ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

การอ่านในอเมริกา

นพรัตน์ พันธุ์แสง – แปล

       ในระยะนี้ ชาวอเมริกันได้อ่านผลการศึกษาวิจัยเรื่องหนึ่งซึ่งพบว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยุคใหม่ ที่ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งอ่านงานวรรณกรรม

องค์กรของรัฐบาลกลางซึ่งจัดงบประมาณเพื่องานศิลปะของชาติ (The National Endowment for the Arts) แจ้งผลการวิจัยว่า 47% ชองผู้ใหญ่ชาวอเมริกันอ่านนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร หรือกวีนิพนธ์ ในปี ค.ศ. 2002 นับว่าลดลงจากการศึกษาเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 10% งานวิจัยนี้ชื่อเรื่อง “การอ่านกับภาวะวิกฤติ: การสำรวจการอ่านวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกา” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการ รวบรวมข้อมูลและศึกษาวิจัย

นักวิจัยสอบถามชาวอเมริกันจำนวน 17,000 คน เรื่องการอ่านหนังสือ โดยสามารถตีความคำว่า “งานวรรณกรรม” (literature) เป็นเช่นใดก็ได้ เรื่องที่แต่งขึ้น กวีนิพนธ์ บทละคร นิยายรัก เรื่องลึกลับสอบสวน หรือนิยายวิทยาศาสตร์ รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบผลการวิจัยกับปี ค.ศ. 1982 และ 1992 ด้วย ผู้หญิงอ่านงานวรรณกรรมมากกว่าผู้ชาย แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นด้วยว่า ทั้งชายและหญิงอ่านหนังสือน้อยลงๆ

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวอเมริกันอายุระหว่าง 18-44 ปี อ่านงานวรรณกรรมมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แต่ผลการวิจัยครั้งนี้ (ปี 2002) พบว่า ความสนใจในการอ่านลดลงอย่างมากในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้น และ กลุ่มที่อ่านน้อยลง คือ กลุ่มอายุ 65 ปีและมากกว่านี้

นายเดนา จิโออิอา แห่ง National Endowment for the Arts กล่าวว่า ชาวอเมริกันทุกวัยอ่านหนังสือน้อยลง มิใช่เฉพาะงานวรรณกรรมเท่านั้น เมื่อปี 1992 มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือ 61% ในปี 2002 มี เพียง 57% และจำนวนหนังสือที่อ่านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18 เล่ม แต่มีบางคนที่อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่ม ผู้อ่านงานวรรณกรรม เกือบครึ่งหนึ่งอ่านนวนิยายและเรื่องสั้น 12% อ่านกวีนิพนธ์ และ 4% อ่านบทละคร

ผู้วิจัยเรื่องนี้ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมหนังสือในสหรัฐอเมริกาจำหน่ายหนังสือเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีที่แล้ว ในปี 2000 มียอดจำหน่ายหนังสือเกินกว่า 2,000 ล้านเล่ม ยอด ขายหนังสือเพิ่มขึ้น แต่รายงานกล่าวว่า ผู้คนอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินลดลง เหตุผลหนึ่ง คือ การ แข่งขันด้านเทคโนโลยี รายงานการวิจัยนี้ได้แสดงรายการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงของชาวอเมริกันไว้ด้วย ในปี 1990 ใช้จ่าย 6% ด้านโสตทัศนูปกรณ์รวมทั้งคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ และใช้จ่ายประมาณ 5.7% เพื่อซื้อหนังสือ แต่ปี 2002 ใช้เงินซื้อหนังสือ 5.6% และซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 24% อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนใช้เทคโนโลยีเพื่อรับฟังข้อมูลที่บันทึกมาจากหนังสือ หรืออ่านผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

นายเดนา จิโออิอา ประธานของ National Endowment for the Arts กล่าวย้ำคำพูดว่า “รายงานการวิจัยนี้เป็นหลักฐานแสดงภาวะวิกฤติของชาติ”

อย่างไรก็ตาม มีบางคนแย้งว่า ชาวอเมริกันไม่ควรให้ความสำคัญกับคำเตือนดังกล่าวมากนัก นายชาลส์ แมคแกรธ อดีตบรรณาธิการฝ่ายแนะนำหนังสือ (book review) ของนิวยอร์กไทม์ส เขียนบทวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยนี้เกี่ยวกับงานวรรณกรรมเท่านั้น แมคแกรธกล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่การวิจัยนี้ไม่รวมถึงงานเขียนสารคดี (non-fiction) ด้วย ทั้งๆที่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องจริงกับเหตุการณ์ต่างๆนั้น มีข้อมูลสำคัญมากมายที่ผู้เขียนนำมาเสนอ ตัวอย่างเช่น หนังสือเกี่ยวกับสงครามในอิรักที่ตีพิมพ์ออกมา เร็วๆนี้ ทำให้เกิดการโต้วาทีระดับชาติขึ้น



แมคแกรธแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า การวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษานิตยสาร หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตด้วย ทั้งๆที่กลุ่มตัวอย่างสามารถตีความคำว่า “วรรณกรรม” ได้กว้างมากตามใจปรารถนา กลุ่มตัวอย่างได้รับแจ้งแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องตีความหมาย “แค่งานเขียนที่นักวิจารณ์หนังสือมีความเห็นว่าเป็นวรรณกรรมเท่านั้น”

ขณะที่ชาวอเมริกันอ่านงานวรรณกรรมน้อยลง กลับมีคนจำนวนมากขึ้นที่แสดงฝีมือด้านการเขียน งานวิจัย “การอ่านกับภาวะวิกฤติ” ระบุว่าการเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมทางภาษาจำนวนน้อยที่มีปริมาณผลงานเพิ่มขึ้น และบรรดาบรรณาธิการต่างพยายามช่วยเหลือให้ผลงานของนักเขียนใหม่ๆได้รับการตีพิมพ์ หนึ่งในบรรณาธิการเหล่านั้นคือ เดวิด กรีน ซึ่งหลายปีมานี้ เขาจัดพิมพ์นิตยสารรวมเรื่องสั้นขนาด เล็กขึ้นมา ชื่อ Green’s Magazine เขาเล่าว่า มีค่าใช้จ่ายสูงในการผลิตและจัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์ปีละ 4 ครั้ง คนอ่านเป็นชาวอเมริกันและแคนาดาจำนวนไม่กี่พันคน กรีนบอกว่า เหตุผลหนึ่งในการจัดพิมพ์ คือ เพื่อช่วยเหลือบรรดานักเขียนมือใหม่ เพราะเป็นเรื่องยากยิ่งที่นักเขียนใหม่ๆจะหาสำนักพิมพ์ดำเนินการให้

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ นักเขียนที่หาสำนักพิมพ์รับพิมพ์ผลงานของเขาไม่ได้เช่นในอดีต สามารถ พิมพ์ผลงานของตนเองออกมาทางอินเทอร์เน็ตได้ ด้วยวิธีนี้ ผู้คนก็สามารถอ่านผลงานเขียน หรือพิมพ์ออกมาได้อีกด้วย

ผู้ที่มีผลงานเขียนทางอินเทอร์เน็ตมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน เช่น นักเขียนชื่อก้องสตีเฟน คิง ก็จัดพิมพ์ผลงานเรื่อง “Riding the Bullet” ของเขาด้วยวิธีนี้ ผู้อ่านต้องชำระเงินเพียงเล็กน้อย ต่อมา คิงหยุดพิมพ์ผลงานเรื่อง “The Plant” ทางอินเทอร์เน็ต เพราะมีคนพิมพ์ผลงานของเขาออกมาโดยไม่ยอมจ่ายเงิน

งานวิจัย “การอ่านกับภาวะวิกฤติ” รายงานว่า จำนวนคนกว่า 90% บอกว่า พวกเขาชอบดูโทรทัศน์มากกว่าอ่านหนังสือ ครอบครัวอเมริกันโดยเฉลี่ยดูโทรทัศน์มากกว่า 3 ชั่วโมงในหนึ่งวัน รายงานระบุด้วยว่า โทรทัศน์ทำให้คนลดความสนใจในการอ่านหนังสือ

ทีมงานของเรา (VOA Special English) สนทนากับศาสตราจารย์ที่สอนวิชาวรรณคดีในรัฐแมรีแลนด์ ท่านหนึ่ง เธอเล่าว่านักศึกษาที่เรียนกับเธอจำนวนมากไม่ต้องการอ่านหนังสือที่สั่งให้อ่าน พวกเขาจะอ่านแค่ บทสรุป การวิจารณ์ หรือปริทรรศน์หนังสือเท่านั้น ศาสตราจารย์ท่านนี้กล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยยุคนี้ มีชีวิตเติบโตมากับโทรทัศน์

อย่างไรก็ตาม โทรทัศน์บางรายการมีอิทธิพลทำให้ผู้ชมอ่านหนังสือได้ด้วย เช่น รายการสนทนายอดฮิตของโอพราห์ วินฟรีย์ ได้จัดตั้ง “ชมรมคนรักหนังสือของโอพราห์” (Oprah’s Book Club) ขึ้นด้วย ในตอนเริ่มแรกนั้น เธอเลือกหนังสือที่พิมพ์ออกมาใหม่ๆที่เธอชอบ แล้วขอให้ผู้ชมอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ และเขียนแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์หนังสือส่งไปยังรายการของเธอ ชมรมนี้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสืออย่างมาก สำนักพิมพ์ต่างๆต้องเพิ่มยอดพิมพ์เพื่อตอบสนองความต้องการของคนอ่าน ผู้ที่ต้อง การขอยืมหนังสือจากห้องสมุด พบว่ามีคนหลายร้อยเข้าคิวจองอยู่ก่อนแล้ว

ในปี 2002 โอพราห์ตัดสินใจถอดกิจกรรมชมรมนี้ออก แต่บัดนี้เธอได้นำกลับมาดังเดิมแล้ว ครั้งนี้ เธอเลือกวรรณกรรมคลาสสิก (คือวรรณกรรมยอดนิยมในอดีต และยังมีผู้ชื่นชอบอยู่จนถึงปัจจุบัน – ผู้แปล) เรื่อง “Anna Karenina” ซึ่งยอดนักเขียนเอกของโลกชาวรัสเซีย ลีโอ ตอลสตอย เขียนในช่วงทศวรรษปี 1870 ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในหมู่ชาวอเมริกันในห้วงเวลานี้

ชาวอเมริกันจำนวนมากจัดตั้งชมรมคนรักหนังสือ/รักการอ่านขึ้นมา สมาชิกอาจเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้จะอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน แล้วมาชุมนุมกันเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ บางกลุ่มก็ทำกิจกรรมเหล่านี้ทางอินเทอร์เน็ต บางกลุ่มจะอ่านเฉพาะผลงานของนักเขียนดังๆ หรือบางครั้งก็อ่านผลงานของนักเขียนเพียงคนเดียว สมาชิกชมรมดังกล่าวในรัฐจอร์เจียกลุ่มหนึ่งเลือก อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน อีกกลุ่มหนึ่งเลือกอ่านที่แตกต่างกัน แล้วพวกเขาก็มาร่วมฟังหรืออ่านรายงานของกลุ่มอื่นๆ

เด็กๆก็เข้าเป็นสมาชิกของชมรมรักการอ่านด้วยเช่นกัน เช่น ในรัฐอิลลินอยส์ นายกเทศมนตรีของนครชิคาโก ชื่อ ริชาร์ด เดลีย์ ได้จัดตั้งชมรมดังกล่าวขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ชมรมของเด็กๆสามารถขอความร่วมมือจากมูลนิธิ Great Books ซึ่งจะจัดเตรียมรายการหนังสือน่าอ่าน พร้อมมีจำหน่ายด้วย รวมทั้งการจัดฝึกอบรมให้สมาชิกสามารถนำการอภิปรายหรือวิจารณ์หนังสือได้ด้วย

ผู้แทนจาก National Endowment for the Arts กล่าวว่า การก้าวสู่ยุคการสื่อสารด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความบันเทิงและข้อมูลข่าวสารนั้น ย่อมไม่เป็นข่าวดีต่อสังคมของเรา รายงานการวิจัยบอกด้วยว่า นักอ่านทั้งหลายย่อมกระตือรือร้นต่อกิจกรรมของชุมชนมากกว่า และพบว่าคนที่อ่านงานวรรณกรรมมีแนว โน้มที่จะเสียสละเวลาของตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือ เขาเหล่านั้นยินดีสนับสนุนผล งานศิลปะ และร่วมกิจกรรมกีฬาต่างๆอีกด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ การอ่านมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเรามาก ยิ่งกว่าความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้จากการอ่านเสียอีก

16 สิงหาคม 2547

ข้อมูล :
VOANews.com – THIS IS AMERICA - Reading in America
เขียนบทโดยเจริลิน วัตสัน กระจายเสียงและเผยแพร่บทในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2004

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย