สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์  >>

ข้าว

ความหมายคำว่าข้าว
ประวัติและความเป็นมาของข้าว
ประวัติข้าวของโลก
ประวัติของข้าวไทย
ข้าวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
พิธีกรรมความเชื่อ
การปลูกข้าว
ประเภทของข้าว
คุณประโยชน์และความสำคัญของข้าว

ข้าวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยมีความเกี่ยวข้องกับข้าวไทยอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นเจ้าของที่นาและผู้ปกครองป้องกันนาให้พ้นอันตราย จะทรงประกอบพระราชพิธีอันเป็นโบราณราชประเพณีเพื่อสนับสนุนบำรุงขวัญกำลังใจเกษตรกรระหว่างฤดูกาลทำนาในปีหนึ่งๆ ในพุทธศตวรรษที่ 18(สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไว้บนศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากทุ่งหลวง คลองรังสิต เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2450 โดยทรงกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอุดหนุนและบำรุงหาพันธุ์ข้าวที่ดีมาไว้ทำพันธุ์ และเพื่อให้ข้าวของประเทศสยามเจริญดีมีราคาเทียบเท่ากับข้าวของประเทศอื่น ๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทย โดยมีการประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นในปี พ.ศ.2451 เป็นการประกวดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ. 2453 ทรงให้จัดงาน “การแสดงกสิกรรมแลพณิชการ” ขึ้นเป็นครั้งแรก

ร่วมกับการประกวดพันธุ์ข้าวที่สระปทุมวัน (วังสระปทุมในปัจจุบัน) และได้มีการจัดงานนี้เป็นครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2454 และในงานแสดงกสิกรรมแลพณิชยการทั้งสองครั้ง จากผลการประกวดปรากฎว่า พันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดครั้งหลัง ๆ มีคุณภาพดีกว่าครั้งแรก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพันธุ์ข้าวในประเทศไทยได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้นมาโดยตลอด

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงสนพระทัยทำนุบำรุงข้าวไทยมาโดยตลอด เคยมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่กลุ่มผู้นำชาวนาครั้งหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนามีความยากลำบาก เป็นอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดีและต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูการทำนาแล้วควรจะปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย อีกทั้งยังช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้เนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับการทำนาในฤดูต่อไป” พระราชดำรัสดังกล่าวได้แสดงถึงความสนพระทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรที่เป็นชาวนาชาวไร่ ซึ่งนับเป็นพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสนับสนุนขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวประชาอาณาราษฎรของประเทศ

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาข้าวได้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2539 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง “International Rice Award” นับเป็นครั้งแรกและคงมีเพียงครั้งเดียว ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริม พัฒนาการผลิตข้าว สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ตลอดจนกิจกรรมด้านการเกษตรต่าง ๆ ทั่วประเทศ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย