สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาธิปไตยกับการเมืองไทย

เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
กลไกของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิรูปวุฒิสภา
การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ
การปฏิรูประบบราชการ
ศาลปกครอง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

การปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎร

มีการเปลี่ยนแปลงหลายประเด็นทั้งในเรื่ององค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ ได้แก่

  1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนทั้งสิ้น 500 คน แยกเป็น2 ประเภท คือ ประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน (มาตรา 98)
  2. ระบบการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงใหม่จากระบบที่ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 ถึง 3 คน มาเป็นระบบการเลือกตั้งแบบผสมระหว่างเขตละ 1 คน และระบบบัญชีซึ่งพรรคการเมืองเสนอ ซึ่งได้แบบมาจากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน (มาตรา 99 และมาตรา 102)

    การมี ส.ส. เขตละ 1 คน นอกจากจะทำให้เกิดความเสมอภาคในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นการทำให้คนดีมีความสามารถ สามารถต่อสู้กับผู้ที่ใช้เงินได้เพราะเขตเลือกตั้งไม่ใหม่นัก

    การมี ส.ส. จากบัญชีรายชื่อก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ทำให้คนดีมีความสามารถและไม่ต้องการใช้เงินในการเลือกตั้ง สามารถเข้าทำงานในสภาผู้แทนราษฎรได้

     
  3. กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ หากผู้ใดไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันควร จะเสียสิทธิหรือผลประโยชน์ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 68) ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิที่อยู่นอกภูมิลำเนาด้วย วิธีการนี้มีขึ้นเพื่อทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นไปได้ยากเพราะผู้ซื้อเสียงจะต้องซื้อเสียงเป็นจำนวนมากและไม่แน่ว่าจะได้รับการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องต่อไปนี้

    (1) จัดที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ
    (2) พิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
    (3) จัดหาสถานที่หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
    (4) จัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้แก่พรรคการเมือง
  4. กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทยและนักการเมือง (มาตรา 136-148)
  5. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ การตรากฎหมาย (มาตรา 172-174) ซึ่งแยกเป็นกฎหมายธรรมดาและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 172) การอนุมัติงบประมาณ (มาตรา 179-180) และยกเลิกงบ ส.ส. (มาตรา 180 วรรค 6) ทั้งนี้เพราะสภาผู้แทนราษฎรหรือกรรมาธิการจะแปรญัตติหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำไม่ได้ และการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การตั้งกระทู้ธรรมดา (มาตรา 183) และการตั้งกระทู้สด (มาตรา 184) ยกเลิกการให้เปิดอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ แต่ให้มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแทน (มาตรา 185) การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล (มาตรา 186) การตั้งกรรมาธิการสามัญและวิสามัญเพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 189) และในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติใดมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก สตรี และคนชรา หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด (มาตรา 190)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย