สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
รายการวิทยุกระจายเสียง
อ.วรพจน์ นวลสกุล มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
วิทยุกระจายเสียงนับเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง
ที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารายการโทรทัศน์
เนื่องจากการส่งข่าวสารความรู้ไปสู่ประชาชนได้ไกลกว่าและรวดเร็วกว่าสื่อมวลชนอื่นๆ
แม้นในสถานที่ทุรกันดาร กอปรกับราคาเครื่องรับวิทยุมีราคาถูก น้ำหนักเบา
ตามเทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถเคลื่อนย้ายติดตัวไปได้ง่ายกว่าเครื่องรับโทรทัศน์
และขณะที่ฟังรายการก็สามารถปฏิบัติภารกิจอื่นได้ไปพร้อมๆกัน
รายการวิทยุมีอิทธิพลในการโน้มน้าวความคิดเห็นให้คล้อยตามได้ง่าย
เนื่องจากการเสนอจินตนาการที่กว้างไกลได้มากกว่าการดูรายการโทรทัศน์ที่ถูกจำกัดในเรื่องของภาพและฉาก
หลักการเขียนบทรายการวิทยุกระจายเสียง ประเภทข่าว
องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การนำเสนอข่าวทางวิทยุกระจายเสียงมีความเหมาะสมกับ ผู้ฟัง
คือ การเขียนบท
ซึ่งจะต้องเขียนให้สอดคล้องกับลักษณะและธรรมชาติของวิทยุกระจายเสียง
โดยคำนึงถึงการใช้ภาษาและวิธีการเสนอที่เหมาะสม
โดยทั่วไปจะยึดหลักการเช่นเดียวกับการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์
แต่วิทยุกระจายเสียงมีข้อจำกัดด้านเวลาจึงมักเขียนในลักษณะเน้นความนำ (lead)
และเนื้อข่าว (body) ไว้รวมกัน และมีข้อควรคำนึงที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ
- การเขียนข่าวเพื่ออ่านทางวิทยุกระจายเสียง ต้องกระจ่างชัด ฟังง่าย
เข้าใจได้ง่าย ไม่สับสน วกวน หรือยืดยาว ประโยคแต่ละประโยคควรมีแนวความคิดเดียว
เป็นประโยคสั้นๆ ที่มีความหมายจบในประโยคนั้น
แต่เพื่อความน่าฟังควรจะสลับกับประโยคยาวบ้าง ตามแต่ความสำคัญของใจความ
- หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดซ้ำๆ กัน คำที่มีเสียงคล้ายๆ กัน
เพราะจะทำให้ฟังลำบาก ถ้า
จำเป็นต้องใช้ให้หาคำอื่นที่มีความหมายอย่างเดียวกันแทน
เพื่อช่วยให้ฟังได้ง่ายขึ้น
-
การยกข้อความหรือคำพูดของผู้ใดผู้หนึ่งมากล่าวในการเขียนข่าวทางวิทยุกระจายเสียงนั้น
ผู้ฟังไม่สามารถทราบได้ว่าข้อความนั้นอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ
ดังนั้นจึงต้องเขียนให้ชัดเจนว่าคำพูดนั้นๆ ประโยคนั้นๆ เป็นคำพูดของใคร
จึงควรถอดเครื่องหมายอัญประกาศออก แล้วเรียบเรียงประโยคเสียใหม่
เปลี่ยนสรรพนามจากบุรุษที่หนึ่งเป็นบุรุษที่สาม หรือเอ่ยชื่อบุคคลนั้นๆ
ออกมาให้ชัดเจน
- ไม่ควรประหยัดคำจนเกินไป เพราะอาจทำให้เข้าใจไขว้เขวได้
การใช้คำย่อย่อมไม่เป็นการอำนวยความสะดวกทั้งแก่ผู้อ่านและผู้ฟัง
ผู้อ่านอาจอ่านผิดพลาดได้ง่าย ผู้ฟังก็อาจฟังผิดเพี้ยนสับสนได้ง่ายเช่นกัน
ตัวย่อที่ใช้กันอยู่จนเป็นที่ยอมรับมักเป็นตัวย่อของหน่วยงานราชการ
รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่ใช้ตัวย่อจนเป็นที่รู้จักดี
และใช้กันจนเป็นที่รู้จักทั่วไปเท่านั้น
- การเขียนชื่อเฉพาะ ชื่อที่อ่านยากๆ ศัพท์บางคำที่ไม่คุ้นตา
ควรวงเล็บคำอ่านไว้ให้ ชัดเจน เช่น เสวก (สะ-เหวก) รังควร (รัง-คะ-วอน) เป็นต้น
- การเขียนตัวเลขต้องเขียนให้ผู้อ่านไม่สับสน ตามหลักสากล เลขต่ำกว่า 10 เขียนเป็นตัวหนังสือ ยกเว้น วันที่ เลขที่บ้าน ลำดับที่ เวลา อายุ
แนวปฏิบัติในการทำต้นฉบับ บทรายการประเภทข่าว
- กระดาษที่ใช้พิมพ์ข่าว โดยทั่วไปนิยมใช้กระดาษขนาด A4
- การพิมพ์ข่าวมักเว้นช่วงระหว่างบรรทัดห่าง 2 ช่วงบรรทัด เพื่อให้อ่านง่าย
และไม่หลงบรรทัด หากเว้นช่วงถี่ไป อาจอ่านหลงบรรทัดได้และใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่
16-18 พอยท์
- การเน้นข้อความหรือคำใดที่มีความสำคัญ
เพื่อให้อ่านง่ายและไม่ผิดพลาดของผู้เขียนข่าว ควรขีดเส้นใต้ข้อความ
หรือทำตัวหนาคำนั้นๆ ไว้ให้เห็นได้ชัดเจน
- หัวข้อข่าวทุกหัวข้อ ควรใส่ไว้ด้านซ้ายมือก่อนขึ้นต้นข่าว และมักขีดเส้นใต้
หัวข้อข่าวมักเป็นวลีหรือประโยคสั้นๆ
บางครั้งอาจใช้คำเพียงไม่กี่คำเป็นหัวข้อข่าวก็ได้ เช่น
มหาวิทยาลัยสงฆ์เชิญชมนิทรรศการวันอาสาฬหบูชา, สถานการณ์ไฟใต้ยังคุกรุ่น,
นิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา เป็นต้น
- ผู้อ่านข่าวโดยปกติจะอ่านข่าวได้ประมาณ 11-12 บรรทัดใน 1 นาที
การรู้จำนวนเวลาเช่นนี้จะช่วยในการเขียนบทได้เป็นอย่างมาก
- การขึ้นย่อหน้าควรเว้น 10-15 ตัวอักษร (2 Tab)
- ไม่ควรมีข่าวมากกว่า 1 เรื่อง ในหนึ่งหน้ากระดาษ หากจำเป็นต้องมีมากกว่า 1
หน้า
ให้ทำลูกศรโยงไว้ให้เห็นชัดเจนที่มุมล่างขวามือเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่ายังมีต่ออีกหน้าหนึ่ง
- เมื่อจบข่าวสุดท้ายแล้ว นิยมเขียนไว้ให้ชัดเจนว่า จบข่าว เสมอ
เพื่อให้ผู้ฟังรับทราบและแน่ใจว่าจบข่าวสำหรับช่วงนั้นแล้ว
- ควรใส่แหล่งที่มาของข่าว เช่น ผู้เขียนข่าว หน่วยงาน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ไว้ท้ายกระดาษเสมอ
ตัวอย่างการเขียนข่าวรายการวิทยุกระจายเสียง
ความยาว 1 นาที
สื่อวิทยุกระจายเสียงถือว่าเป็นสื่อที่มีบทบาทในการเผยแพร่ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกระดับ
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการสนับสนุนบริการสารสนเทศ และผลิตสื่อการเรียนการสอน
สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย จึงจัด
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เทคนิคการจัดรายการวิทยุ และผลิต
สปอตโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ ขึ้น เพื่อให้ผู้ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์
หรือผู้สนใจเข้าร่วมอบรม เพื่อรับทราบความรู้ด้านเทคนิคการจัดรายการวิทยุ
การนำเสนอข่าว และการผลิตสปอตวิทยุแบบมืออาชีพ
โดยมีวิทยากรผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดรายการวิทยุ
และผู้ทำงานด้านการผลิตสื่อร่วมเป็นวิทยากร อบรมในวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2551
โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
รับจำนวนจำกัดเพียง 50 คน เท่านั้น
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่
งานประชาสัมพันธ์ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353170
, 045-353174 หรือ 081-8775160
ตัวอย่างการเขียนข่าวและบทสารคดีทางรายการวิทยุกระจายเสียง
ความยาว 2.30 นาที
สวัสดี
ครับ/ค่ะ
คุณผู้ฟังรายการสรรสาระกับคณะศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์
หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ สถานีวิทยุกองทัพภาคที่ 4
ขอนำเสนอเกร็ดความรู้แก่ท่านผู้ฟัง สำหรับวันนี้นำเสนอเรื่อง
การรวมตัวของชนชาติยิวในปัจจุบัน
สิ่งที่ชนชาติฮีบรูหรือชาวยิวโบราณให้ไว้เป็นมรดกแก่โลกคือ ศาสนาและวรรณคดี
ในขั้นต้นชาวยิวยังนับถือบูชาเทพเจ้าหลายองค์ เช่นเดียวกับเผ่าเซเตติคอื่นๆ
แต่ภายหลังได้เปลี่ยนไปนับถือพระเจ้าประจำหมู่ของตนคือ ยาเวห์ หรือ ยะโฮวาห์
ต่อมาพวกผู้นำในทางศาสนาของชาวฮิบบรูที่เรียกว่า ศาสดาพยากรณ์
ได้สั่งสอนและชักชวนชาวฮิบบรูให้เคารพนับถือพระเจ้าของตนแต่เพียงองค์เดียวคือ
พระบิดาผู้ทรงไว้ซึ่งความเมตตาและความรัก
เป็นพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงองค์เดียวแห่งจักรวาล ก่อให้เกิดลักษณะใหม่ในทางศาสนา
คือ ลัทธิการนับถือบูชาเทพเจ้าองค์เดียว ซึ่งแตกต่างจากลักษณะศาสนาของคนทั่วไป
สมัยโบราณ ซึ่งยึดถือ ลัทธิการนับถือบูชาเทพเจ้าหลายองค์
นักปราชญ์ผู้หนึ่งได้กล่าวถึงลัทธินับถือบูชาเทพเจ้าองค์เดียวของชาวยิวว่ามิได้เกิดจากผลแห่งความพยายามที่จะคว้าหลักธรรม
หรืออำนาจสูงสุดของพระเป็นเจ้าแต่อย่างใด
หากเกิดจากความต้องการผลในทางประวัติศาสตร์ของชาติคือศีลธรรมและความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งสังคมชาวยิว
ทั้งนี้โดยกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
อาศัยพลังในทางศาสนาและประเพณีปฏิบัติที่ร่วมกันมาอย่างแน่นแฟ้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความเป็นชาติไว้
ศาสดาพยากรณ์เป็นผู้ที่พยายามดำเนินการที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายดังกล่าว
วรรณคดีชิ้นสำคัญของชาวฮีบรู คือ พระคัมภีร์เก่า
ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานความเป็นมาของชาวฮีบรูด้วย
รวบรวมขึ้นจากระเบียบประเพณีประวัติศาสตร์ สุภาษิต บทเพลงสวด ตลอดจนคำทำนายต่างๆ
ที่เขียนทำนองสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า
พระคัมภีร์เก่านี้รวมกับพระคัมภีร์ใหม่เรียกว่า พระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์เก่า
จารึกด้วยภาษายิวหรือภาษาฮีบรูโบราณ ต่อมาแปลออกเป็นภาษาละตินและภาษาอังกฤษ
มีอยู่รวมทั้งสิ้น 39 ตอน 2 ประวัติศาสตร์ของชาวยิวเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้
เป็นการต่อสู้เพื่อดำรงความเป็นชาติและเพื่อผืนแผ่นดิน ชาวยิวต่อสู้มาตลอด
ตั้งแต่โบราณจนถึงคริสตศตวรรษที่ 20
แม้จนกระทั่งในปัจจุบันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ชาวยิวอยู่รอดมาได้
ไม่ใช่ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์หรือภูมิอากาศแน่นอน ทั้งนี้เพราะชนเผ่าอื่นๆ
ที่อาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เดียวกันได้สูญสิ้นความเป็นชาติไปเป็นเวลานานมาแล้ว
ข้อเท็จจริงประการที่ว่าชาวยิวเป็นชาติที่ยึดมั่นอยู่ในลัทธิความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่ร่วมกันอย่างเคร่งครัดแน่นแฟ้น
รวมทั้งความแข็งแกร่งทางจิตใจในแต่ละตัวบุคคลที่ได้สืบสายโลหิตกันต่อๆ มา
ท่ามกลางความทุกข์ยากและความพลัดพราก
อันเป็นผลมาจากทารุณกรรมที่ชาวยิวได้รับมาโดยตลอด
นับเป็นปัจจัยในทางสังคมและศาสนาที่มีผลต่อการผนึกจิตใจของชาวยิวไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลกให้ร่วมกันเพื่อดำรงรักษาความเป็นชาติยิวของตนไว้
พบกับ รายการสรรสาระกับคณะศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกครั้งในวัน เวลาเดียวกันนี้
และหากท่านใดมีข้อเสนอแนะหรือติชมทางรายการ โปรดโทรศัพท์ติดต่อ ได้ที่ 0-7428-6654
จะเป็นพระคุณยิ่ง สำหรับวันนี้ สวัสดี
ครับ/ค่ะ..