สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
กลไกของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิรูปวุฒิสภา
การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ
การปฏิรูประบบราชการ
ศาลปกครอง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
กลไกของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2540
มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ การปฏิรูป อยู่หลายประการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า
เพื่อให้บรรลุถึงการปฏิรูปทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อกลไกของรัฐ
ซึ่งในกรณีนี้อาจแยกพิจารณาได้เป็นสี่กรณีด้วยกัน คือ กลไกของรัฐในทางนิติบัญญัติ
กลไกของรัฐทางบริหาร กลไกของรัฐในทางตุลาการ และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ
กลไกของรัฐในทางนิติบัญญัติ
กลไกของรัฐในทางนิติบัญญัติได้รับการเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ
คือ การปฏิรูประบบผู้แทนและการปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ
การปฏิรูประบบผู้แทน
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ยังคนยืนอยู่บนหลักการของการปกครองแบบรัฐสภา
ที่ฝ่ายสภาและฝ่ายบริหารมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวโดยเฉพาะฝ่ายสภานั้น
แม้จะมีการอภิปรายถกเถียงกันเป็นอย่างมากในหมู่ สสร.
ว่าควรจะเป็นแบบสภาเดียวหรือสองสภา
แต่ในท้ายที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีวุฒิสภาในฐานะที่เป็นองค์กรกลั่นกรองกฎหมายและองค์กรตรวจสอบ
ก่อนที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบ ที่มา
และอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
ควรจะได้กล่าวถึงพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรภาคมหาชนองค์กรหนึ่งที่จะมีผลต่อการปฏิรูประบบผู้แทนอย่างแท้จริง
การปฏิรูปพรรคการเมือง
มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอยู่หลายประเด็น ทั้งในเรื่องการจัดตั้ง
การทำให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย การเสริมสร้างระบบพรรคการเมือง
การให้เงินอุดหนุนแก่พรรคการเมือง และควบคุมตรวจสอบพรรคการเมืองได้แก่
- การให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายโดยบุคคลอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เพียง 15
คนขึ้นไป และยกเลิกการจดทะเบียนพรรคการเมือง
แต่เปลี่ยนเป็นการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองแทน (มาตรา 328 อนุ 1)
อย่างไรก็ตาม ภายใน 180 วัน
นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง
พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป
ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนดและมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ
1 สาขา (มาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541)
- การจัดองค์กรภายใน
การดำเนินกิจการและข้อบังคับของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(มาตรา 47 วรรค 2)
- การเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4
ของจำนวนสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กรรมการบริหารของพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 50
คน (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 28)
ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น
จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้
หรือขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไปหรือไม่
(มาตรา 47 วรรค 3 และ 4
- การบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองและหาก ส.ส.
พรรคใดขาดสมาชิกภาพพรรคเมื่อใดก็ต้องขาดจาก ส.ส. ไปด้วยเช่นกัน
เหตุผลก็เพื่อรักษาเสถียรภาพและส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบผู้แทนไว้ (มาตรา 117
อนุ 8)
- การให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ลงสมัครไม่น้อยกว่า 90 วัน (มาตรา 107 อนุ 4)
ซึ่งจะมีผลทำให้อนาคตจะมีการย้ายพรรคได้ยากขึ้นหรือแทบเป็นไปไม่ได้
- การให้มีการสนับสนุนทางการเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่พรรคการเมืองโดยรัฐ
(มาตรา 328 อนุ 5) โดยในการจัดสรรเงินสนับสนุนจะต้องจัดสรรเป็นรายปี
และให้คำนึงถึงจำนวนสมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง
จำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด
จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองและจำนวนสาขาพรรคการเมืองตามลำดับ (มาตรา 58
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541)
- การสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสาขาพรรคโดยรัฐ (มาตรา 328 อนุ 4)
-
การจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งและการควบคุมการรับบริจาคเงินของพรรคการเมือง
(มาตรา 328 อนุ 5)
- การตรวจสอบสถานะทางการเงินของพรรคการเมือง
รวมทั้งการตรวจสอบและการเปิดเผยที่มาของรายได้และการใช้จ่ายของพรรคการเมือง
(มาตรา 328 อนุ 6)
- การจัดทำบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายของพรรคการเมือง และบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคการเมือง ซึ่งต้องแสดงโดยเปิดเผยซึ่งที่มาของรายได้และการใช้จ่ายประจำปีของพรรคการเมืองในทุกรอบปีปฏิทิน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและประกาศให้สาธารณชนทราบ (มาตรา 328 อนุ 7)