สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ความหมายคำว่าข้าว
ประวัติและความเป็นมาของข้าว
ประวัติข้าวของโลก
ประวัติของข้าวไทย
ข้าวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
พิธีกรรมความเชื่อ
การปลูกข้าว
ประเภทของข้าว
คุณประโยชน์และความสำคัญของข้าว
ประวัติของข้าวไทย
เมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีลักษณะคล้ายข้าวปลูกของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
อายุราว 3,500-3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่
รอยแกลบข้าวซึ่งเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปั้นภาชนะดินเผาที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก
อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
เป็นหลักฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเก่าแก่ที่สุดคือประมาณ 3,500
ปีก่อนคริสต์ศักราช หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า
สยามประเทศเป็นแหล่งปลูกข้าวมาแต่โบราณ ได้แก่ เมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อ 3,500-3,000
ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือราว 5,400 ปีมาแล้ว แกลบข้าวที่พบที่ถ้ำปุงฮุง
มีทั้งลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามอยู่ในที่สูงเป็นข้าวไร่และข้าวเจ้า
แต่ไม่พบลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดป้อม หรือข้าวพวก จาโปนิกา(Japonica) เลย
และแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง
จังหวัดอุดรธานีพบรอยแกลบข้าวผสมอยู่กับดินที่นำมาปั้นภาชนะดินเผากำหนดอายุได้ใกล้เคียงกับแกลบข้าว
หลักฐานการค้นพบเมล็ดข้าว
เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม
จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเล
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าเมืองไทยที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี
อายุประมาณ 2,800 ปี (อาจจะก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นประมาณ 300 ปี)
ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น
หลักฐานภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปี
ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
บันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนข้าว และภาพแปลงของพืชคล้ายข้าว
อาจตีความได้ว่า มนุษย์สมัยนั้นรู้จักข้าวหรือการเพาะปลูกข้าวแล้ว
ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี สรุปไว้เมื่อ ปี พ.ศ. 2535
ว่าประเทศไทยทำนาปลูกข้าวมาแล้วประมาณ 5,471 ปี (นับถึงปี พ.ศ. 2514)
ก่อนการปลูกข้าวในประเทศจีนหรืออินเดียราว 1,000 ปี
ผลของการขุดค้นพบรอยแกลบข้าวที่โนนนกทาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่าข้าวเริ่มปลูกในทวีปเอเชียอาคเนย์ในสมัยหินใหม่
จากนั้นแพร่ขึ้นไปที่ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี
ข้าวที่มีในประเทศไทย
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มี 3 ชนิด คือ เมล็ดป้อม
เมล็ดใหญ่ และเมล็ดเรียง
โดยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์มีการปลูกข้าว ดังนี้
- สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) มีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่
- สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคใต้ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และข้าวจ้าว
- สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12-18) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมปลูกข้าวจ้าว ข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ ในภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและข้าวจ้าว
- สมัยเชียงแสนและล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 16-23) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคเหนือ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาว ปลูกข้าวจ้าวน้อยกว่าข้าวเหนียว
- สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) อาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม ข้าวเหนียวเมล็ดยาวบ้าง และเริ่มปลูกข้าวจ้าวมากขึ้น
- สมัยอยุธยา ระยะแรกปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก เริ่มปลูกข้าวจ้าวมากในช่วงปลายสมัยอยุธยา ซึ่งน่าจะเป็นข้าวเหนียวที่ปลูกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
- สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปลูกข้าวจ้าวเมล็ดยาวอย่างที่ปลูกในปัจจุบัน ส่วนข้าวเมล็ดป้อมพบว่าปลูกกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ