สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
กลไกของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิรูปวุฒิสภา
การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ
การปฏิรูประบบราชการ
ศาลปกครอง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ศาลปกครอง
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้มีศาลปกครอง
เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534
ก็มีบทบัญญัติในเรื่องศาลปกครองเช่นเดียวกัน
แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องศาลปกครองในระบบ ศาลคู่
ซึ่งเป็นระบบที่แยกคดีปกครองออกจากคดีแพ่ง และคดีอาญาทั่วไป
คดีปกครองมีศาลปกครองทำหน้าที่วินิจฉัย
คดีแพ่งและคดีอาญามีศาลยุติธรรมทำหน้าที่ชี้ขาด ศาลปกครองและศาลยุติธรรมต่างก็มีศาล
3 ชั้นเคียงคู่ขนานกันไป
รัฐธรรมนูญมาตรา 276
บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นคดีข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน
หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน
ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น
ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
การปฏิรูปกระบวนการทำงานของศาล
การนั่งพิจารณาคดี
มาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า
การนั่งพิจารณาคดีของศาลจะต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ
และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด
จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย
หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
เพิ่มความอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
มาตรา 249 วรรค 2 บัญญัติว่า
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับขั้น
นอกจากนี้ มาตรา 249 วรรค 5 ยังบัญญัติว่า การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการ
โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้นจะกระทำมิได้
เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น
เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา
การจ่าย การเรียกคืน และการโอนสำนวนคดี
มาตรา 249 วรรค 3 และ วรรค 4 บัญญัติให้
การจ่ายสำนวนคดีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติและการเรียนคืนสำนวนคดีจะกระทำมิได้
เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การให้ผู้พิพากษาที่ครบเกษียณอายุราชการสามารถดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันระบบศาลยุติธรรมของเรานั้น
เป็นระบบที่มีการเลื่อนตำแหน่งไปตามอายุราชการโดยระบบอาวุโส
ศาลชั้นต้นจึงแทบไม่มีผู้พิพากษาอาวุโสที่มีประสบการณ์นั่งพิจารณาพิพากษาคดีเลย
อันกระทบต่อคุณภาพของคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นอย่างมาก รัฐธรรมนูญมาตรา 334 (2)
ได้บัญญัติให้มีการตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมซึ่งจะมีอายุครบ
60 ปี บริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส
เพื่อนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น
ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์
จนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
และหากผู้พิพากษาอาวุโสใดผ่านการประเมินตามที่กฎหมายบัญญัติยังมีสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่
ก็ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นมีอายุครบ 70
ปีบริบูรณ์
การสร้างกลไกในการชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างศาลต่างๆ
เดิมเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เปลี่ยน แปลงหลักการดังกล่าว
โดยบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดหนึ่ง มาตรา 248 บัญญัติว่า
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร
หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง
ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น
และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกิน 4 คน ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นกรรมการ
3. องค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ
แนวความคิดที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการนั้น
กล่าวได้ว่าเป็นแนวความคิดที่ไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะมีอำนาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว แต่แยกใช้โดยองค์กรต่างๆ
ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น และในปัจจุบันรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติถึงองค์กรนิติบัญญัติ
องค์กรบริหาร และองค์กรตุลาการเท่านั้น
องค์กรหลายองค์กรได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
และมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก
จนน่าจะจัดองค์กรเหล่านี้ออกมาอีกกลุ่มต่างหาก
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีองค์กรที่ได้รับจัดตั้งขึ้นใหม่อยู่ 6
องค์กรด้วยกัน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ที่สำคัญ 2 ประการ (มาตรา 89) คือ
- ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม
- ให้ความเห็นต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอีก 4 คน
ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(มาตรา 136)
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายตามมาครา 144 วรรค 2
- มีตำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย ตามมาตรา 144 วรรค 2
- สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ตามมาตรา 144 วรรค 2
- สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรืออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเยงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
- ประกาศผลการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ
- ดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด
หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนให้ศาล พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่การสืบสวน สอบสวน หรือวินิจฉัยชี้ขาด
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล
หรือผู้แทนองค์กรเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย (มาตรา 145)