ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
จริยธรรมแห่งวิชาชีพและจริยศาสตร์
ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
คำว่า จริยธรรมแห่งวิชาชีพ มรรยาทวิชาชีพ
จรรยาบรรณวิชาชีพ คุณธรรมจริยศาสตร์ จริยศึกษา
มีผู้กล่าวกันมากแต่จะหาคำตอบอธิบายที่ชัดเจนถึงความหมายที่แท้จริงนั้นยาก
เพราะหลายท่านกล่าวไม่เหมือนกันทำให้สับสน
ในที่นี้พยายามแยกคำอธิบายให้ชัดเจนโดยยึดถือพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525
เป็นหลัก
คำว่า คุณธรรม เป็นนาม หมายถึง สภาพคุณงามความดี ขอขยายความว่า คุณธรรม
เป็นคุณงามความดีที่ทุกคนยอมรับ ที่วิญญูชนพึงสำนึกในจิตใจของตน ในด้านความจริง
ความดีและความงาม และใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต
ความกตัญญูกตเวที ความเสียสละส่วนตนเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป....เป็นต้น
คำว่า จริยธรรม คำนี้เป็นนาม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ ศีลธรรม
กฎศีลธรรม ขยายความว่าเป็นกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม
หากไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิดไปจากกฎ ระเบียบ อาจจะมีบทลงโทษ เช่น แพทยสภา
ออกข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีอยู่ 6
หมวด สมาชิกแพทยสภาทุกคนหากฝ่าฝืนกฎก็อาจถูกลงโทษหนักเบาได้สุดแล้วแต่กรณี
จริยธรรมบางทีก็กำหนดโดยไม่มีบทลงโทษแต่ให้ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพหรือผู้เข้ามาในวงการวิชาชีพใหม่สามารถติดตามหัวข้อจริยธรรมนั้นๆ
เช่น คำสาบานของฮิปโปเตรตีส (Hippocratic cath)
แพทยทุกคนทางซีกโลกตะวันตกเมื่อจะออกไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์จะต้องสาบานตนตามหัวข้อจริยธรรมที่กำหนดโดย
ฮิปโปรเตรตีส ปรมาจารย์ทางการแพทย์ในสมัยก่อนคริสตกาลหรือในปัจจุบันสมาคมแพทย์โลก
(World Medical Association) ได้ประกาศ International Code of Medical Ethics
เมื่อปี พ.ศ. 2492
เป็นจริยธรรมที่ให้แพทย์สำเร็จใหม่ทุกคนสาบานตนก่อนปฏิบัติหน้าที่แพทย์
บางทีเราเรียกคำสาบานนี้ว่า Declaration of Geneva
ฝ่ายพยาบาลก็มี The Code for Nurses (จริยธรรมแห่งวิชาชีพพยาบาล)
ซึ่งเป็นสากลใช้กันทั่วโลกเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นจริยธรรมที่ประกาศโดย สภาพยาบาลสากล
(International Council of Nurses, ICN) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516
ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก
สำหรับประเทศไทยนั้นสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประกาศใช้
จริยาบรรณ วิชาชีพพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2528
ซึ่งได้ใช้กันในหมู่วิชาชีพพยาบาลจนถึงทุกวันนี้ ขณะนี้ได้มีสภาการพยาบาลขึ้นแล้ว
จึงได้มีการกำหนดบทลงโทษผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอีกโสดหนึ่งด้วย
คำว่า จริยธรรมแห่งวิชาชีพ หรือ จรรยาบรรณวิชาชีพ
จะเห็นว่าเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือ
เป็นระเบียบข้อบังคับที่สมาชิกทุกคนในวิชาชีพต้องนำไปปฏิบัติ บางทีเรียกว่า
มรรยาทวิชาชีพ ก่อนนี้แพทยสภาเคยใช้คำ มรรยาทวิชาชีพ ในความหมายเดียวกับ
จริยธรรมแห่งวิชาชีพ
คำว่า มรรยาทแห่งวิชาชีพ
นี้ในความเห็นของผู้เขียนน่าจะเก็บไว้ใช้ให้ตรงกับความหมายคำ คือคำว่ามรรยาทมากกว่า
ซึ่งควรหมายความอย่างเดียวกับคำว่า etiquette ของภาษาอังกฤษ
ที่แปลว่าความประพฤติที่งดงาม มีศักดิ์ศรีมีเกียรติสมควรแก่ความยกย่อง
วิชาชีพของพยาบาลและแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีมรรยาท สำหรับประพฤติปฏิบัติแก่คนทั่วไป
และแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพ เช่น การพูดจาสุภาพ อ่อนน้อม
ไม่แสดงอาการโกรธต่อผู้ป่วย.....เป็นต้น
คำว่า จริยศาสตร์ เป็นนาม ได้แก่ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติ
และการครองชีวิตว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด หรืออะไรควรไม่ควร
ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า ethics
จริยศาสตร์เป็นเนื้อหาความรู้ทางปรัชญาที่เป็นพื้นฐานหรือแนวความคิดเบื้องต้นที่นำไปสู่การกำหนดหัวข้อจริยธรรมเพื่อการปฏิบัติ
ยกตัวอย่างเช่นในข้อจริยธรรม (หรือจรรยาบรรณ)
ของวิชาชีพแพทย์และพยาบาลจะกำหนดไว้ว่าแพทย์และพยาบาลต้องเก็บรักษาเรื่องส่วนตัวของผู้ป่วยไว้เป็นความลับ
เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบไม่ได้ นอกจากผู้ป่วยยินยอมหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
คำถามที่นำไปสู่ จริยศาสตร์ คือ ทำไมแพทย์หรือพยาบาลต้องทำเช่นนั้น คำตอบคือ
เพราะเรื่องส่วนตัวของผู้ป่วยเป็นสิทธิของบุคคล หรือพยาบาลต้องทำเช่นนั้น คำตอบคือ
เพราะเรื่องส่วนตัวของผู้ป่วยเป็นสิทธิของบุคคลที่เขาจะบอกหรือไม่บอกให้ใครรู้ก็ได้
แต่ที่เขาจำเป็นต้องบอกกับแพทย์หรือพยาบาลก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้แพทย์และพยาบาลรักษาเขาให้หายจากความเจ็บป่วย
และเขาเชื่อว่าแพทย์หรือพยาบาลผู้นั้นจะรักษาความลับเขาไว้
คำตอบเหล่านี้คือการใช้หลักการของจริยศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง
การเคารพในสิทธิส่วนตัว (Respect for Autonomy)
ในเรื่องการรักษาความลับของเรื่องส่วนตัวผู้ป่วยนี้มีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งน่าจะเล่าเรื่องนี้ให้ทราบไว้เป็นตัวอย่างถึงความลำบากใจของแพทย์หรือผู้มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะปฏิบัติอย่างไร
ในคดีฆาตกรรมรายหนึ่ง นายโปรเซนจิต ทำร้ายนางสาวทาเซียนา
ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2512
ผู้ปกครองของนางสาวทาเซียน่าฟ้องนายแพทย์ลอเรนซ์มัวร์ ต่อศาล กล่าวหาว่า น.พ. มัวร์
จิตแพทย์ที่รักษาโรคจิตของนายโปรเซนจิตซึ่งรับทราบจากคำสารภาพของนายโปรเซนจิตว่าตัวเองอยากฆ่านางสาวทาเซียน่า
แต่ น.พ.มัวร์ มิได้แจ้งเรื่องให้พ่อแม่นางสาวทาเซียน่าทราบ
น.พ.มัวร์แจ้งตำรวจให้ควบคุมตัวนายโปรเซนจิตไว้
แต่แล้วก็ถูกปล่อยตัวออกมาในเมื่อเห็นว่าไม่มีอาการอะไรน่ากลัว
ในสุดท้ายเมื่อนางสาวทาเซียน่ากลับมาจากประเทศบราซิล
นายโปรเซนจิตก็เข้าไปในห้องของนางสาวทาเซียน่าแล้วเธอฆ่าเธอ
ผู้ปกครองน.ส.ทาเซียน่าฟ้องศาลว่า
น.พ.มัวร์ทราบเรื่องนี้ว่านายโปรเซนจิตจะพยายามฆ่าน.ส.ทาเซียน่า
แต่กลับไม่ยอมบอกพ่อแม่ของนาวสาวทาเซียน่าก่อน
ซึ่งจะได้หาทางป้องกันตัวนางสาวทาเซียน่าได้ น.พ.มัวร์
จึงมีความผิดฐานไม่บอกเรื่องร้ายแรงให้ผู้ปกครองผู้ตายทราบ น.พ.มัวร์
แก้ข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้รักษานายโปรเซนจิตที่เป็นโรคจิต
เขาจะเป็นต้องรักษาความลับของผู้ป่วยไม่อาจบอกให้ใครทราบได้ อย่างไรก็ตาม
เขาก็ได้แจ้งให้ตำรวจทราบและนำตัวไปกักกันไว้แล้วถึง 3 วัน จึงปล่อยตัวมา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ส่วนใหญ่ของศาลเห็นว่า
น.พ.มัวร์มีความผิดฐานละเลยไม่แจ้งหรือเตือนผู้ปกครองนางสาวทาเซียน่าถึงอันตรายที่จะเกิดผู้ป่วยของตน
ผู้รักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกจากดูแลของตนแล้วยังต้องนึกถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นด้วย
โดยเฉพาะจริยธรรมของแพทย์ของสมาคมแพทย์อเมริกัน ได้กล่าวว่า
แพทย์ต้องไม่เปิดเผยความลับที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้ป่วยนำมาเล่าให้ฟังในขณะที่รักษากันอยู่
นอกจากจะต้องทำตามกฎหมายหรือต้องทำเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของบุคคลอื่นหรือของสังคม
แต่ศาลฎีกาส่วนน้อยกลับให้ความเห็นว่า น.พ. มัวร์ ไม่ผิด
เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่และนักกฎหมายหลายคนให้ความเห็นว่าการไม่ยอมเปิดเผยความลับของผู้ป่วยโรคจิตมีความสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยประเภทนี้
ถ้าแพทย์เปิดเผยความลับออกไปจะทำให้การรักษาไม่ได้ผล
เพราะครั้งต่อไปผู้ป่วยจะไม่กล้าไว้วางใจแพทย์ และจะไม่กลับมาหาแพทย์ให้รักษาต่อไป
ซึ่งจะยิ่งเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นและสังคมมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยโรคจิตคนอื่นหากทราบว่าแพทย์มักจะเล่าความจริงส่วนตัวที่ผู้ป่วยไว้วางใจเล่าให้แก่ผู้อื่นฟังแล้ว
ในที่สุดความเชื่อถือไว้วางใจแพทย์จะลดน้อยลงจนกระทั่งไม่ไว้ใจแพทย์เลย
แล้วใครจะเป็นคนรักษาผู้ป่วยโรคจิต สุดท้ายสังคมนั่นแหละจะเดือดร้อนมากที่สุด
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความลำบากในการตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ลองนึกภาพสมมุติว่าตัวเราเองเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินใจว่าอย่างไร
หรือนึกภาพว่าถ้าเราเป็นน.พ. มัวร์เราจะตัดสินใจอย่างไร
จะบอกพ่อแม่ของนางสาวทาเซียน่าดี หรือไม่บอกดี
ถ้าบอกก็หมายความว่าเรากำลังทำผิดจริยธรรมของแพทย์และอาจไม่เป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย
ถ้าไม่บอกก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้
สภาพการณ์เช่นนี้เป็นสภาพการณ์ที่แพทย์หรือพยาบาลพบบ่อยและตัดสินใจกระทำการไปอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
จะเห็นว่าทางเลือกทั้งสองทางนี้ถูกต้องทั้งสิ้น แต่จะเลือกทางหนึ่งนั้น
ก็ต้องทิ้งอีกทางหนึ่ง ไม่สามารถเลือกทำทั้งสองทางได้
สภาพการณ์เช่นนี้เป็นสภาพที่เรียกว่า moral dilemma
คือภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการตัดสินใจทางศีลธรรมหรือทางจริยธรรม
การตัดสินใจในกรณีเช่นนี้ต้องอาศัยการให้เหตุผลทางจริยธรรม (moral reasoning)
ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางหลักการ และทฤษฏีทางจริยศาสตร์มาประกอบการให้เหตุผล
รวมทั้งความเชื่อ ค่านิยมของแพทย์หรือพยาบาลผู้นั้นประกอบกับปทัสสถาน (norm)
ของสังคมคือความเชื่อของสังคมส่วนใหญ่ที่แวดล้อมแพทย์หรือพยาบาลผู้นั้นในขณะนั้น
ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้อีกสักหนึ่งตัวอย่างซึ่งกรณีคล้ายคลึงกันนี้อาจเคยประสบกับเรามาบ้างแล้วก็ได้
ณ โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ค่ำวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ
มีคนได้รับบาดเจ็บ 5 คนถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาล ทั้ง 5 คนนี้เป็นครอบครัวเดียวกัน
มีแม่และลูกอีก 4 คน พยาบาลเวรรู้จักกับครอบครัวนี้ดีเป็นผู้รับผู้ป่วยทั้งหมดไว้
ลูกสาวคนโตบาดเจ็บสมองมากที่สุด และถึงแก่กรรมหลังจากรับไว้เพียง 30 นาที
ส่วนลูกอีก 3 คนปลอดภัย แม่เองบาดเจ็บเล็กน้อย มีรอยถลอกและช้ำเขียวเป็นบางแห่ง
แม่ไม่ทราบว่าลูกสาวคนโตตายเป็นห่วงกังวลมาก
เฝ้าแต่ถามพยาบาลเวรที่เป็นเพื่อนกันตลอดเวลาถึงอาการของลูกสาวคนโต
พยาบาลเวรถามแพทย์ที่กำลังยุ่งทำผ่าตัดผู้ป่วยรายอื่นอยู่ว่าควรจะบอกแม่อย่างไร
แพทย์บอกว่าอย่าเพิ่งบอกว่าลูกสาวตาย มิฉะนั้นแม่จะเสียใจอาจล้มป่วยช็อคได้
ขอให้ไปบอกความจริงตอนเช้า เมื่อพ่อ (สามี)
กลับมาจากอีกจังหวัดหนึ่งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
ขณะนี้ให้พยาบาลโกหกผู้ป่วยไว้ก่อนลูกสาวยังไม่เป็นไร
ถ้าท่านเป็นพยาบาลท่านจะทำอย่างไร
เรื่องจริงปรากฏว่าตลอดคืนนั้น
แม่เฝ้าถามพยาบาลเวรตลอดเวลาว่าลูกสาวเป็นอย่างไร
พยาบาลก็ตอบหลีกเลี่ยงหลอกแม่ว่าไม่เป็นอะไรตลอดเวลา
พยาบาลเวรผู้นี้กล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งภายหลังว่า ขณะที่โกหกคนไข้นั้น
ใจฉันไม่สบายเลย ไม่กล้าแม้แต่จะสบตากับผู้ป่วย (แม่)
เพราะรู้สึกผิดมโนธรรมอย่างมาก
เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อสามีมาถึงแล้วแพทย์เป็นผู้บอกความจริงให้แม่ทราบพร้อมหน้าพ่อ
แม่เสียใจมาก ร้องไห้ แล้วกล่าวออกมาว่า ทำไม คนรู้จัก (พยาบาล) ต้องหลอกฉันด้วย
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึง moral dilemma ของพยาบาลเป็นอย่างดี
โดยที่ไม่ทราบจะตัดสินใจปฏิบัติทางใดดี
จะบอกความจริงให้ผู้ป่วยทราบก็กลัวผู้ป่วยจะช็อคเป็นอันตรายได้
ถ้าไม่บอกก็เท่าตัวเองพูดปด
ซึ่งนอกจากผิดศีลธรรมแล้วยังทำให้ตนไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้ป่วย (เพื่อน)
ต่อไปไม่ทราบว่าเลือกทางใดจะผิดน้อยที่สุด
จะเห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างหนึ่ง จะต้องทิ้งอย่างหนึ่ง
การปฏิบัติศีลข้อหนึ่งจะต้องทิ้งศีลอีกข้อหนึ่งไป จะเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินใจจึงจะดี
ความคิดจริยศาสตร์บังคับให้ตัดสินใจโดยเกณฑ์หนึ่งเดียว จะให้หลายเกณฑ์ไม่ได้
ดังนั้นจริยศาสตร์จึงเป็นความรู้ที่แพทย์และพยาบาลต้องเรียนรู้เพื่อหาเหตุผลมาอธิบายในสิ่งที่คนจะต้องกระทำลงไป
การเกิดความขัดแย้งกันในใจเกี่ยวกับการตัดสินใจในกรณีตัวอย่างนี้
เกิดขึ้นเพราะมีความขัดแย้งกันใน 2 ลัทธิ (ความเชื่อ)
ลัทธิหนึ่ง เรียกว่า ลัทธิธรรมชาติ คนที่เชื่อลัทธินี้ เชื่อว่าธรรมะต่างๆ
หรือสัจธรรมในโลกนี้มีมาแล้วพร้อมกับโลก มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างศีลธรรม
กฎวิทยาศาสตร์เหล่านี้เป็นกฎธรรมชาติเป็นเรื่องตายตัวอยู่แล้ว
มนุษย์มาค้นพบทีหลังต่างหาก
เนื้อหาทางศีลธรรมหลักของลัทธินี้ คือ คนต้องเคารพความเป็นบุคคลของมนุษย์
(Respect for Person of human life)
ดังนั้นต้องไม่ใช้คนเป็นเครื่องมือไม่ว่ากรณีใดๆ
เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ในกรณีนี้การพูดปดจึงผิดเพราะการพูดปดนั้นใช้คนเป็นเครื่องมือให้พูดปดเพื่อประโยชน์บางอย่าง
การลงโทษคนเพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือลงโทษคนเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจะทำไม่ได้
เพราะการลงโทษในกรณีเช่นนี้หมายถึงใช้คนเป็นเครื่องมือ
ดังนั้นถ้าหากถามว่าลัทธินี้ถืออะไรเป็นสิ่งถูกที่สุด จะได้รับคำตอบว่า
ถือศักดิ์ศรีของมนุษย์ ลัทธินี้จะไม่ยอมให้มีการฆ่าคนพูดปด ลักขโมย เป็นเด็ดขาด
พิจารณาดูแล้วคล้ายคลึงกับศีลในศาสนามาก ความจริงศาสนาส่วนใหญ่จะยึดหลักของลัทธินี้
ลัทธิที่สอง เป็นลัทธิที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
ลัทธินี้เชื่อว่าจะตัดสินใจทำอะไรลงไปให้นึกถึงผลที่ตามมา กล่าวคือ
ความสุขของคนส่วนใหญ่ ถ้าการตัดสินใจนั้นอาจทำให้เกิดผลสองทาง
คือหนึ่งเกิดผลให้ความสุขเพราะคนหนึ่งคน กับสองเกิดผลให้ความสุขกับคนสิบคน
เช่นนี้จะต้องเลือกกระทำในประการที่สอง คือให้ได้ผลมีความสุขต่อคนที่มีจำนวนมากกว่า
ทฤษฏีหรือลัทธินี้จึงเรียกว่า Consequantialism
ซึ่งมีนักปราชญ์ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19
หลายคนตั้งทฤษฎีหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Consequantialism คือลัทธิ
Utilitarianism (แปลเป็นไทยว่าลัทธิประโยชน์นิยม)
ลัทธินี้มีคำกล่าวที่เป็นหลักการไว้คือ การกระทำที่ถูกศีลธรรมหรือจริยธรรม
คือ การกระทำที่ให้ได้มาซึ่งความสุขที่มากที่สุดกับคนที่มีจำนวนมากที่สุด (The
maximum amount of happiness for the greatest number of people)
ถ้าถือลัทธินี้ แพทย์หรือพยาบาลพูดปดกับผู้ป่วยได้
ถ้าพูดแล้วทำให้ผู้ป่วยหนึ่งคนที่กำลังมีทุกข์มีความสุขขึ้นได้ ก็จะตรงกับลัทธินี้
หรือในกรณีคนที่เป็นพาหนะโรคเอดส์ โดยการตรวจเลือดพบ
ไม่อนุญาตให้แพทย์หรือพยาบาลบอกความจริงกับครอบครัวของเขา
ถ้าถือลัทธินี้แพทย์หรือพยาบาลผู้นั้นก็สามารถบอกครอบครัวเขาได้
เพราะถือว่าการทำให้เกิดความสุขของครอบครัวที่มีจำนวนคนมากกว่าผู้ป่วยเพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่พึงกระทำ
การถือตามลัทธิทั้งสองนี้อย่างเคร่งครัดมีปัญหาทั้งคู่
ในลัทธิแรกถ้าถือเคร่งครัดแพทย์หรือพยาบาลจะทำแท้งไม่ได้เด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆ
ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าผู้คลอด (แม่) จะอยู่ในระหว่างอันตราย
ส่วนลัทธิที่สองก็มีปัญหาเช่นกัน สมมติว่าคน 10 คน เดินทางในป่า
หลงป่าหาทางออกไม่ได้ เกิดขาดแคลนอาหาร
และจะต้องรอคนช่วยซึ่งกว่าจะมาช่วยได้กินเวลา 1 เดือน
คนกลุ่มนั้นจับฉลากกันได้ไม้สั้นจะต้องถูกฆ่าตาย
เพื่อนำเนื้อให้คนที่เหลือกินเป็นอาหาร เพื่อความอยู่รอดของคนจำนวนมากกว่า
ความสุขของคนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นจากการละเมิดบุคคล
การกระทำเช่นนี้ลัทธิหนึ่งไม่ยอมเด็ดขาด เพราะถือว่าใช้คนเป็นเครื่องมือ
ในบางกรณีถึงแม้ในทางปฏิบัติ
แพทย์หรือพยาบาลคิดว่าเราน่าจะทำได้เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วย
แต่ทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายบ้านเมืองบังคับอยู่ เช่น ในกรณีการุณญฆาต (euthanasia)
ได้แก่กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ และอยู่ในวาระสุดท้ายของโรค
ผู้ป่วยเจ็บปวดทรมานมากขอร้องให้แพทย์ทำลายชีวิตของตนเสีย
เช่นนี้ถึงแม้แพทย์หรือพยาบาลประสงค์จะทำก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายยังห้ามอยู่
แต่แพทย์หรือพยาบาลหรือสาธารณชนทั่วไปอาจอภิปรายกันได้ว่าทำไมกฎหมายจึงห้าม
จะยกเลิกกฎหมายหรือไม่ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลทราบถึงปัญหาการตัดสินใจทางศีลธรรม
จริยธรรมของแพทย์และพยาบาล ซึ่งก็มีตัวอย่างมาแล้วในกรณีทำแท้ง เป็นต้น
ในอนาคตอันใกล้แพทย์หรือพยาบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาทางจริยธรรม หรือ moral
dilemma นี้มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆบางตัวอย่าง
1. เรื่องการรักษาชีวิตผู้ป่วยที่เนื้อสมองถูกทำลายไปมาก (severe brain
damage) เทคโนโลยีช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้โดยเครื่องช่วยหายใจ หัวใจเต้น
มีการให้อาหารทางสายยาง สามารถยืดชีวิตได้อีกเป็นเดือนหรือเป็นปี
ในกรณีนี้ควรหยุดเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องพิจารณาถึงปทัสสถาน (norm)
ของผู้เกี่ยวข้องคือนักกฎหมาย ผู้ออกกฎหมาย รัฐบาลประชาชน
ตลอดจนแพทย์พยาบาลทั้งหมดว่าควรทำอย่างไร เรามีความเคารพในตัวบุคคล
เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แค่ไหน
ถ้าให้มีชีวิตต่อไปสังคมจะต้องแบกภาระหนักนี้มากขึ้น
ข้อเถียงนี้มีน้ำหนักพอหรือไม่ที่จะลบล้างความเห็นที่ให้ความสำคัญของคุณค่าของชีวิต
ในกรณีเดียวกันถ้าโรงพยาบาลมีเครื่องช่วยหายใจเพียงเครื่องเดียว
เผอิญมีผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งต้องการเครื่องช่วยหายใจเข้ามาใหม่
แพทย์หรือพยาบาลจะตัดสินใจอย่างไร
2. ในกรณีสมองตาย (brain dead)
ที่แพทยสภาให้เกณฑ์การวินิจฉัยมาแล้วว่าต้องมีอาการแสดงของการตายของก้านสมอง
ไม่มีรีเฟลกซ์ที่ตา และต้องมีแพทย์อย่างน้อยสามคนร่วมกันวินิจฉัย
ในกรณีเช่นนี้ยังไม่มีการแก้กฎหมาย ให้ตรงกับเกณฑ์ของแพทยสภาควรจะแก้ไขหรือไม่
ในกรณีนี้เช่นกัน
จะเป็นการสมควรหรือไม่ที่แพทย์หรือพยาบาลจะขอร้องให้บิดามารดาหรือสามีภรรยาของผู้ป่วยยินยอมให้แพทย์นำเอาอวัยวะต่างๆ
มาปลุกถ่าย (transplant) ให้คนอื่น เช่น ไต หัวใจ ปอด ตับ ตับ ต่อมหมวกไต เป็นต้น
ทั้งๆ ที่เขากำลังเศร้าโศกและเขาก็เห็นว่าหัวใจกำลังเต้นอยู่
3. ผู้ป่วยอายุ 90 ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย มีความเจ็บปวดมาก
ขอให้แพทย์ให้ยาเพื่อจบชีวิตของตนเสีย แพทย์จะทำได้เพียงใด ในกรณีที่ผู้ป่วยขอร้อง
ถ้าแพทย์ทำลงไปจะถือเป็นการละเมิดบุคคลหรือไม่
มนุษย์มีสิทธิบงการชะตากรรมของตนเองหรือไม่
หรือถ้าแพทย์ไม่ทำเองสั่งพยาบาลให้ฉีดยาผู้ป่วย พยาบาลควรทำหรือไม่
4. เทคโนโลยีใหม่สามารถตรวจพบยีน (gene) ที่ผิดปกติของทารกในครรภ์ได้
สามารถทายได้ว่าเด็กในครรภ์จะมีความพิการอย่างใดได้ ถ้าพบว่าทารกมีความผิดปกติจริง
การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดหรือถูก
5. ในกรณีผสมเทียมนอกร่างกายมนุษย์ (in vitro fertilization)
หรือทารกในหลอดแก้ว จะพิจารณาเรื่องจริยศาสตร์อย่างไร
- ในกรณีมดลูกให้เช่า
การนำเอาไข่ที่ผสมแล้วมาฝากไว้กับมดลูกของหญิงอีกคนหนึ่งเพราะหญิงที่เป็นเจ้าของไข่ไม่มีมดลูก
หรือมดลูกไม่เจริญพอ
- ในกรณีแม่ขอยืม (surrogated motherhood) ภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้
เพราะไม่สามารถตกไข่ได้
แพทย์นำน้ำเชื้ออสุจิของสามีมาผสมให้กับหญิงสาวที่ได้รับอาสาเป็นแม่ขอยืม
ตั้งท้องให้พอคลอดลูกแล้วนำลูกมาให้สามีภรรยาคู่นั้น
-
ต่อไปคงมีมดลูกเทียมเกิดขึ้นนอกร่างกาย
แพทย์เอาไข่ผสมแล้วให้มดลูกเทียมตั้งท้องได้ทางจริยศสตร์จะเกิดอะไรขึ้น
6. การระบาดของโรคเอดส์ทำให้เกิดปัญหาทางจริยศาสตร์ เช่น
- ควรจะมีการตรวจเลือดหาโรคเอดส์ก่อนแต่งงานทุกคู่หรือไม่
เหมือนอย่างที่ตรวจหา VDRL ทุกคู่
- การสุ่มตรวจหาโรคเอดส์
เพื่อประโยชน์ในการรู้จำนวนโรคเอดส์ควรทำหรือไม่
ถ้าทำก็รู้ได้เพียงจำนวนแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นพาหะโรคเอดส์
คนที่ได้รับการตรวจเลือดมีสิทธิ์ขอทราบผลหรือไม่
-
การตรวจเลือดสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มาหาแพทย์ด้วยเรื่องอื่นแต่เผอิญพบโรคเอดส์ในคนใดคนหนึ่ง
แพทย์หรือพยาบาลควรบอกความจริงแก่อีกคนหนึ่งหรือไม่
ผู้เขียนมีความห่วงใยมากถึงปัญหาทางคุณธรรม จริยธรรม
และจริยศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากเหลือเกิน
การเรียนการสอนในเรื่องนี้อาจจะตามไม่ทัน
บทความนี้ได้รวบรวมสิ่งที่ดีมาจากหนังสือและเอกสารหลายเล่ม
ผู้เขียนขอตั้งความหวังให้โรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาลได้หันมาสนใจการเรียนการสอนคุณธรรม
จริยธรรม และจริยศาสตร์ กันให้มากกว่านี้
ขอให้อาจารย์สังเกตและค้นคว้าหาวิธีที่ดีที่สุดมาช่วยอบรมสั่งสอน กล่อมเกลาลูกศิษย์
เพื่อวันหนึ่งในอนาคตแพทย์และพยาบาลที่เป็นลูกศิษย์ของเราจะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมเป็นที่เคารพยกย่องนับถือ
สมดังที่ครั้งหนึ่ง
ประชาชนเคยยกย่องให้ความเคารพนับถืออาชีพแพทย์ว่าเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ (noble
profession) และอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ ขาวสะอาด เปี่ยมไปด้วยความเมตตา
ปราณี