลปะไป
  2. เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างศิลปินกับเรื่อง ในกรณีนี้ศิลปินจะเสนอความเห็นส่วนตัว หรือผสมความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในเรื่อง เป็นการผสมกันระหว่างรูปลักษณะของเรื่องกับจินตนาการของศิลปิน หรือเป็นการแปลความหมายของเรื่องตามทัศนะของศิลปิน การสร้างงานในลักษณะนี้ รูปทรงจะทำหน้าที่เพื่อตัวมันเองพร้อม ๆ กับทำหน้าที่ให้กับเรื่องด้วย ทำให้รูปทรง เรื่อง และเนื้อหามีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ยกตัวอย่างเนื้อหาที่เป็นความงานจากเรื่องที่เป็นผู้หญิงสวยอีก แต่คราวนี้ศิลปินได้ผสมความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเข้าไปในเรื่องด้วย เขาจะดัดแปลงเพิ่มเติมรูปร่างของแบบให้งามไปตามทัศนะของเขา และใช้ทัศนธาตุซึ่งเป็นองค์ประกอบของรูปทรงให้สอดคล้องกับความงามของเรื่อง
  3. เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง เมื่อศิลปินผสมจินตนาการของตนเข้าไปในงานมากขึ้น ความสำคัญของเรื่องจะลดลง ผู้หญิงสวยที่เป็นแบบอาจถูกศิลปินตัดทอนขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จนเรื่อง (ผู้หญิง) นั้นหมดความสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นอิสระ การทำงานแบบนี้ศิลปินจะอาศัยเรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แล้วเดินทางห่างออกจนเรื่องหายลับไป เหลืออยู่แต่รูปทรงและตัวศิลปินเองที่เป็นเนื้อหาของงาน ในกรณีมีเนื้อหาภายในซึ่งหมายถึงเนื้อหาที่เกิดจากการประสานกันของรูปทรงจะมีบทบาทมากกว่าเนื้อหาภายนอก หรือบางครั้งอาจไม่แสดงเนื้อหาภายนอกออกมาเลย
  4. เนื้อหาที่ไม่มีเรื่อง ศิลปินบางประเภทไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรื่องเป็นจุดเริ่มต้น งานของเขาไม่มีเรื่อง มีแต่รูปทรงกับเนื้อหา โดยที่รูปทรงเป็นเนื้อหาเสียเองโดยตรง เป็นเนื้อหาภายในล้วน ๆ เป็นการแสดงความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพของศิลปินแท้ ๆ ลงไปในรูปทรงที่บริสุทธิ์ งานประเภทนี้จะเห็นได้ชัดในดนตรี และงานทัศนศิลป์แบบนามธรรม และแบบนอนออบเจคตีฟ

บรรณานุกรม

  • ชลูด นิ่มเสมอ. องค์ประกอบของศิลปะ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2539
  • วิรัตน์ พิชญไพบูลย์. ความเข้าใจศิลปะ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2524

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย