วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
นวนิยาย
นวนิยาย มาจากภาษาอังกฤษว่า
Novel และ Novella ในภาษาอิตาเลียน
คำนี้ใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเรียกนวนิยายอย่างใหม่ของบอกาจิโอ (Boccaio)
ที่แต่งเรื่อง เดคาเมรอน (Decameroa) ซึ่งแต่งขึ้นราว ค.ศ. 1338-1340
การที่เรื่องเดคาเมรอน
ได้รับการกล่าวขวัญจากคนสมัยนั้นว่าเป็นนิยายแบบใหม่หรือนวนิยายนั้น
เป็นเพราะบอกาจิโอ เริ่มใช้กลวิธีการเขียนตามแบบ นวนิยายในสมัยปัจจุบันกล่าวคือ
เขียนเล่าเป็นเรื่องสั้น ๆ เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสมจริง
แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวในวรรณกรรมนั้นเป็นเรื่องสมมุติไม่ใช่เรื่องจริง
นอกจากนี้ก็มีวิธีการเสนอเรื่องให้ยอกย้อนชวนติดตาม และมีแนวคิดกว้างขวาง
มีลักษณะต่างไปจากการเขียนนิทานนิยายแต่เดิมที่มักสร้างเรื่องจากจินตนาการ
และอุดมคติของผู้เขียน
ความสำคัญของนวนิยาย
ตั้งแต่ไทยรับวรรณกรรมรูปแบบใหม่อันได้แก่เรื่องสั้น
และนวนิยายจากตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
นวนิยายและเรื่องสั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย อีกทั้งมีบทบาทสำคัญ ต่อสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายนั้นสามารถมีบทบาทเป็นสื่อสะท้อนความคิดของสังคมได้
เพราะนวนิยายนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังมีสาระที่สัมพันธ์กับสังคมอีกด้วย
และในนวนิยายแนวสะท้อนสังคมจึงน่าสนใจศึกษาเพราะผู้ประพันธ์ได้นำเรื่องใกล้ตัวของคนในสังคมมานำเสนอ
ซึ่งถือเป็นสาระที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของนวนิยาย
ประเภทของนวนิยาย
- คลาสสิกหมายถึง เรื่องที่เขียนตามแนวคิดแบบเดิม
โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประวัติศาสตร์ หรือวรรณคดีของชาติต่าง ๆ เช่น กรีก
โรมัน จีน อินเดีย นวนิยายของไทยที่เขียนตามแนวคลาสสิค
มักจะเป็นเรื่องสมมุติไม่เสมือนชีวิตจริง
- โรแมนติก หมายถึง เรื่องที่มุ่งให้ความสำคัญของอารมณ์ (emotion) ความรู้สึก
(sentiment) และญาณสังหรณ์ (intuition) มากกว่าคุณค่าทางปัญญา
บางครั้งก็เรียกว่า "นวนิยายพาฝัน" เนื้อหามักเกี่ยวกับ รัก โลภ โกรธ หลง
และความอิจฉาริษยาของมนุษย์
นวนิยายแนวนี้จึงได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย
- สัจนิยมหรือ อัตถนิยม หมายถึง เรื่องที่เลียนแบบเหตุการณ์ จริง ๆ ในสังคมแล้วสอดแทรกจินตนาการของผู้เขียนลงไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตีแผ่แง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา โดยกล่าวถึงคนในลักษณะต่าง ๆ ในวงการอาชีพต่าง ๆ และคนในฐานะต่าง ๆ อย่างสมจริง เพื่อแสดงให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตในสังคม
- ธรรมชาตินิยม หมายถึง
เรื่องที่มุ่งแสดงความสำคัญของธรรมชาติว่ามีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์
เรืองประเภทนี้จึงเสนอแนวคิดที่สมจริงเช่นเดียวกับเรื่องประเภทสัจนิยม
ต่างกันตรงที่ประเภทธรรมชาตินิยมมีแนวโน้มที่จะกล่าวถึงธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติฝ่ายสูงของมนุษย์
- เหนือธรรมชาติ เรื่องที่แสดงความคิดเห็นของผู้แต่งในลักษณะฝันเฟื่อง โลดโผน
หรือเกี่ยวกับภูตฝีปีศาจ ผีดิบคืนชีพ วิญญาณพยาบาท เวทมนตร์คาถา
สิ่งลึกลับมหัศจรรย์
- สัจนิยมใหม่ เรื่องที่สะท้อนสภาพชีวิตในสังคมที่แท้จริง
มีรายละเอียดสอดคล้องกับเป้าหมายของการดำรงชีวิต
พร้อมทั้งสอดแทรกแนวคิดในการพัฒนาสังคมอย่างมีอุดมการณ์
แนวคิดนี้พัฒนามาจากแนวคิดสัจนิยม
- สัญลักษณ์นิยม เรื่องที่มีกลวิธีการเขียนในลักษณะเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นรูปธรรม แทนนามธรรม ไม่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะตรงไปตรงมา กลับใช้สัญลักษณ์แทนบางสิ่ง
องค์ประกอบของนวนิยาย
- โครงตัวละคร เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง
ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นเหตุผลต่อกัน
โดยมีความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการต่อสู้ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างน่าสนใจและติดตาม
โครงเรื่องของนวนิยายมี 2 ชนิด คือ โครงเรื่องใหญ่ และโครงเรื่องย่อย
- บทสนทนา หมายถึง การสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละครในนวนิยาย
เป็นส่วนที่ทำให้นวนิยายมีลักษณะคล้ายความจริงมากที่สุด
- ฉาก เวลาและสถานที่รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
ที่ช่วยบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อใดที่ไหน
ที่นั้นมีลักษณะอย่างไร นวนิยายโดยทั่วไปจะสร้างฉากให้เป็นส่วนประกอบของเรื่อง
- ความคิดเห็นของผู้แต่ง แต่ง หมายถึง ความคิดเห็น ทัศนะ หรือปรัชญา
ของผู้เขียน ซึ่งสอดแทรกอยู่ในพฤติกรรมของตัวละคร หรือ คำพูดของตัวละคร
- ทำนองแต่ง หมายถึง แบบแผนและลักษณะท่วงทำนองในการแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้ประพันธ์